แม้ช่วงไม่กี่ปีหลังที่ผ่านมากระแสปั่นจักรยานจะได้รับความนิยมอย่างสูงในเมืองไทย อย่างไรก็ตาม รถจักรยานที่ขายดิบขายดี คือสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนพาหนะ 2 ล้อสัญชาติไทยโดยผู้ผลิตไทยแท้ๆ นับวันการแข่งขันยิ่งยากลำบาก เพราะถูกบีบจากคู่แข่ง สินค้าจีนราคาถูก ส่วนตลาดบนยังไม่สามารถก้าวไปสร้างความเชื่อมั่นได้เท่าแบรนด์เนมระดับโลก
สถานการณ์ดังกล่าวนับเป็นความท้าทายของ “บริษัท เจเคซี ไบค์ อินดัสตรี จำกัด” โรงงานผู้ผลิตจักรยานเจ้าเก่าแก่ของเมืองไทยที่ยืนหยัดอยู่ในวงการมานานกว่า 50 ปี ในการปรับตัว สร้างกลยุทธ์ และการตลาดใหม่ๆ เพื่อจะถีบวงล้อธุรกิจให้หมุนเดินหน้าต่อไปได้
สมเกียรติ อนันต์สรรักษ์ เจ้าของและกรรมการผู้จัดการ เล่าว่า ผู้บุกเบิกธุรกิจนี้ที่แท้จริง คือคุณพ่อของเขา ตั้งแต่ประมาณ 55 ปีที่แล้ว โดยนำเข้าจักรยาน 3 ล้อ หรือที่เรียกกันว่า “ซาเล้ง” จากเวียดนาม เข้ามาขายในเมืองไทย ก่อนจะพัฒนาเป็นโรงงานผลิตรถซาเล้งแห่งแรกของไทย อยู่ย่านปทุมวัน ใช้แบรนด์ “นิวไลออน” และ “สแตนดาร์ด” ซึ่งถือเป็นเจ้าใหญ่ที่สุดของประเทศในเวลานั้น จนได้สมญาว่า “เจ้าพ่อซาเล้ง”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลในเวลานั้นมีนโยบายไม่ส่งเสริมการผลิตรถซาเล้ง และสามล้อถีบ เพราะเห็นว่ากีดขวางการจราจร และต้องการสร้างภาพลักษณ์ประเทศให้ดูมีอารยะ กระทบธุรกิจถึงขั้นเกือบล้มละลาย แต่ในที่สุดสามารถผ่านพ้นมรสุมมาได้ ด้วยการเปลี่ยนมาผลิตจักรยานแบบกุญแจคอ จักรยาน 28 รุ่นท้ายคู่ ซึ่งถือเป็นจักรยานที่ล้ำสมัยในเวลานั้น
“หลังจากไม่ได้ทำรถซาเล้ง 2-3 ปี คุณพ่อต้องไปขอยืมเงินจากคนใกล้ชิดมาทำจักรยานกุญแจคอแทน ประมาณ พ.ศ. 2515 ซึ่งตอนนั้นถือเป็นจักรยานที่หรูมาก ราคาคันละพันกว่าบาท ผมจำได้ว่าหลังจากทำออกมาจักรยานของเราขายดีจนทำไม่ทัน โดยใช้แบรนด์ว่า “จากัวร์” กับ “อีเกิ้ล”” สมเกียรติย้อนเส้นทางธุรกิจให้ฟัง
เจเคซี ไบค์ฯ ยุคเจน 2 ที่สมเกียรติเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้วเกิดการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง หันมาผลิตจักรยานเสือภูเขา และจักรยานเสือหมอบ ตามกระแสฮิตจากต่างประเทศ และอานิสงส์ที่ "ปรีดา จุลละมณฑล" ยอดนักปั่นจักรยานชื่อดังของไทย ไปสร้างชื่อในการแข่งขันระดับนานาชาติ รวมถึงย้ายโรงงานมาอยู่ย่านตลาดพลู เน้นทำจักรยานราคาประหยัดส่งขายตามจังหวัดติดชายแดน โดยเฉพาะแถบภาคอีสาน และประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้แบรนด์ เช่น เพรสซิเด้นท์ ทอร์นาโด้ และโกสต์ เป็นต้น ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องการทำสีกับสติกเกอร์ติดจักรยานที่สวยงาม รวมถึงยังรับจ้างผลิตจักรยานให้แก่แบรนด์อื่นๆ อีกจำนวนมาก
