xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” แนะเผยแพร่จุดเด่น รธน.แก้ล้มเหลวการเมือง ชี้จุดอ่อน ปชช.มีส่วนร่วมน้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (แฟ้มภาพ)
“ยะใส” มอง กรอบเวลารับฟังความเห็นร่าง รธน. น้อยมาก แนะ เผยแพร่จุดเด่น มีกลไกแก้ของล้มเหลวการเมือง ปชช. ได้ประโยชน์อะไร ชี้ ปชช. มีส่วนร่วมน้อยจุดบอดไม่ผ่านประชามติ แถมการเมืองบางกลุ่มโจมตีจุดอ่อน เล็งจัดเวทีวิพากษ์ รธน. พร้อมชงข้อเสนอปฏิรูป

วันนี้ (17 ม.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นว่าในขณะนี้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ได้เขียนร่างฯแรกใกล้จะเสร็จครบถ้วนแล้วเหลือเพียงบทเฉพาะกาลเท่านั้นในภาพรวม ถือว่าได้เห็นเนื้อหาสาระหลัก ๆ เกือบครบถ้วนแล้ว ต่อไปจึงควรมีแผนรับฟังความเห็นจากภาคฝ่ายต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตามกรอบเวลาวันที่ 30 มีนาคม กรธ. ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ ครม. ฉะนั้น จึงมีเวลาที่จะรับฟังความเห็นจากสาธารณะเพื่อปรับแก้ได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีเวลาน้อยมาก

นายสุริยะใส ระบุต่อว่า สิ่งที่ กรธ. ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ การเผยแพร่จุดเด่นและกลไกใหม่ ๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าดีกว่าที่ผ่าน ๆ มา อย่างไร มีกลไกแก้ปัญหาความล้มเหลวทางการเมืองในด้านต่าง ๆ อย่างไร และประชาชนจะได้ประโยขน์อะไร เพราะที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนน้อยกว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 การรับรู้และอารมณ์ความรู้สึกร่วมของประชาชนน้อยจะกลายเป็นจุดบอดให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติได้ และที่สำคัญ กลุ่มการเมืองบางกลุ่มตั้งธงคว่ำร่างรัฐธรรมนูญล่วงหน้าก็มีโดยนำเอาข้ออ่อนของร่างรัฐธรรมนูญมาโจมตีเป็นระยะ ๆ จนทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและหวังผลบางอย่างทางการเมือง

นายสุริยะใส เผยต่อว่า ในส่วนของสถาบันปฏิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต (สปท.) เตรียมร่วมกับกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ จัดเวทีวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. โดยจะจัดวิพากษ์เป็นหมวด ๆ ไป โดยจะเชิญตัวแทนจาก กรธ. และภาคส่วนต่างๆ มาร่วมเวที และจะทำความเห็นสรุปต่อ กรธ. เป็นระยะ นอกจากนี้ สปท. ม.รังสิต ยังเตรียมข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทยทั้งระบบเสนอต่อแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งข้อเสนอจะมีทั้งแผนการปฏิรูปในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยเฉพาะในระยะสั้นหรือระยะเร่งด่วนนั้น คสช. และรัฐบาลสามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะนำข้อเสนอดังกล่าวยื่นต่อแม่น้ำทั้ง 5 สาย และต่อสาธารณะได้ในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น