เมืองไทย 360 องศา
สังเกตหรือไม่ว่าในช่วงนี้บรรดา “ขาใหญ่” ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่างมีอาการ “ห้าวเป้ง” กันเป็นพิเศษ จนเรียกได้ว่า ผิดสังเกตกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะอาการประเภทที่ “ปากว่ามือถึง” ไม่ใช่ฮึ่มอย่างเดียว เป้าหมายก็พุ่งตรงไปที่ “เครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร” โดยตรง และคราวนี้ก็เชิญไปเข้าค่ายอบรมกันแบบเรียงแถวติดๆ กันสองรายเข้าไปแล้ว รายแรกเมื่อสองสามวันก่อน คือ วรชัย เหมะ และตามมาด้วย วัฒนา เมืองสุข โทษฐานวิจารณ์ผู้นำ คสช. และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ
เพราะไม่ทันสิ้นเสียงวิจารณ์ดีนัก ก็มีทหารไปเชิญตัว วรชัย เหมะ มาเข้าค่ายอบรม ตามมาด้วย วัฒนา เมืองสุข ดังกล่าว ท่ามกลางการประสานเสียงเรียกร้องจากเครือข่ายเดียวกัน ทั้งจากพรรคเพื่อไทย และพวกแกนนำคนเสื้อแดง ให้ปล่อยตัวโดยทันที และไม่มีเงื่อนไข แต่ก็มีเสียงตอบโต้กลับไปทันควันจาก “บิ๊ก ๆ คสช.” ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จัดเต็มกลับไปว่าหากยังไม่หยุดปากดีจะจับขังคุก 3 วัน 7 วัน ตามมาด้วย “พี่ใหญ่” ที่ระยะหลัง “โชว์เพาฯ” ให้เห็นบ่อยขึ้น ล่าสุดก็แรงเข้มทำนองว่า “รู้มั้ยยุคนี้ใครใหญ่” รวมไปถึง พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เข้มข้นไม่แพ้กัน
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากทั้งคำพูดและการกระทำของบรรดาบิ๊ก คสช. ที่ถือว่าควบคุมอำนาจในประเทศนี้อย่างเบ็ดเสร็จต่อฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในที่นี้ย่อมหมายถึงเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร ทั้งในรูปแบบของบุคคลในพรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดงที่ใช้ความเด็ดขาดมากเป็นพิเศษ ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันในอีกมุมหนึ่งในช่วงเวลาแบบนี้ก็อาจเข้าใจได้ว่าจำเป็นต้องเข้ม
เพราะในช่วงเวลานับจากนี้ไป ถือว่าเป็นช่วงที่ถือว่า “เข้าด้ายเข้าเข็ม” เริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้นทุกขณะ ชี้อนาคตของทั้งสองฝ่าย นั่นคือทั้งฝ่าย “อำนาจรัฐ” คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กับอีกฝ่ายคือ “อำนาจเก่า” ซึ่งสูญเสียอำนาจไปตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา และที่บอกว่าเป็นช่วงเข้าด้ายเข้าเข็มก็เป็นเพราะเป็นช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว กำลังไปสู่ขั้นตอนการลงประชามติที่กำหนดเอาไว้ตามโรดแมป คือ วันที่ 7 สิงหาคม 59 และมีการเลือกตั้งภายในปี 60 ต่อไป
แต่ในความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ เนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างฯนำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ แม้ว่าจะย้ำว่า เป็น “ยาแรง” สำหรับการ “ต่อต้านการทุจริต” ควบคุมนักการเมืองขี้โกงกันแบบเข้มงวดที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าด้วยเนื้อหาการกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวมันดันไปขยี้กล่องดวงใจของ ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่าย เครือญาติเข้าอย่างจัง นั่นคือ พวกเขาจะถูกห้ามเข้าสนามการเมืองตลอดชีวิต รวมไปถึงหนทางข้างหน้าก็มีแนวโน้มตีบตันในการเข้าสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง เอาเป็นว่าหนักหนาสาหัสกว่าเดิมก็แล้วกัน