“ช่วงประมาณ พ.ศ. 2530-2535 ถือเป็นยุคทองของวงการผู้ผลิตจักรยานในเมืองไทย จากยุคบุกเบิกที่เราเป็นรายแรกๆของประเทศ แทบไม่มีคู่แข่งเลย พอมาถึงปี พ.ศ. 2530 มีโรงงานคู่แข่งเพิ่มเป็นกว่า 30 ราย รวมถึงยังมีสินค้านำเข้าอีกจำนวนมาก แต่เนื่องจากตลาดมันเติบโตมากๆ ทุกบ้านต้องมีจักรยานอย่างน้อย 1 คัน ทำให้ผู้ผลิตแทบทุกรายล้วนประสบความสำเร็จ” เขาเล่าช่วงเวลาหอมหวานของวงการจักรยานในเมืองไทย
ด้วยวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 แทบทุกธุรกิจในเมืองไทยล้วนได้รับผลกระทบ วงการผู้ผลิตจักรยานไทยก็เช่นกัน สมเกียรติระบุว่า เศรษฐกิจเวลานั้นค่อนข้างซบเซา ผู้ผลิตจักรยานแต่ละรายไม่ถึงขั้นตาย แต่ก็ไม่เติบโตมากนัก จนประมาณ พ.ศ. 2545 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง ส่งให้กิจการของเจเคซี ไบค์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าเก่าแก่มีเครือข่ายตัวแทนขายอยู่ทั่วประเทศ และมีพื้นฐานการผลิตพร้อมอยู่แล้ว กลับมาเติบโตสูงอีกครั้ง สามารถสร้างโรงงานแห่งใหม่ซึ่งอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ณ ย่านศาลายา บนเนื้อที่กว่า 3 ไร่ ใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวงการผลิตจักรยานของไทยไม่ได้เติบโตหวือหวามากนัก ปัจจัยหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว และที่สำคัญคือ การเข้ามาแย่งชิงตลาดของจักรยานนำเข้าจากต่างประเทศ ที่แบ่งเค้กไปได้ทุกกลุ่มตั้งแต่จักรยานราคาถูก จักรยานระดับกลาง ไปจนถึงระดับไฮเอนด์
สมเกียรติอธิบายเสริมว่า ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วจักรยานมือสองจากญี่ปุ่นเข้ามาชิงกลุ่มลูกค้าระดับกลางไป ส่วนตลาดล่างโดนจักรยานราคาถูกจากประเทศจีนขายตัดราคา ในขณะที่จักรยานไฮเอนด์ราคาแพง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากนักปั่นชาวไทยในขณะนี้ สินค้าที่ขายดีจริงๆ คือแบรนด์เนมนำเข้า เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น และประเทศแถบยุโรป ดังนั้น ในฐานะผู้ผลิตจักรยานสัญชาติไทยต้องปรับตัวทางธุรกิจอย่างมาก
