เมืองไทย 360 องศา
ไม่ใช่พูดกันแบบให้ร้ายอยู่ด้านเดียว แต่เป็นภาพสะท้อนออกมาล้วนมีความเห็นค่อนข้างตรงกันแบบนั้นจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “แย่” ส่วนจะเป็นเพราะสาเหตุจากภายนอกคือเศรษฐกิจโลก ประเทศคู่ค้ามันแย่ทำให้เราที่ส่งสินค้าออก ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ขายสินค้าได้ยาก ส่งผลกระทบเข้ามาในวงกว้างก็ว่ากันไป
แต่เอาเป็นว่าภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เวลาผ่านมาทั้งที่ในแบบอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ชาวบ้านยังบ่นแรงขึ้นเรื่อยๆ ว่า “ของแพง” ทำมาค้าขายได้ยากลำบากกว่าเดิม สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือเวลานี้ราคาสินค้าเกษตรหลักๆ เช่น ข้าว ยางพารา และปาล์ม ล้วนมีราคาตกต่ำลงไปเรื่อยๆ และคนพวกนี้ล้วนเป็นคนส่วนใหญ่ประเทศหากราคาผลผลิตยังไม่ดี รายได้ยังน้อย หนี้สินยังเพิ่มไม่หยุด ประกอบกับโชคร้ายที่ปีหน้าจะต้องเจอกับภาวะภัยแล้งต่อเนื่อง มันก็ยิ่งสาหัส
ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนเอาทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เข้ามาที่นำโดย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” แม้ว่าจะมีสีสัน มีการใส่เม็ดเงินลงไปกระตุันตั้งแต่ระดับฐานราก คือให้งบลงทุนในกองทุนหมู่บ้าน การลงทุนในแต่ละตำบลผ่านทางหน่วยงานปกครอง จนกระทั่งการกระตุ้นลงทุนผ่านธุรกิจเอสเอ็มอีก็ตาม แต่ในความเป็นจริงมันก็ยังเห็นผลในวงจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพูดถึงงบลงทุนในแต่ละตำบลส่วนใหญ่มันก็ยังติดขัดเรื่องระเบียบ มีการประสานกับหน่วยงานฝ่ายปกครองและที่ต้องจับตากันก็คือการ"หักค่าหัวคิว"เกิดขึ้นจนเป็นข่าวอื้อฉาวกันมาพักใหญ่ก่อนหน้านี้ แต่ก็สามารถปิดเกมได้ทันท่วงที ไม่ลุกลามออกไป
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่กำลังจะสิ้นปี 2558 อีกไม่นานก็มีการสรุปภาวะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได่ตามเป้าคือร้อยละ 2.8 หรือไม่ แต่ในปีหน้าแม้ว่าหลายฝ่ายยังคาดหมายว่าจะออกมาดีกว่าปีนี้ แต่ขณะเดียวกันหากมองอีกมุมหนึ่งถือว่าในปีหน้าจะเป็นปีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะต้องเจอแต่เรื่อง “หนักๆ” เข้ามาทั้งสิ้น และแม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวดีกว่า แต่ตราบใดก็ตามหากในเรื่องอื่นไม่เป็นใจ เช่น การเมือง โดยเฉพาะในเรื่องความศรัทธาที่เริ่มสังเกตเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้เริ่ม “ถดถอย” ลงไปมาก มันก็น่าห่วง
หากโฟกัสกันไปที่ “ความศรัทธา” ที่ระบุว่าเริ่ม “ถดถอย” นั้น แน่นอนว่ายิ่งอยู่นานก็จะยิ่งมีปัญหาเข้ามามากขึ้น ต่างกันลิบลับกับช่วงที่เข้ามาใหม่ๆ ที่ตอนนั้นมีแต่เสียงไชโยโห่ร้อง มีเสียงสนับสนุนล้นปรี่ แต่ขณะเดียวกันมันก็แฝงมาด้วยความคาดหวังที่สูงลิบเช่นเดียวกัน
ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อไม่เป็นไปตามที่หวัง หรือเมื่อชาวบ้านได้เห็น “บางสิ่งบางอย่าง” ที่เริ่มดูแล้วไม่น่าไว้วางใจ จนบางครั้งถึงกับเข้าใจว่า “ถูกหลอกอีกแล้ว” มันก็ยิ่งซ้ำเติมเป็นตัวเร่งให้ความศรัทธาที่ถดถอยนั้นลงเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งแบบนี้แหละอันตราย
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือ ความศรัทธาที่ถดถอยดังกล่าวยังอยู่ในลักษณะที่ “ยังสงสัย” แต่เริ่มมีแนวโน้มที่สงสัยมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลและ คสช.มีเจตนาดำเนินการตามที่เคยรับปากกับชาวบ้านจริงหรือไม่ เช่น เรื่องการปราบปรามการทุจริตที่เคยจริงจังเป็นวาระแห่งชาติ มาถึงวันนี้มีวิธีการปราบปรามทุจริตแบบไหน เพราะยังมีเสียงวิจารณ์ว่าการทุจริตยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าเปลี่ยนเป้าหมายการจ่ายจากเดิมที่จ่ายให้นักการเมือง การแต่งตั้งโยกย้ายก็ยังถูกวิจารณ์เล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งก็ไม่ต่างกันคือ “เปลี่ยนเป็นพวกใหม่”
เสียงวิจารณ์มากที่สุดก็คือ การแต่งตั้งโยกย้ายในวงการตำรวจ รวมไปถึงล่าสุดที่ท้าทายความรู้สึกของสังคมมากที่สุดก็คือการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติคนใหม่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ที่สังคมรับรู้กันว่ามีความสนิทสนมคุ้นเคยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และน้องชายคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นน้องชาย
เสียงวิจารณ์ที่เริ่มรุนแรงก็คือ การสร้างเครือข่ายของ “บูรพาพยัคฆ์” ถูกมองว่าเป็น “กลุ่มอำนาจใหม่” ที่นำโดย “พี่ใหญ่” เข้ามาแทนกลุ่มการเมืองเก่า และกำลังขยายอาณาจักรออกไปอย่างน่าจับตา ดังนั้น เมื่อมีลักษณะแบบนี้มันก็ช่วยไม่ได้ที่จะต้องบอกว่า “สกัดแต่ฝ่ายตรงข้าม” แต่สนับสนุนผลักดันเครือข่ายของตัวเองเข้ามาแทน แบบนี้แหละที่ชาวบ้านซึ่งผ่านบรรยากาศการเมืองมายาวนานรู้ทันและเสื่อมศรัทธา
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นกับการเริ่มสังเกตเห็นว่าเส้นทางปฏิรูปที่เคยรับปากเอาไว้ ในตอนนี้เริ่มลดความเข้มข้นลงไปมาก หรือยังไม่เห็นทิศทางชัดเจนเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปตำรวจที่ยังไม่มีการเน้นย้ำให้เห็นเลย ทั้งที่เป็นความต้องการในอันดับต้นๆ ของชาวบ้าน ในทางตรงกันมีการแต่การกระชับอำนาจให้ฝ่ายข้าราชการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะผิดไปจากหลักการกระจายอำนาจที่ก้าวหน้า
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความรู้สึกของชาวบ้านในตอนนี้ก็ต้องบอกว่าเริ่มมีเสียงบ่นออกมามากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่วนสำคัญก็มาจากเรื่องปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ที่สำรวจกันทีไรมีแต่เสียงบ่นผิดหวังทุกที เริ่มมีคำถามเรื่องภารกิจหลัก เช่น การปฏิรูป การปราบปรามทุจริต ได้ทำจริงแค่ไหน และภายใต้สภาพที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จแบบนี้ เมื่อเทียบกับผลงานที่ได้ มันก็ทำให้น่าหนักใจว่าในปีหน้ามันจะยิ่งสาหัส!