ผ่าประเด็นร้อน
มีการกล่าวกันว่า หาก วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย คือ “เนติบริกร” แล้ว ก็ต้องเข้าใจว่าสำหรับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” นั้นคือ “เนติบริกรกว่า” เพราะรายหลังเปรียบได้กับอาจารย์ ส่วนฝ่ายแรกเป็นเพียงระดับลูกศิษย์เท่านั้น เพียงแต่ว่าในระยะหลังศิษย์เริ่มแก่พรรษาเปล่งประกายมากขึ้นทุกทีก็ตาม
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องการให้รับรู้เป็นข้อมูลประกอบก็คือ มีชัย ฤชุพันธุ์ คนนี้มีความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย “ชั้นอ๋อง” เลยทีเดียว เพราะเขาผูกขาดงานทางกฎหมายกับฝ่ายการเมืองโดยเริ่มเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาตั้งแต่ยุคเริ่มแรก และต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล เคยเป็นประธานวุฒิสภา ประธานสภานิติบัญญัติ รวมไปถึงเคยเป็นประธานยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 34 ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ที่เปิดทางให้ “นายกฯ คนนอก” จนเกิดเหตุบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 โดยมีการกล่าวหาว่ามีการหมกเม็ดเปิดทางให้ “ผู้นำ รสช.” ในยุคนั้นคือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร “สืบทอดอำนาจ” นั่นคือ “จุดด่างพร้อย” ของมีชัย ฤชุพันธุ์ในอดีต
หลังจากนั้นเขาก็ลดบทบาทลงมาและถอยห่างออกจากการเมืองแบบโดยตรง ไปทำงานด้านกฎหมายในสำนักงานกฤษฎีกาจนถึงปัจจุบันรวมไปถึงการตอบคำถามจากชาวบ้านที่มีข้อสงสัยเรื่องกฎหมายในเว็บไซต์ “มีชัยไทยแลนด์” มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดเหตุมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เขาก็ได้รับเชิญเข้ามาร่วมเป็นคณะที่ปรึกษากฎหมาย และเป็นกรรมการ คสช.อีกด้วย ซึ่งจะว่าไปแล้วหากย้อนกลับไปเมื่อมีการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เขาก็ถูกดึงไปเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ โดยเฉพาะในการร่างคำสั่ง รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เป็นต้น
นั่นเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญทางกฎหมายในทุกยุคสมัยแบบที่ไม่อาจขาดเนติบริกรคนนี้ไม่ได้เลย โดยเฉพาะในช่วงที่เป็น “หัวเลี้ยวหัวต่อ” จะไปทางใดทางหนึ่ง เป็นการชี้อนาคตก็ยิ่งต้องการคนๆนี้มาช่วยทำงานสำคัญแทบทุกครั้ง
คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน หากจะกล่าวว่าเป็นช่วงสถานการณ์สำคัญอีกครั้งจนมีความจำเป็นต้อง “ใช้บริการ” จาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 58 ที่ยกร่างโดยกรรมาธิการยกร่างฯ นำโดยบวรศักดิ์ อุวรรณโณ “ถูกทำ” ให้คว่ำโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ จนเข้าใจว่า “หมดตัวเลือก” สำหรับภารกิจประเภทนี้
แน่นอนว่าคนเก่ง ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายในประเทศไทยย่อมมีอยู่ไม่น้อย แต่ประเภทที่เชื่อถือได้ หวังผลได้ก็คงมีอยู่ไม่กี่คนเท่านั้น โดยเฉพาะใน “ทีมเดียวกัน” หลังจาก บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ต้องปิดฉากลงชั่วคราว วิษณุ เครืองาม ยังมีภารกิจสำคัญทางกฎหมายที่ยังติดพันอยู่กับรัฐบาลและ คสช.ไม่มีเวลาปลีกตัวมายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะได้เลย ดังนั้นเมื่อภาระสำคัญก็ต้องคนสำคัญแบบนี้แหละถึงจะเหมาะ
ที่บอกว่ามีความสำคัญเพราะว่า หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 58 ถูกคว่ำก็ทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ภายใน 30 วัน และเมื่อยกร่างฯ เสร็จแล้วก็ต้อง “ส่งตรง” ไปให้ประชาชนลงประชามติว่า “เอา” หรือ “ไม่เอา” มีเพียงสองทางเลือกนี้เท่านั้น ซึ่งจุดที่น่ากังวลมีอยู่สองขั้นตอนใหญ่ คือ ระหว่างยกร่างฯ และขั้นตอนที่นำไปสู่การลงประชามติ ทุกอย่างสามารถเกิดจุดพลิกผันได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี ที่บอกว่าน่าเป็นห่วงก็คือ ระหว่างการยกร่างฯ หากมี “ประเด็นอ่อนไหว” เข้ามาในระหว่างทาง เช่นก่อนหน้ามีเรื่อง “นายกฯ คนนอก” ที่อ้างว่าเพื่อเป็นทางออกฉุกเฉินเอาไว้ รวมไปถึงบทบัญญัติในเรื่อง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.)” จนกลายเป็นการจุดกระแสต่อต้าน โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองที่ก่อนหน้านี้ทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์มีความเห็นสอดคล้องกันเป็นครั้งแรกที่ยืนกรานไม่เอาด้วย และเรียกร้องให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
สำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้ มีการเปิดเผยจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ว่าจะมีการนำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ปี 50 รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญปี 58 มาพิจารณาประกอบด้วย รวมไปถึงจะมีการพิจารณาในประเด็น คปป.มาประกอบด้วย โดยอาจมีการปรับปรุงแก้ไข หรือการเปลี่ยนแปลงชื่อเสียใหม่ โดยระบุว่าเป็นความประสงค์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ดังนั้น พิจารณาจากประเด็นดังกล่าวย่อมต้องมี “เรื่องอ่อนไหว” จึงต้องมีคนคุมเกมที่ไว้ใจได้ และเมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติก็จะเป็นใครไปไม่ได้ ต้องเป็น มีชัย ฤชุพันธุ์ เท่านั้น และที่สำคัญนี่คือตัวเลือกสุดท้ายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสถานการณ์และผลในวันหน้า!