“ยะใส” ไม่แปลกใจ นปช. ประกาศคว่ำร่าง รธน. หวังชี้นำ พท. แต่ท้ายสุดต้องรอ “ทักษิณ” ตัดสินใจ ชี้คว่ำจริง คสช. ได้ประโยชน์ จี้ กรธ. เลิกตอบโต้เดินหน้าแจงจุดเด่น รธน. รับฟังความเห็นให้มากกว่านี้ มองปฏิรูปอาจเป็นปัจจัยชี้ขาด คสช. แนะทำบ้างเรื่องไม่ต้องรอ รธน.
วันนี้ (24 ม.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นกรณีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาประกาศจุดยืนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่าไม่แปลกใจ เพราะแสดงท่าทีมาตั้งแต่เขายังไม่ยกร่างกันด้วยซ้ำ หรือแม้แต่ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างยกร่างยังไม่เสร็จก็ด่วนประกาศจุดยืนเสียแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังมีเวลาปรับแก้เนื้อหาอีกกว่า 2 เดือน การชิงประกาศคว่ำร่าง รธน. ของแกนนำ นปช. แม้เป็นสิทธิที่ทำได้แต่ตอนนี้ยังเร็วเกินไป เข้าใจว่า นปช. คงต้องการชี้นำพรรคเพื่อไทย เพราะมีอดีต ส.ส. บางส่วนของพรรคเตรียมเลือกตั้งตามโรดแมป ซึ่งเชื่อว่าความเห็นของพรรคเพื่อไทยกับ นปช. จะยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะต้องรอคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นคนตัดสินใจอีกที
นายสุริยะใส เผยอีกว่า หากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ แน่นอนว่า อาจเป็นประโยชน์กับ คสช. เพราะโรดแมปเลือกตั้งในปี 2560 อาจต้องถูกขยายยาวออกไปไม่มีกำหนด ส่วนข้อเสนอของ นปช. ที่เรียกร้องให้เอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาประกาศใช้หากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำนั้นเป็นข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนั้นถูกบิดเบือนทำลายเจตนารมณ์จนเปิดช่องให้เกิดระบอบทักษิณขึ้นมา
นายสุริยะใส ระบุต่อว่า ในขณะนี้กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ไม่ควรเสียเวลาไปผลิตโวหารตอบโต้คนเห็นต่างแต่ควรเดินหน้าชี้แจง เผยแพร่เนื้อหาสาระหรือจุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญว่าดีอย่างไร จะแก้ปัญหาการเมืองที่ล้มเหลวแตกแยกได้จริงหรือไม่ ที่สำคัญ ช่วงเวลา 2 เดือนกว่าที่ยังพอปรับแก้เนื้อหาได้ กรธ. ต้องฟังความเห็นของสังคมให้มากกว่านี้ และต้องเปิดพื้นที่ในสื่อ หรือเวทีตามสถาบันการศึกษา หรือตามเครือข่ายในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างตรงไปตรงมา การปิดกั้นและไม่รับฟังความเห็นประชาชนอย่างจริงจังอาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ อยากฝากไปถึง คสช. อย่าเอาการปฏิรูปไปเป็นเกมกำหนดโรดแมป และการปฏิรูปในบางด้าน คสช. ก็มีอำนาจเต็มที่จะทำได้โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ ในขณะนี้สังคมเริ่มจับตาและตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมา คสช. ปฏิรูปอะไรไปบ้างแล้ว และจริงจังกับการปฏิรูปประเทศหรือไม่ และประเด็นปฏิรูปอาจเป็นปัจจัยชี้ขาดความอยู่รอดของ คสช. ได้เช่นกัน