xs
xsm
sm
md
lg

“ลุงตู่” อย่ามัวแต่ทำหัวเสียต้องเร่งแจงปมป่วน-หมกเม็ดยื้อโรดแมป!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

นาทีนี้หากสังเกตบรรยากาศก็ต้องบอกว่าเริ่มเข้มข้นตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ หลังจากร่าง

รัฐธรรมนูญร่างแรกเปิดเผยโฉมออกมาให้เห็นอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา และแน่นอนว่าเมื่อพิจารณากันตามรูปการณ์แล้วงานนี้ถือว่า “เขี้ยวชนเขี้ยว” กันแบบเต็มๆ และอาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ได้ว่า ฝ่ายอำนาจรัฐหรือหากเรียกกันแบบดิบๆ ตามความหมายที่เห็นก็ต้องเรียกว่า “ฝ่ายเผด็จการ” นั่นแหละ แต่ก็แปลกกลายเป็นว่า ณ สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เพลี่ยงพล้ำทางการเมืองมากมายนัก อย่างมากก็แค่เริ่มโดนวิจารณ์หนักขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้นเอง

ตรงกันข้ามหากพิจารณาไปทางฟากฝ่ายการเมืองกลับปรากฏว่า “ยังไม่ฟื้น” ขึ้นมาเลย มิหนำซ้ำอาการยังหนักกว่าเดิมเสียอีก นั่นคือเข้าสู่ “ภาวะตกต่ำ” กันถึงขีดสุดเลยทีเดียว เครดิตในทางสังคมถูกมองอย่างเหยียดหยามแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อาจเป็นเพราะโลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีการสื่อสาร ที่เรียกว่า “โลกโซเชียลมีเดีย” พัฒนาแบบก้าวกระโดด ทำให้ทุกอย่างฉับไว ชาวบ้านรู้ทันมากขึ้น รับรู้ความจริงมากขึ้น

หากย้อนกลับไปในอดีตหากอยู่ในบรรยากาศเผด็จการแบบนี้ อยู่ภายใต้รัฐบาลทหารแบบนี้ รับรองว่าเมื่อเวลาผ่านไปนานนับปี และเป็นช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีประเด็นอ่อนไหวออกมาให้เห็น เช่น เรื่อง “นายกฯ คนนอก” หรือมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง รวมทั้งการยื้อเวลาอยู่ในอำนาจของฝ่ายรัฐ ซึ่งเวลานี้ก็คือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลทหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับรองว่าอาจจะโดนกระแสต่อต้านหนักหน่วงกันแล้ว ดังที่เคยเห็นในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ปี 34-35

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการ “สรุปบทเรียน” ในอดีตมาปรับใช้ ตั้งแต่ตัวผู้นำในเวลานี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต่างกับผู้นำกองทัพในยุคนั้น การพูดจาติดต่อสื่อสารกับสังคมภายนอกมันเหมือนหนังคนละม้วน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถสร้างความไว้วางใจจากสังคมได้ดีกว่า แม้ว่าในระยะหลังหากพิจารณากันแบบตรงไปตรงมาก็ต้องยอมรับว่า “กระแสเริ่มตก” ลงมา แต่ก็ยังไม่ถือว่าอยู่ในขั้นเลวร้าย ถือว่ายังอยู่ในระดับใช้ได้ ความศรัทธายังสูงยังค้ำเอาไว้ได้ แม้ว่าเวลากำลังเข้าสู่ช่วงปีที่ 3 แล้ว

ประกอบกับอย่างที่บอกเอาไว้ในตอนต้นด้วยกระแสโลกโซเชียลฯ ที่แรง มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ทำให้ “สื่อหลัก” กำลังลดความสำคัญลงเรื่อยๆ เพราะชาวบ้านเขาสามารถเป็นสื่อด้วยตัวเอง ขณะที่สื่อต่างหากที่ต้องพึ่งพา

อย่างไรก็ดีแม้ว่านาทีนี้ฝ่าย “อำนาจใหม่” หรือที่เรียกว่าฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังไม่เพลี่ยงพล้ำ ยังประคองตัวไปได้ แต่ด้วยสถานการณ์นับจากนี้ไปเชื่อว่าเป็นช่วงอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผลที่จะออกมาถือว่ามี “เดิมพันสูง” เพราะใครพลาดก็ย่อมหมายความว่าอาจ “คุกยาว-สูญเสียอำนาจถาวร” กันเลยทีเดียว

