xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติ รธน.ไม่ผ่าน “ประยุทธ์” รับผิดชอบแบบไหน เจตนาป่วน-ยื้อ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

ปลายเดือนมกราคม 2559 ตามกำหนดโรดแมปใหม่หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดย “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำลงเมื่อหลายเดือนก่อน ลักษณะเหมือนกับเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า แต่ในสถานการณ์ความเป็นจริงก็คือมีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ คราวนี้เปลี่ยนหน้าใหม่เป็น มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการยกร่างฯ มาพร้อมด้วยสูตร 6-4, 6-4 ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปจากเดิมที่กำหนดเอาไว้ในปลายปี 59 ก็ต้องเลื่อนออกไปเป็นราวเดือนมิถุนายนปี 60 นั่นคือหลังจากคว่ำฉบับ บวรศักดิ์ ลงไปแล้วก็ทำให้การเลือกตั้งต้องเลือกออกไปอีก 20 เดือนตาม “โรดแมปใหม่” ดังกล่าว

แน่นอนว่าในการล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้มันก็มีเหตุผลที่พออธิบายได้ในเรื่องประเด็นอ่อนไหวที่มีการบรรจุเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องกำหนดให้มี “คณะกรรมการยุทธศาสตร์และการปรองดองแห่งชาติ (คปป.)” ที่ว่ากันว่า “มีอำนาจเหลือล้น” จนมีคนเปรียบเปรยว่าไม่ต่างจาก “คณะปูลิตบูโร” คอยกำกับดูแลอยู่เหนืออำนาจบริหาร มีเจตนาสร้าง “อำนาจซ้อนอำนาจ” แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆแค่ 5 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นการ “ควบคุมเบ็ดเสร็จ” โดย คปป.ที่กำหนดเอาไว้แล้ว แม้จะอ้างว่ามีไว้เพื่อป้องกันทางตันผ่าความขัดแย้งแบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอ่อนไหวที่ถูกพูดถึงมากเช่นเดียวกันก็คือ เรื่องการเปิดทางให้มี “นายกฯ คนนอก” และอีกหลายเรื่องที่ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่พอใจและสร้างกระแสคัดค้าน และในที่สุดเมื่อหลายเรื่องประดังเข้ามาจนในที่สุดก็นำไปสู่การโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติในที่สุด แต่คำถามที่ตามมาก็คือเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ลงไปแล้ว ประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ต้องตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ ชุดใหม่ก็คือชุดปัจจุบันที่นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่กำลังเดินหน้าไปใกล้จะเสร็จจนจะต้องได้ร่างแรกในวันที่ 29 มกราคมปี 2559

แต่อีกมุมหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันก็คือ ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนมิถุนายน 2560 อย่างไรก็ดี หากมองในความเป็นจริงในเวลานั้นก็คือชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยสนใจในเรื่องประเด็นอ่อนไหวในร่างรัฐธรรมนูญฉบับเก่าเท่าใดนัก เพราะในเวลานั้นพวกเขายังต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีไปอีกพักหนึ่งก่อน ที่สำคัญในเวลานั้นความศรัทธาของมหาชนยังมีอยู่เต็มเปี่ยม ดังนั้นในเวลานั้นแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกถูกคว่ำลงไปทำให้หลายสิ่งหลายอย่างต้องเสียเวลา ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ เสียงบประมาณมากมายโดยเปล่าประโยชน์

ในตอนนั้นแม้ว่าจะมองกันว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำลงไปก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องลากยาวออกไปได้อีก แต่ก็อย่างที่ระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้ก็คือในช่วงนั้นชาวบ้านยังหนุนรัฐบาลด้วยเสียงท่วมท้นจึงไม่มีปัญหา มีแต่คนหรี่ตาให้ ไม่ค่อยมีเสียงวิจารณ์ให้เสียอารมณ์กันมากนัก

แต่คราวนี้สถานการณ์อาจพลิกผันไปกว่าเดิม อย่างน้อยเมื่อเวลาผ่านไปเสียงวิจารณ์ในทางลบต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในเรื่องผลงาน รวมๆ บางเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง การแก้ปัญหาสินค้าการเกษตรที่ยังไม่น่าประทับใจ ขณะเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เริ่มมีเสียงวิจารณ์ถึงเส้นทางปฏิรูปตามที่รับปากและตามความต้องการของชาวบ้าน ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือ “การปฏิรูปตำรวจ” ที่ไม่มีความคืบหน้า ในทางตรงกันข้ามกลับมีการยืนยันออกมาแล้วว่าจะส่งต่อให้รัฐบาลหน้าดำเนินการต่อ นั่นก็หมายความว่าในเชิงโครงสร้างได้หยุดนิ่งไปแล้ว

เพราะสิ่งที่เห็นก็คือมีการเปลี่ยนแปลงในระดับหัวเท่านั้น เช่นมีการเปลี่ยนแปลงระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ รวมไปถึงระดับตำแหน่งสำคัญอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง การเปลี่ยนแปลงก็มีลักษณะเพียงการเปลี่ยนเครือข่ายอำนาจเก่าจากเครือข่าย “ตำรวจมะเขือเทศ” ของ ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นเครือข่ายใกล้ชิดของ “สองพี่น้องวงษ์สุวรรณ” คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพราะมีเสียงยืนยันว่านี่คือการเริ่มต้นปฏิรูปตำรวจกันแล้ว

เมื่อวกกลับมาที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่กำลังถูกจับตามองกันว่าจะผ่านการลงประชามติในขั้นตอนสุดท้ายหรือเปล่า ถ้าไม่ผ่านอีกใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบบ้าง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ระบุว่าจะรับผิดชอบ เพียงแต่ไม่บอกว่าจะรับผิดชอบอย่างไร

อย่างไรก็ดี หากมองไปล่วงหน้าแน่นอนว่าต้องมีคนรับผิดชอบ เพราะต้องเสียเวลา เสียงบประมาณโดยใช่เหตุ ขณะเดียวกันเริ่มมีคำถามมากขึ้นในแง่มุมว่า “มีเจตนาร่างให้ป่วน” หรือไม่ เพื่อให้เกิดกระแสคัดค้านจนนำไปสู่กระบวนการคว่ำทั้งใน สปช. รวมไปถึงการคว่ำร่างในชั้นลงประชามติ และแน่นอนว่าอาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

ขณะเดียวกัน นี่คือการรักษาอำนาจของ “บางกลุ่ม” ภายใต้สถานการณ์ที่อ้างว่าไม่ปกติออกไปให้นานที่สุด ภายใต้การเปลี่ยนผ่านเครือข่ายอำนาจที่เปลี่ยนมือจากกลุ่มอำนาจเก่ามาสู่อำนาจใหม่ อย่างไรก็ดีในลักษณะแบบนี้อาจต้องมีความเสี่ยงยิ่งกว่าเดิม ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไปแล้วนั่นคือ “ความศรัทธา” เริ่มลดลงกว่าเดิม!!
กำลังโหลดความคิดเห็น