xs
xsm
sm
md
lg

ปรองดองชักยืด-เรื่องชักเยอะ ตั้งกรรมการรุงรัง-งานไม่เดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

คลอดมาแล้วสำหรับ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความปรองดอง ชุดที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับบทเป็น “มิสสะเตอร์ปรองดอง” คอยกำกับดูแล ปรากฏว่า มีกรรมการมากถึง 33 ราย ทว่า ส่วนใหญ่เป็น “คนใน” แทบทั้งสิ้น ทั้งรัฐมนตรี ข้าราชการ นายทหาร ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

ส่วนที่อ้างว่า เป็น “คนนอก” มีไม่กี่ราย โดยเข้ามาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาซะส่วนใหญ่ ประกอบด้วย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ในฐานะอดีตคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง นายสุจิต บุญบงการ อดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ เลขาธิการสภาตระกูลจิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 1

เพราะเอาจริงๆ ทั้งในรายของ พล.อ.บุญสร้าง และ นายปณิธาน นอกจากจะไม่ถือเป็นคนนอกแล้ว ยังถือเป็นคนในที่ใกล้ชิดกับ “บิ๊ก คสช.” ในระดับแนบแน่นด้วยซ้ำ เพราะปัจจุบันทั้งคู่ทำงานให้กับรัฐบาล โดย พล.อ.บุญสร้าง เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และยังเป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 (ตท.6) ของ “บิ๊กป้อม” ส่วนในรายของนายปณิธานนี่หนักเข้าไปใหญ่ เพราะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคงของ “บิ๊กป้อม” เลยด้วยซ้ำ

ขณะที่ นายเอนก และ นายสุจิต ก็เป็นอดีตหนึ่งในแม่น้ำ 5 สายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงมีเพียงรายของ นายสุทธิพันธ์ เท่านั้น ที่พูดได้เต็มปากว่า “คนนอก” จริงๆ เพราะยังไม่ปรากฏว่า เคยมีตำแหน่งแห่งที่อะไรในทางการเมือง “หน้าฉาก” อย่างเป็นทางการ

ส่วนบรรดาคนกลางๆ ที่คาดหมายกันว่า จะถูกเชิญมาร่วม ไม่ว่าจะเป็น นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี คณิต ณ นคร อดีตประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ยังไม่ได้ปรากฏชื่ออยู่ในลิสต์ 33 คนของคณะปรองดองครั้งนี้

โดยในส่วนของ “หมอประเวศ” รายนี้ข่าวว่า ขอบาย เพราะปัจจุบันชรามาก ไม่สะดวกในการหยิบจับงานเต็มตัว คงมีบทบาทให้ความเห็นอยู่นอกวง เช่นเดียวกับ “อานันท์ - คณิต” ที่อาจจะยังฟิตปั๋ง แต่ก็ขอทำหน้าที่กูรูอยู่ด้านนอก ให้คำปรึกษาชี้แนะในบางกรณีมากกว่าจะเข้ามาขลุกเป็นเรื่องเป็นราว

แต่พวกผู้มากบารมีทั้งหลายที่ไม่ได้มาร่วมแจม ก็ไม่ใช่ว่าจะปิดประตูตาย ยังอาจเซอร์ไพรส์เข้าไปนั่งเป็นที่ปรึกษาในกรรมการชุดใหญ่ หรือ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. แย้มๆ ว่า จะมีการตั้งคนนอกเข้ามาอีกราว 40 คน

พูดง่ายๆ คือ มันยังไม่หมด เดี๋ยวจะตั้งกันอีกโขยงใหญ่ หยุบหยับย้วยเยื้ยจนแทบจะจำไม่ได้แล้วว่า ตอนนี้มีคณะกรรมการอะไรบ้าง ใครทำหน้าที่อะไร ไม่รู้จะกี่คณะต่อกี่คณะ เพราะมันเต็มพรืดไปหมด ตรงนี้จะว่าไปก็เริ่มทำให้หลายคนชักหวั่นๆ ใจ กลัวจะเข้าอีหรอบเดิม คือ ตั้งแล้วสุดท้ายล้มเหลวไม่เป็นท่า

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคงเป็นข้อสรุปที่ว่า รัฐบาล คสช. จะยึดหัวหาดเป็นเจ้าภาพเรื่องการสร้างความปรองดอง โดยไม่เปิดโอกาสให้ “คนนอก” เข้ามามีส่วนร่วมอย่างที่คาดไว้ในตอนต้น ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็จะมีบทบาทบ้างในฐานะผู้ออกความเห็นเท่านั้น

