xs
xsm
sm
md
lg

รธน.ใหม่จัดหนักแบนโกงตลอดชีพ-นายกฯ คนนอก-คปป.อยู่ครบ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน


“เมื่อทุกพรรคมุ่งมั่นว่าต้องฟังเสียงประชาชน เราก็ต้องใช้เสียงประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ต้องลดการคิดถึงประโยชน์ของพรรค แล้วหันมานึกถึงประโยชน์ของประชาชนให้มากขึ้น เพราะเวลาที่ กรธ. คิดเราไม่ได้คิดถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคเลย ข้อมูล หรือข้อคิดเห็นของแต่ละพรรคการเมือง รวมทั้งนักวิชาการสามารถเสนอแนะมาได้ กรธ.ก็รับฟังและนำมาคิด ตรงไหนที่บอกว่าเป็นจุดอ่อนว่าประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม เราจะเอากลับมาคิด ตรงไหนที่ทำให้พรรคได้เปรียบเสียเปรียบเราจะไม่เอากลับมาคิค”

“ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองเรากำลังมีปัญหาในเรื่องของความไม่เข้าใจกัน ตัวอย่างในครอบครัวหนึ่งมีสมาชิก 10 คน โดยแต่ละวันมีกับข้าวได้เพียงอย่างเดียว แล้วให้ลงคะแนนกันว่าจะกินอะไร โดย 4 คนลงคะแนนว่ากินแกงเผ็ด 3 คนลงคะแนนว่ากินแกงจืด 2 คนลงคะแนนว่าจะกินผัดผัก 1 คนไม่ลงคะแนน ถ้าใช้หลักการนี้ทุกคนก็ต้องกินแกงเผ็ดไปทั้งอาทิตย์ ดังนั้น กรธ.จึงหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรใน 1 อาทิตย์จะมีแกงจืด 2 วัน ผัดผัก 1 วัน ที่เหลือจะกินแกงเผ็ดไปอีก 4 วัน ก็ไม่ว่ากัน แต่อย่างน้อยชีวิตในครอบครัวก็จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ขมขื่นจนเกินไป ไม่ต้องกินแกงเผ็ดไปทั้งอาทิตย์”

“กรธ.ไม่เคยคิดว่าระบบนี้จะทำให้ได้รัฐบาลอ่อนแอ เพราะต้องขึ้นอยู่กับประชนว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด ดังนั้น ไม่ต้องกังวลเพราะทุกพรรคก็จะปรับวิธีการของเขาได้ โดยต่อไปผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็ต้องลงไปหาเสียงด้วย เพราะพื้นที่นั้นต้องเป็นของเขาด้วย ซึ่งระบบนี้เป็นเรื่องของการกำหนดกติกาบ้านเมืองเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมที่สุด”

“ดังนั้น เป็นความเข้าใจผิดมากว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะทำให้พรรคนั้นพรรคนี้ชนะ นั่นเป็นความคิดที่ผิดอย่างมาก สำหรับตัวเลขระหว่าง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น กรธ. อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อหาตัวเลขที่เหมาะสม แต่จะพยายามให้ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาให้มากที่สุด ถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นเพราะไม่ต้องการให้ใครนำตัวเลขครั้งที่แล้วไปทำให้เกิดความตระหนกตกใจ ส่วนคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.นั้น เบื้องต้นมองว่า ไม่ว่าจะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใด คุณสมบัติก็จะต้องเข้มขึ้น”

คำพูดข้างต้นของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. กล่าวชี้แจงข้อท้วงติงของพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่คัดค้านวิธีการเลือกตั้งและวิธีนับคะแนนในแบบที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วน” โดยย้ำว่าจะพิจารณาเฉพาะความคิดเห็นและผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของพรรคการเมืองว่าพรรคใดจะได้เปรียบเสียเปรียบกัน

ก่อนหน้านี้ มีเสียงโวยวายออกมาแทบจะพร้อมกันจากสองพรรคใหญ่ทั้งจากพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์แม้ว่าในรายละเอียดของคำพูดอาจต่างกันบ้างแต่สาระสำคัญสรุป ก็คือ คัดค้านวิธีการนับคะแนนแบบนี้ โดยพรรคเพื่อไทยอ้างว่าการเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้มีเจตนาที่จะลดขนาดพรรคให้เล็กลง ทำให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อย และมีเป้าหมายให้เกิดรัฐบาลผสม ความหมายก็คือมีเจตนาขัดขวางพรรคเพื่อไทยไม่ให้ชนะเลือกตั้งมีเสียงเด็ดขาดนั่นแหละ