วันนี้หากพิจารณากันแบบ “แยกส่วน” แยกฝ่ายกันแบบเฉพาะเจาะจง ไม่เน้นย้ำในภาพรวมๆ ก็ต้องบอกว่าเป็นการพันตูกันระหว่างฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับฝ่ายของ ทักษิณ ชินวัตร ส่วนฝ่ายอื่นนาทีนี้ยังไม่มีจำเป็นต้องแสดงบทบาท ดังนั้นจึงมีเพียงคู่ดังกล่าวเท่านั้นที่จะต้อง “หักดิบ” กันในเส้นทางอำนาจรวมทั้งผลประโยชน์อื่นที่จะตามา

ในช่วงแรกๆ อาจจะยังไม่มั่นใจนักว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องมาอยู่ในบรรยากาศตึงเครียดแบบนี้ แต่เป็นเพราะหนทางข้างหน้ามันแคบขึ้นเรื่อยๆ มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจัดการกับอีกฝ่ายให้พ้นทาง เพื่อ “ประกันความเสี่ยง” ในวันข้างหน้า หากพูดกันแบบตรงไปตรงมาจุดสำคัญที่สุดที่นำไปสู่การชี้ขาดในอนาคตก็คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อำนวยการร่างโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ถือว่าเป็น “นักเขียนมืออาชีพ” คลอดออกมาเป็นร่างแรกแล้ว และเมื่อเปิดแบออกมาเท่านั้นแหละฝ่ายนักการเมืองต้องร้องจ๊ากกันเลยทีเดียว แต่ถ้าพูดให้ตรงจุดต้องบอกว่านักการเมืองฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร เป็นหลักที่กระอีกที่สุด เพราะแม้ว่าในเนื้อหารัฐธรรมนูญจะไม่ได้ระบุชื่อเอาไว้ตรงๆ แต่ข้อห้ามและคุณสมบัติที่ตรวจสอบกีดกันเข้มงวดบทลงโทษที่รุนแรง มันกระทบไปที่คนพวกนี้แทบทั้งสิ้น

ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่ฝ่ายทักษิณ ชินวัตร ในนามของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งที่แอบแฝงมาในรู้แบบมวลชน นปช.กำลังเคลื่อนไหวต่อต้านกันเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดพวกแกนนำ นปช.หรือคนเสื้อแดง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, จตุพร พรหมพันธุ์ ได้นัดหมายสื่อแถลงจุดยืนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ความหมายก็คือต้องการสร้างกระแสว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญเป็นเผด็จการ ไม่ยึดโยงกับประชาชน รวมไปถึงโจมตีว่า คสช.มีเจตนายื้ออำนาจหรือสืบทอดอำนาจออกไปให้นานที่สุด

แน่นอนว่าหากพิจารณาจากบรรยากาศที่ชาวบ้านยัง “ไม่อิน” กับพวกนักการเมืองเท่าไหร่นัก กระแสแบบนั้นยังไม่มา อาจเป็นเพราะยังเป็นช่วงเริ่มต้น ยังไม่สนุก โดยสะท้อนจากโพลที่ออกมาตรงกันว่าชาวบ้านกำลัง “รอกระแส” ว่าจะ “รับหรือไม่รับ” แต่แนวโน้มที่เปิดหัวออกมาก่อนจะออกมาทางรับมากกว่า เพราะโดนใจกับคำว่า “ปราบโกง” อย่างไรก็ดีจะชะล่าใจไม่ได้ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.อย่ามัว “เล่นบทโมโห” ทะเลาะกับสื่อโชว์ทางทีวีรายวัน เพราะข้อกล่าวหาจากฝ่ายพรรคเพื่อไทยบางเรื่องมันก็น่าสงสัยเหมือนกัน ดังนั้นต้องรีบตั้งทีมชี้แจงทำความเข้าใจกันแบบทันควัน เพราะถือว่าเป็น “ปมร้อน” แทบทั้งสิ้น

โดยเฉพาะในเรื่องประเด็น “หมกเม็ด” ซ่อนอำนาจเอาไว้ในบทเฉพาะกาล การยื้ออำนาจออกไปจากกลางปี 60 มาเป็นปลายปี 60 มันต้องรีบอธิบายให้เคลียร์ แม้ว่าจะยืนยันหนักแน่นว่าต้องเลือกตั้งภายในปี 60 แต่ในอนาคตก็อาจอ้างความจำเป็นอีกสารพัดทำให้ต้องเลื่อนอีก หากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในชั้นประชามติ ส่วนจะเป็นการจงใจร่าง “ให้คว่ำ” หรือเปล่า นั่นมันอีกเรื่องหนึ่ง เพราะมันก็สงสัยกันได้ หากแจงไม่เคลียร์!
กำลังโหลดความคิดเห็น