คาดเดาได้ยากว่า แนวทางที่แท้จริงในการสร้างความปรองดองของ รัฐบาล คสช. จะเดินไปทางไหน เพราะแค่ตั้งกรรมการก็กินเวลามาร่วมเดือน โดยที่ยังไม่มีการขยับหยิบจับอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อีกทั้งกรรมการก็เป็นฝ่าย คสช.ล้วนๆ ไม่เพียงเท่านั้น ยังไปดึงเอา “ผู้นำเหล่าทัพ” มานั่งคุมเป็นประธานอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตั้งแต่ พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัต ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานอนุกรรมการพัฒนาบูรณาการข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เป็นประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

ภายใต้ธงที่ “บิ๊กป้อม” กำหนดว่า 3 เดือนนี้ จะเห็นหน้าเห็นหลังแน่นอน โดยเน้นการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งได้มอบหมายให้ “ทหาร - ตำรวจ - ฝ่ายปกครอง” ทำหน้าที่ในการเดินสายพูดคุยก่อนรายงานมายังกรรมการปรองดอง

ไล่เรียงดูแล้วต้องถือว่า เป็นกระบวนการที่ไม่มีอะไรใหม่ ภายใต้ความรุงรังในการตั้งคณะกรรมการแบบเว่อร์วัง ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริง - ข้อเสนอต่างๆ นั้น มีผลการศึกษาจากคณะกรรมการหลายชุดเกี่ยวกับเรื่องความสามัคคีปรองดองในอดีตเป็นกองๆ

ไม่ว่าจะเป็นรายงานของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศของ “หมอประเวศ” รายงานคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติของ “อานันท์” รายงาน คอป.ของ “คณิต” รายงานของสถาบันพระปกเกล้าสมัยที่ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นหัวเรือใหญ่แล้วหยิบไปทำเรื่องปรองดอง เรื่อย มาถึงรายงานของคณะกรรมการชุด “เอนก”

รายงานสรุปเหล่านี้ คสช. สามารถหยิบมาประยุกต์ใช้ได้หมด ไม่ต้องเสียเวลา โดยเฉพาะรายงานฉบับ คอป.ของ “คณิต” ที่ฝ่ายคู่ขัดแย้งทั้ง พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ กปปส. ค่อนข้างยอมรับว่า เป็นกลาง

แต่ก่อนหน้านี้ ที่ไม่สามารถยอมกันได้ เพราะในสมัย “รัฐบาลเพื่อไทย” หยิบฉวยมาปฏิบัติเฉพาะบางข้อ อย่างเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองในมูลค่าสูงลิ่วเกินความเป็นจริง และไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับฝ่ายตัวเองเท่านั้น

ไม่ต้องตั้งกรมการอะไรให้ยุ่งยาก นำรายงานทั้งหมดที่มีมากางแล้วถกกันว่า จะสามารถเจอกันตรงไหนได้ น่าจะดีกว่าไปเริ่มต้นนับหนึ่ง เสียเวลาไปศึกษากันใหม่ ทั้งหมด ซึ่งยิ่งดูก็จะยิ่งเลอะเทอะไปใหญ่ ยังไม่รับรวมถึงเรื่องบประมาณที่ต้องสูญเสียไป กับกรรมการที่ตั้งขึ้นเยอะเกินพอดีแบบนี้

อีกทั้งจริงๆ สิ่งที่แต่ละฝ่ายจะยอมกันหรือไม่ยอม อยู่ที่วงเจรจา อย่างที่รู้กันว่า เงื่อนไขครั้งนี้ฝ่ายท็อปบูตปฏิเสธไม่เอา “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาอยู่ในกรอบการตกลง โดยข้อตกลงต่างๆ จะต้องไม่เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น

ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองจะยอมหรือไม่ ถ้าทุกคนได้หมดยกเว้น “นายใหญ่” เพียงคนเดียว ซึ่งดูปฏิกิริยาก็เหมือนจะยอมๆ เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ และ กปปส. ที่อย่างไรเสียถ้ามีชื่อ อยู่ในวงเจรจา ย่อมไม่ตกลงแน่ แต่วันนี้ที่ยอมรับได้ นั่นก็อาจเพราะไม่มีชื่อของบุคคลดังกล่าวอยู่ในข่ายได้ประโยชน์นั่นเอง

ส่วนเรื่องผลการศึกษาต่างๆ นั้นเอามาเป็นองค์ประกอบในการสร้างความปรองดองในมิติอื่นๆ เช่น สังคม หรือผู้กระทำความผิดในการชุมนุม ตรงนี้จะทำอย่างไรมากกว่า

ที่สำคัญ ถ้ามี “พิมพ์เขียวปรองดอง” อยู่แล้ว ก็รบกวนกางออกมาได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาพิรี้พิไรมากความ

เข้าประเด็นเลยดีกว่า !
กำลังโหลดความคิดเห็น