เมืองไทย 360 องศา
แม้ว่านาทีนี้ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนตามมา แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณสำคัญออกมาให้เห็นชัดเจนมากขึ้นแล้ว หากพิจารณาจากบุคคลที่เป็น “ต้นตอกลไกอำนาจ” ในปัจจุบัน อย่าง “มีชัย ฤชุพันธุ์” หนึ่งในคณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ เป็น “กุนซือกฎหมาย” คนสำคัญ ขณะเดียวกัน เขายังเป็นประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเวลานี้อีกด้วย
ดังนั้น คำพูดล่าสุดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ระบุว่า “จะไม่เสนอแก้ไขกฎหมายการทำประชามติ” โดยย้ำว่าหากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่าน ก็จะนำ “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับปี 2557” มาใช้
คำพูดดังกล่าวย่อมมีนัยสำคัญตามมาหลายอย่าง โดยเฉพาะคนพูดที่เป็น มีชัย ฤชุพันธุ์ อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะไปถึงประเด็นดังกล่าว ต้องย้อนกลับมาอธิบายขั้นตอนหรือเส้นทางโรดแมปคร่าวๆเพื่อให้เห็นภาพเสียก่อน เพราะถือว่าช่วงนี้จะเริ่มเข้าสู่ช่วงสำคัญเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือต้องเริ่มจากการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เวลานี้กำลังอยู่ในช่วงการร่างในขั้นตอนสุดท้าย เป็นการขัดเกลาตกแต่งให้เหลือ 250 มาตราตามที่กำหนดเอาไว้ก่อนหน้านี้ รวมทั้งการเขียนบทเฉพาะกาลที่ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว และตามกำหนดร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกจะต้องมีการเปิดเผยให้พิจารณากันในวันที่ 29 มกราคมนี้ ก่อนจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากทั่วประเทศก่อนนำไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือการ “ทำประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญในกลางปีหน้า
สิ่งที่ต้องพิจารณาและเป็นคำถามก็คือทำไมถึงไม่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 ในประเด็นที่เกี่ยวกับการทำประชามติ เพราะที่ผ่านมามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกเสียงที่ระบุว่า “เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ” เป็น “เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ” หรือไม่ เพราะหากยังไม่แก้ไขในประเด็นดังกล่าว มันก็สุ่มเสี่ยงต่อการไม่ผ่านการลงประชามติ เพราะความหมายของเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิกับ “เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ” ย่อมต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ขณะเดียวกันก็ต้องมาพิจารณาคำพูดของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ระบุว่าจะไม่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เกี่ยวกับประเด็นการทำประชามติว่ามีความหมายอย่างไร แม้ว่าในเบื้องต้นยังไม่อาจสรุปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตออกมาแล้วว่านี่คือ “การขู่” เป็นการส่งสัญญาณเข้มไปถึงนักการเมือง และพรรคการเมืองทั้งหลาย ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ที่กำลังขู่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญในช่วงการลงประชามติ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยของทักษิณ ชินวัตร ที่เริ่มรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันแล้ว
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันแบบเข้าใจก็พอเข้าใจถึงสาเหตุที่บรรดานักการเมืองเหล่านั้นต้องออกมาต่อต้านโดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย เพราะในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเป็นการ “ควบคุมจำกัดสิทธิ” ของนักการเมือง มีบทลงโทษคนโกงแบบห้ามลงสนามกันชั่วชีวิตเลยทีเดียว ขณะเดียวกันก็ให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางในการชี้ขาดข้อขัดแย้ง ลงโทษนักการเมือง และคำตัดสินของศาลฯ มีผลผูกพันทุกองค์กร และที่สำคัญก็คือมีการแก้ไขยากเสียด้วยซี
เอาเป็นว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังยกร่างใกล้เสร็จสิ้น ผ่านการลงประชามติมีผลบังคับใช้ฝ่ายที่กระอักที่สุดก็คือ นักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองพรรคเพื่อไทยที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของครอบครัว ทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละ เพราะระดับหัวแถวล้วนมี “ชนักปักหลัง” ทั้งสิ้น ไม่ว่าหัวหน้าใหญ่ คือ ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เวลานี้แทบขยับตัวไม่ได้เสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง และเสี่ยงถูกยึดทรัพย์
แต่ปัญหาก็คือ หากมีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริงนั่นก็เท่ากับว่าทำให้การเลือกตั้งที่กำหนดเอาไว้ตามโรดแมปเอาไว้ในกลางปีหน้าต้องเลื่อนออกไปอีกแบบไม่มีกำหนด และยังเป็นการเปิดทางให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในอำนาจเบ็ดเสร็จต่อไป ซึ่งคำพูดดังกล่าวข้างต้นของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็น “กุนซือ” ด้านกฎหมายคนสำคัญที่บอกว่าจะนำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาบังคับใช้ มันก็เป็นการบอกใบ้ที่ชัดเจนขึ้น ทางหนึ่งเป็นการขู่ว่าหากอยากเลือกตั้งตามกำหนดก็ต้องเลิกขวาง แต่ในทางตรงข้ามถ้าถูกคว่ำ การนำรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาใช้สิ่งที่ควบคู่มาด้วยก็คือมาตรการเข้มที่บรรดานักการเมืองแทบกระดิกไม่ได้เลย
แม้ว่านาทีนี้ยังไม่อาจสรุปแน่ชัดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะเป็นไปตามที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ระบุแบบร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ เพราะยังมาไม่ถึง แต่อย่างน้อยก็เริ่มเห็นแนวโน้มชัดเจนขึ้นแล้วว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร คว่ำหรือไม่คว่ำ พวกนักการเมืองก็อ่วมอยู่ดี โดยเฉพาะนักการเมืองในสายของทักษิณ ชินวัตร โดยหากคว่ำผลที่ตามมาก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จะอยู่ยาวต่อไป ดังนั้นไม่ว่าจะไปซ้ายหรือขวาก็อ้วกอยู่ดี