ดังนั้น มันก็ช่วยไม่ได้ที่จะต้องดิ้นรนทุกทาง เพื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งก็มีหลายรูปแบบ ทั้งการให้ความเห็นสร้างกระแสนำร่องไปก่อนจนถึงการรณรงค์ให้คว่ำร่างในตอนลงประชามติ แต่ก็อย่างว่าแหละสำหรับ คสช. ที่คุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จมีหรือจะปล่อยเอาไว้ ต้องชิงจัดการเสียก่อน อย่างน้อยก็ต้อง “เชือดโชว์” เพื่อเบรกเกมฝ่ายตรงข้ามเอาไว้ก่อน ซึ่งนาทีนี้ก็ยังถือว่าได้ผล สามารถหยุดกระแสต่อต้านได้ดี สาเหตุอาจเป็นเพราะ “กระแสยังไม่มา” ชาวบ้านยังรู้สึกรังเกียจพวกนักการเมือง โดยเฉพาะชาวบ้านในระดับสังคมเมือง พวกชนชั้นกลางที่เสียงดัง ไม่เอาด้วยกับพวกนักการเมืองและระดับ “ลิ่วล้อ” พวกนี้
แม้ว่าหากให้ประเมินสถานการณ์ในวันข้างหน้า ยังเชื่อว่า บรรยากาศจะเข้มข้นมากกว่าเดิม จะเขย่ากันหนักกว่าเดิม แต่เชื่อว่าทางฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยิ่งคุมเข้มกว่าเดิม โดยเฉพาะการล็อกเป้าแบบไม่ให้ขยับ เหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นกับบางคนในเวลานี้ และเชื่อว่า ทำให้อีกหลายคนต้องคิดหนักเหมือนกัน แต่หากให้พิจารณาในภาพรวมก็ยังน่าจะ “เอาอยู่” ตราบใดที่ยังไม่พลาดท่าแบบสะดุดหัวแม่เท้าตัวเองเสียก่อน เช่น มีเรื่องอื้อฉาวเรื่องทุจริตคอร์รัปชันออกมาให้เห็นแบบจะจะ แต่เท่าที่มองดูยังไม่ถึงขั้นนั้น
นั่นเป็นปัจจัยภายในประเทศที่ยังเชื่อว่าพวกเขา คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังควบคุมได้
ขณะที่ปัจจัยจากภายนอกที่ถือว่าสร้างแรงกดดันได้ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะแรงกดดันที่มาจากฝ่ายตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา มีการหยิบยกเอาเรื่องการเลือกตั้ง เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีความยืดหยุ่นรู้จักผ่อนแรงลงไปได้มาก ที่สำคัญที่สุด ก็คือ สามารถรับประกันไม่แตะต้องผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติ จนบางครั้งถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้มากกว่าเดิมเสียอีก ทำให้เป็นที่สังเกตกันว่าระยะหลังแรงกดดันที่กลุ่มประเทศเหล่านี้เคยมีมา เช่น สหรัฐฯลดลงอย่างเห็นได้ชัด และที่น่าสังเกตจนเป็นเรื่องบังเอิญว่าไทยกำลัง “ปรับสมดุลใหม่” ระหว่างตะวันออกกับตะวันตก โดยล่าสุดจากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศระงับความร่วมมือโครงการรถไฟ ไทย-จีน มาเป็นไทยลงทุนทั้งหมดที่เริ่มต้นเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หลังจากที่มีการเจรจากันมาถึง 9 ครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้จีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุน การให้จีนลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การขอใช้ประโยชน์พื้นที่สองข้างทางรถไฟ เป็นต้น
สอดคล้องบรรยากาศความสัมพันธ์ ไทย-จีนที่ระยะหลังหากสังเกตให้ดีจะดูจืดชืด ไม่ค่อยหวานแหววเหมือนเมื่อก่อน ทั้งในเรื่องการซื้อสินค้าเกษตรที่ระยะหลังที่ดูเงียบเชียบกว่าเดิม
แต่ที่น่าจับตาก็คือ วาระการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอีกรอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 31 มีนาคมถึงวันที่ 1 เมษายน เพื่อร่วมประชุมผู้นำว่าด้วยความมั่นคงนิวเคลียร์ 52 ประเทศ 4 องค์การ น่าสนใจก็คือคราวนี้เป็นการเชิญโดยตรงเสียด้วย
โดยมีการนำร่องมาเยือนไทยของ ปลัดกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซาราห์ ซีวอล นำหนังสือเชิญจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา มาส่งถึงมือโดยตรง ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าในช่วงที่ผ่านมา แทบจะไม่มีเสียงโจมตีกดดันออกมาจากทางฝ่ายสหรัฐออกมาให้เห็นเลย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น เมื่อสรุปสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ถือว่าเป็นใจและมีแนวโน้มเป็นบวกกับรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นอย่างยิ่ง และนาทีนี้หากกล่าวว่าพวกเขาสามารถคุมเกมทั้งภายในและภายนอกได้อยู่หมัด ที่สำคัญให้จับตาท่าทีแข็งกร้าวว่าจะเข้มข้นกว่าเดิมหรือไม่!!