“จักรยานหนึ่งคันประกอบด้วยอุปกรณ์กว่า 100 ชิ้นส่วน ทุกวันนี้โรงงานของผมผลิตเองแค่ประมาณ 10 ชิ้น เน้นอุปกรณ์สำคัญเกี่ยวกับเหล็ก เช่น ตัวถัง ตะเกียบ บังโคลน เป็นต้น ส่วนอุปกรณ์ที่เหลือนำเข้าจากจีนเพราะต้นทุนถูกกว่ามาก แต่เราจะคัดอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน วิธีนี้ช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตได้เยอะ” สมเกียรติเล่าวิธีการปรับตัว และกล่าวต่อว่า
แผนทางธุรกิจของเจเคซี ไบค์ฯ ช่วงหลังที่ผ่านมาจะนำเสนอว่า “จักรยานไม่ใช่เป็นเพียงแค่พาหนะเพื่อขับขี่เท่านั้น แต่สามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ด้วย” โดยนำจักรยานไปทำตลาดใหม่ๆ ประกอบด้วย จักรยานพรีเมียม เพื่อกิจกรรมซีเอสอาร์ให้องค์กรต่างๆ สั่งไปมอบเพื่อการกุศลต่างๆ จักรยานประยุกต์ ใช้เป็นสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ต่างๆ จักรยานนวัตกรรม มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และตอบตลาดคนรุ่นใหม่ ภายใต้แบรนด์ “ไอโคนิก” (iconic) จักรยาน "คัสโตไมซ์" ทำขึ้นตามคำสั่งของลูกค้าเฉพาะราย และจักรยานเพื่อตลาดลูกค้าเฉพาะเจาะจง เช่น จักรยานเพื่อคนพิการ คันแรกของประเทศไทย และจักรยานทำจากเฟรมไม้ไผ่ เป็นต้น
“ผมเริ่มทำจักรยานเพื่อตลาดซีเอสอาร์ และประชาสัมพันธ์เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว เพราะเห็นว่าเดิมองค์กรที่ต้องการสั่งจักรยานจำนวนมากไปบริจาค หากสั่งสินค้าของจีน ผู้รับยังไม่ทันขี่เลยรถมักมีปัญหาแล้ว แทนที่จะเสริมภาพลักษณ์องค์กรกลับโดนด่าแทน ผมเลยไปเสนอองค์กรเหล่านี้ว่าสามารถผลิตได้ในคุณภาพดีกว่า ในราคาที่สูงขึ้นไม่มาก เฉลี่ยคันละประมาณ 1,950 บาท แถมมีรับประกัน และบริการซ่อมหลังการขาย เมื่อแจกไปแล้วผู้รับใช้งานได้อย่างดี ย่อมช่วยเสริมภาพลักษณ์องค์กรที่แจกไปในตัว”
“ส่วนจักรยานเพื่อประชาสัมพันธ์ ชี้ให้บริษัทต่างๆ เห็นถึงความคุ้มค่าที่มากกว่าใช้โฆษณาวิธีอื่นๆ เพราะจักรยานสามารถเคลื่อนที่ไปได้ทุกหนแห่ง ซึ่งปัจจุบันจักรยานทั้งสองกลุ่มนี้สร้างรายได้ประมาณ 20% จากรายได้รวมของบริษัท” สมเกียรติเผย
ทั้งนี้ เขาฉายภาพรวมวงการผู้ผลิตจักรยานไทยในยุคปัจจุบัน จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1. โรงงานผลิตชิ้นส่วนจักรยานสำคัญบางชิ้น เช่น ตัวถัง ตะเกียบ เป็นต้น แล้วนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆ มาประกอบ ขายภายใต้แบรนด์ตัวเอง ควบคู่รับจ้างผลิต มีประมาณ 10 ราย ซึ่งเจเคซี ไบค์ฯ นับเป็นหนึ่งในผู้ผลิตกลุ่มนี้ 2. โรงงานต่อประกอบ โดยสั่งอุปกรณ์ทุกชิ้นจากแหล่งต่างๆ นำมาประกอบ แล้วสร้างแบรนด์ของตัวเอง มีอยู่ประมาณ 20 ราย และ 3. โรงงานครบวงจร สามารถทำได้เองทุกขั้นตอน ในเมืองไทยเหลือแค่ 3 รายเท่านั้น เนื่องจากต้องแบกต้นทุนธุรกิจสูงมาก