ขณะที่ฝ่ายประชาธิปัตย์ แม้ว่าไม่ได้ระบุชัดเจนแรงๆ นัก แต่ก็พูดรวมๆ ว่า เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน สรุปก็คือคัดค้านวิธีการนับคะแนนแบบ “จัดสรรปันส่วน” นั่นเอง

วิธีการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วน ที่กำลังพิจารณาบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้รับแรงผลักดันจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างฯโดยระบุว่านี่คือวิธีการแบบใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ที่ใดในโลก แต่เป็นวิธีการเลือกตั้งที่ให้ความสำคัญกับทุกคะแนนเสียง โดยวิธีการก็คือ ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวโดยในแต่ละเขตเลือกตั้งใครที่ได้คะแนนสูงสุดก็จะได้เป็น ส.ส.เขต ส่วนคะแนนที่เหลือลดหลั่นลงมาก็จะนำไปรวมกันทั้งประเทศเพื่อเฉลี่ยกันออกมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งวิธีการแบบนี้เขาบอกว่าจะทำให้เป็นแรงจูงใจให้ประชาชนมาใช้สิทธิเพราะทุกคะแนนมีความหมาย และพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กก็มี ส.ส.ได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังอ้างว่าระบบการเลือกตั้งแบบนี้ยังทำให้พรรคการเมืองต้องพิถีพิถันในการคัดผู้สมัครแบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากขึ้น เพราะมีผลต่อคะแนนในแต่ละเขต และผู้สมัครบัญชีรายชื่อต้องลงมาหาเสียงช่วยพรรคด้วย ซึ่งเชื่อว่าวิธีการเลือกตั้งดังกล่าวจะต้องบรรจุเอาไว้แน่นอน

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณากันถึงเรื่องประเด็นอ่อนไหวอื่นๆ เช่น นายกฯ คนนอก รวมทั้งประเด็นเรื่อง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่เคยบรรจุเอาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นำโดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ตกไปก่อนหน้านี้ ก็มีแนวโน้มสูงมากว่าจะต้องรื้อฟื้นกลับมา เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากท่าทีของคนสำคัญอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ส่งสัญญาณชัดว่า “ต้องมี” อ้างว่า เพื่อเป็นช่องทางผ่าทางตัน ป้องกันวิกฤติไม่ให้กลับมาอีก

แม้ว่าในเวลานี้หากจับอาการแล้วทางคณะกรรมการยกร่างฯ ไม่ว่าจะเป็น มีชัย ฤชุพันธุ์ รวมไปถึงคนอื่นพยายามจะยังไม่พูดถึงประเด็นนี้ เนื่องจากรู้ดีว่าเป็น “เรื่องอ่อนไหว” ยังมีเวลาอีกสักพัก แต่มั่นใจได้เลยว่าเมื่อพิจารณาจากสัญญาณที่ชัดเจนรับรองว่า “เอาแน่” นั่นยังหมายรวมถึงประเด็น “นายกฯ คนนอก” ด้วย ก็เหตุผลเดียวกันคือผ่าทางตัน เป็น “ช่องทางฉุกเฉิน” อย่างที่เคยระบุไว้ ส่วนจะเอื้อให้ใครรองรับใครหนือไม่นั้นก็คงปิดกันไม่มิดหรอก เพียงแต่ว่าชาวบ้านจะยอมรับหรือไม่เท่านั้นเอง

นอกจากนี้ ที่น่าจับตาอีกก็คือ เรื่อง “คุณสมบัติต้องห้าม” ของนักการเมือง นั่นคือการ “แบน” คนที่เคยต้องคำพิพากษาคดีทุจริต เคยถูกคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีใช้อำนาจมิชอบ หรือเคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ซึ่งในประเด็นหลังนี้อาจมีการขยายเวลาการตัดสิทธิ์เพิ่มขึ้นอีกเช่นจากเดิมแค่ 4-5 ปี จะขยายเป็น 10-20 ปี ซึ่ง มีชัย ฤชุพันธุ์ ย้ำว่าต้องทำ และทำตามกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 35 ที่เลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น ถ้าให้เดาทางล่วงหน้าก็คงมั่นใจได้ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะได้เห็นประเด็น นายกฯคนนอก คปป.และแบนตลอดชีวิตสำหรับนักการเมืองที่เคยต้องคำพิพากษาจำคุกคดีทุจริต ใช้อำนาจมิชอบ รวมทั้งมีแนวโน้มขยายเวลาการตัดสิทธิ์นักการเมืองเป็น 10-20 ปี เพราะนี่คือกระแส “ต้านโกงที่เข้มข้น” หากเป็นแบบนี้เชื่อว่าจะมีบางคนที่ร้องจ๊ากแน่ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องเริ่มโหมโรงป่วนขึ้นเรื่อยๆ!!
กำลังโหลดความคิดเห็น