xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” ห่วงร่างรัฐธรรมนูญผูกขาดภาคการเมือง ไร้พื้นที่ประชาสังคม-สวนทาง คสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา (ภาพจากแฟ้ม)
ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย ชี้ กรธ.ยังไม่มีพื้นที่ให้แก่ประชาสังคมร่วมสร้างกลไกใหม่ๆ ให้นักการเมืองโปร่งใส-สุจริต สวนทางนโยบาย คสช. อำนาจชี้ขาดเบ็ดเสร็จยังผูกขาดอยู่กับภาคการเมืองเช่นเดิม ย้ำต้องเปิดพื้นที่ภาคประชาสังคมชัดเจนมากขึ้น

วันนี้ (13 ธ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ตนเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผ่านมาจะครึ่งค่อนทางแล้วยังคงให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบในส่วนภาคการเมืองและรัฐราชการเป็นหลัก แม้ว่า กรธ.พยายามออกแบบและสร้างกลไกใหม่ๆ เพื่อให้การเมืองของภาคนักการเมืองมีความโปร่งใสและสุจริตมากขึ้นก็ตาม แต่ยังไม่มีพื้นที่ให้แก่ประชาสังคมเข้ามาร่วมส่วนเท่าที่ควร สวนทางกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลที่พยายามขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐ ที่เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน เพราะถ้าเน้นเฉพาะความเข้มแข็งของภาคการเมืองและราชการโดยละเลยสิทธิและอำนาจของประชาชนจะทำให้นโยบายประชารัฐไม่เป็นจริง อำนาจชี้ขาดเบ็ดเสร็จยังผูกขาดอยู่กับภาคการเมืองเช่นเดิม กลายเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐแต่ตอนอำนาจประชาชน

“ไม่ว่า กรธ.จะขยายหรือสร้างกลไกถ่วงดุลตรวจสอบมากขึ้นก็ตาม ก็ยังวนอยู่กับการเมืองของคนส่วนบนหรือกลุ่มเดิมๆ ยังไม่ได้ยึดโยงกับประชาสังคมเท่าที่ควร ก็อาจจะทำให้การเมืองไทยกลับไปจมอยู่กับวงจรอุบาทว์เช่นเดิม ฉะนั้นร่างรัฐธรรมนูญในหมวดที่เหลืออยู่ กรธ.ต้องให้ความสำคัญต่อการเพิ่มพื้นที่ทางการเมืองของภาคประชาสังคมชัดเจนมากขึ้น เพราะบทเรียนจากความล้มเหลวทางการเมืองที่ผ่านมาผู้มีอำนาจพยายามทำให้การเมืองอยู่ในระบบปิด โดยกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มพอเจรจาผลประโยชน์กันไม่ลงตัวก็กลายเป็นความแตกแยกและเผชิญหน้ากัน ความตื่นตัวของประชาชนถูกมองเป็นแค่กองเชียร์นักการเมืองเท่านั้น” นายสุริยะใสกล่าว

นายสุริยะใสกล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำไปก่อนหน้านี้จะพบว่าการเมืองของภาคพลเมืองหดหายไปมาก กรธ.ควรปรับทัศนคติว่าความตื่นตัวของประชาชนเป็นหัวใจของการพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริง การออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อไปสู่การปฏิรูปประเทศจึงต้องคำนึงถึงการสร้างสมดุลให้แก่องค์อำนาจอันหลากหลายในสังคมให้ลงตัวที่สุด ไม่เช่นนั้นก็ยากที่จะเปลี่ยนผ่านในระยะยาวได้


กำลังโหลดความคิดเห็น