xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ถกนายทุนยักษ์ช่วยคนจน แนะถลุงงบซีเอสอาร์ แบ่งรับแบ่งสู้พร้อมหนุนรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรี เผย หลังร่วมหารือนักธุรกิจ 24 รายใหญ่ของไทย หารือปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ร่วมมือกับรัฐบาลดูแลผู้มีรายได้น้อย ชี้ เอกชนมีเงินซีเอสอาร์ กำชับให้ทำทุกภูมิภาค ส่วนการเชิญต่างชาติลงทุนในไทยสนใจ แต่ไม่มี พ.ร.บ. ร่วมทุน จ่อตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฝ่ายเศรษฐกิจของภาคเอกชนทั้งหมด ให้ประธานหอการค้าไทยเป็นแกนนำ เผยภาคธุรกิจพร้อมหนุนรัฐบาล แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ต้องดูความพร้อม จะใช้มาตรา 44 ก็ไม่ได้



วันนี้ (3 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ร่วมหารือนักธุรกิจ 24 รายใหญ่ของไทย โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการหารือว่า เป็นการพูดคุยหลายมิติ โดยเฉพาะการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่รัฐบาลได้สั่งการไป ไม่สามารถทำเพียงคนเดียวได้ ดังนั้น นายสมคิด จึงเชิญบรรดานักธุรกิจที่เป็นเครื่องจักรสำคัญมาหารือ แต่ไม่ใช่ว่าจะหาวิธีเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจ เป็นการพูดถึงว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลได้อย่างไร เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อย สร้างความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจใหญ่ - กลาง - เล็ก และ เอสเอ็มอี มีการพูดถึงการให้ความรู้การตลาด การออกแบบ การสร้างนักธุรกิจใหม่ และระบบการศึกษา ว่า จะช่วยกันดูแลครู และสถานการศึกษาอย่างไร เนื่องจากเอกชนมีเงินสำหรับซีเอสอาร์ (ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร) อยู่แล้ว ตนได้กำชับให้ทำในทุกพื้นที่ทุกภูมิภาค ทั้งหมดล้วนอยู่ในแผนการปฏิรูปประเทศ ส่วนการเชื้อเชิญนักธุรกิจให้มาลงทุนในไทยนั้น นักธุรกิจสนใจแต่ที่ยังช้าอยู่ เพราะยังไม่มี พ.ร.บ. ร่วมทุน รัฐบาลนี้กำลังพิจารณา พ.ร.บ. ดังกล่าวอยู่ การลงทุนไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ใครจะมาก็มาได้ จำเป็นต้องพึ่ง พ.ร.บ. อย่างเรื่องการศึกษาก็มี พ.ร.บ. อยู่ทุกแท่ง แตะไม่ได้เลยมี แล้วก็ไม่ได้ทำให้การศึกษาดีขึ้น มีแล้วก็แค่แบ่งเงินแบ่งงบประมาณกันเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาคธุรกิจได้สะท้อนอะไรถึงรัฐบาลบ้าง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้มีการสะท้อน แต่เขาไม่รู้ถึงสิ่งที่รัฐบาลทำมาเกือบ 2 ปี ที่ไม่รู้เพราะต่างคนต่างก็ทำงาน เพราะนักธุรกิจไม่ค่อยมีเวลาอยู่แล้ว ไม่สามารถที่จะมาฟังตนได้ และทีมประชาสัมพันธ์รัฐบาลก็เข้าไม่ถึง แต่ต่อไปจะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนฝ่ายเศรษฐกิจของภาคเอกชนทั้งหมด โดยมี นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย เป็นแกนนำ โดยจะดูว่าสามารถสนับสนุนกิจกรรมใดที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนประเทศได้อย่างไร ทั้งงานวิจัยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถ้าไม่เตรียมพร้อมเรื่องพวกนี้ต่อไปจะเสี่ยงทั้งสิ้น เพราะมาจากความเสี่ยงของสถานการณ์โลก พันธกรณีระหว่างประเทศ ข้อสัญญาทางการค้า ล้วนมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราไม่มีความเข้มแข็งในเรื่องเหล่านี้มาก่อนเลย อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจมีข้อเสนอเยอะแยะ ทั้งกฎหมาย สัญญา ตนก็บอกว่าต้องปรับจูนให้ตรงกับนโยบายของรัฐ เพราะหน้าที่ของข้าราชการ คือรักษาผลประโยชน์ ส่วนหน้าที่ของภาคธุรกิจคือทำกำไรให้ได้มากที่สุด แล้วจะเจอกันได้อย่างไร การปรับจูนภาคธุรกิจต้องลดกำไรลงบ้าง แต่รัฐจะหาสิทธิประโยชน์ให้ทั้งเรื่องภาษี กฎหมายการค้า กฎหมายร่วมทุน โดยต่อไปภาคธุรกิจสามารถส่งความเห็นสะท้อนปัญหาเข้ามา และรัฐบาลจะนำไปขับเคลื่อน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ภาคธุรกิจที่ได้หารือกันในวันนี้มีความพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาล แต่ไม่ใช่จะพร้อมทั้งหมด เพราะต้องดูว่าเขาศักยภาพอย่างไรบ้าง และตนไม่สมารถสั่งภาคธุรกิจได้ หรือจะใช้มาตรา 44 สั่งการก็ไม่ได้ เรื่องประชารัฐเป็นความร่วมมือของรัฐข้าราชการ เอกชนภาคธุรกิจ ซึ่งต้องปรับจูนเข้าหากันให้ได้ ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ต้องมาคุยกัน รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจโดยวันหน้าจะเรียกมาคุยให้หมดทุกส่วน เพราะถ้าไม่คุยจะติดปัญหาที่ทุกคนมักเอาหลักการกฎหมาย สิทธิมนุษยชน ทำให้ไม่เกิดอะไรขึ้น วันนี้การเมืองเข้ามาทาบทับน้อย เพราะตนไม่ใช่นักการเมือง แม้จะถูกมองว่าเป็นนักการเมืองในสายตา แต่ตนก็ทำงานของตน และจากนี้เมื่อมีคณะกรรมการขับเคลื่อนภาคเอกชน นายสมคิด จะเป็นผู้ไปคุย เมื่อถึงวาระสำคัญตนจะเข้าร่วมประชุม เพราะเป็นผู้กำหนดนโยบาย

เมื่อถามว่า ความร่วมมือกับภาคธุรกิจจะเป็นรูปธรรมเมื่อใด พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “รอมาชาติหนึ่งแล้วยังไม่เกิดเลย เธอจะรออีกสักหน่อยไม่ได้หรือ เธอจะเอาเมื่อไหร่ วันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ เดือนหน้า ลูกกี่เดือนแล้ว เดี๋ยวลูกออก นี่อย่างไรมันถึงต้องมาแบ่งว่า 1 - 2 - 3 อะไรที่จะเกิดขึ้นได้ในตอนที่ผมอยู่ในเดือน ก.ค. 60 เดี๋ยวไปหามา แล้วที่เหลือก็ส่งแผนปฏิรูป แล้วค่อยไปไล่กับรัฐบาลใหม่เขาทำเอา แต่จะเริ่มให้ทุกอย่าง โดยจะให้ความสำคัญกับเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานก่อน”



















กำลังโหลดความคิดเห็น