สมเกียรติเผยว่า ธุรกิจของเจเคซี ไบค์ฯ มีอัตราผลิตจักรยานประมาณ 25,000 คันต่อเดือน สัดส่วนรายได้จะมาจากขายภายใต้แบรนด์ต่างๆ ของตัวเอง ประมาณ 40% โดยมีหลากหลายแบรนด์ เช่น ไอโคนิก ไดโนเสาร์ ทอร์นาโด้ และโกสต์ เป็นต้น ครอบคลุมลูกค้าแตกต่างกันไป ราคาตั้งแต่ 1,500 บาทไปถึงหลักหมื่น ส่วนตลาดที่เหลือมาจากรับจ้างผลิต
ในยุคนี้ที่จักรยานไฮเอนด์ราคาแพงกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักปั่นชาวไทย เมื่อสอบถามว่าสนใจจะเป็นตัวแทนนำเข้าจักรยานกลุ่มนี้มาขายในเมืองไทยบ้างหรือไม่ เจ้าของกิจกรรมเจเคซี ไบค์ฯ ตอบว่า ได้ศึกษาตลาดนี้เช่นกัน แต่ยังไม่ต้องการลงทุน เนื่องจากการนำเข้าจักรยานไฮเอนด์ ผู้นำเข้าต้องจ่ายเงินสด รวมถึงต้องขายให้ได้ตามเป้าที่ผู้ผลิตกำหนด หากขายไม่หมดจะกลายเป็นสินค้าค้างสต๊อกที่ผู้นำเข้าต้องแบกภาระเอง และด้วยจำนวนผู้นำเข้าจักรยานแบรนด์เนมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างยิ่ง เกรงว่าตลาดใกล้จะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อไถ่ถามถึงประวัติส่วนตัวที่ต้องมารับช่วงธุรกิจนี้ สมเกียรติบอกว่า ในวัยเยาว์ เขาเกลียดการทำจักรยานมากๆ ไม่มีความชอบแม้แต่น้อย แต่ก็ต้องทำเพราะถูกพ่อบังคับให้ช่วยซ่อมจักรยานตั้งแต่เด็กๆ ส่วนการเรียนในระบบจบเพียงชั้น มศ.3 (เทียบเท่ามัธยมปีที่ 3 ในปัจจุบัน) ก็ต้องออกมาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพ ซึ่งการคลุกคลีอยู่กับจักรยานมาตั้งแต่จำความได้ แม้ในวัยเด็กจะไม่ชอบการทำจักรยานเลย แต่ปัจจุบันเขาบอกว่าสามารถทำจักรยานได้ทุกรูปแบบบนโลกนี้ ทั้งหมดเกิดจากการสะสมประสบการณ์ยาวนานตลอดชีวิต
สำหรับแผนธุรกิจในปีหน้า (2559) นั้น เขาบอกว่า ไม่ขยายกำลังผลิตเพิ่มแล้ว แถมลดกำลังผลิตแบบขายปลีกด้วยซ้ำ แล้วหันไปมุ่งขยายทำตลาดไปสู่ซีเอสอาร์ และประชาสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นตลาดใหม่ยังไม่มีคู่แข่งมากนัก รวมถึงสร้างสรรค์นวัตกรรมจักรยานเข้าสู่วงการ นอกจากนั้น บุตรชายทั้งสอง (ชัช อนันต์สรรักษ์ วัย 25 ปี และนพพงษ์ อนันต์สรรักษ์ วัย 23 ปี) เริ่มเข้ามาสานต่อธุรกิจ อาศัยความพร้อมด้านเครื่องจักร และช่างฝีมือ แตกไลน์ไปสู่การผลิตงานเหล็กอื่นๆ ในวงการอสังหาริมทรัพย์ และโครงการบ้านจัดสรรต่างๆ เช่น รั้วเหล็ก ประตูเหล็ก ราวบันได เป็นต้น
“ส่วนตัวผมมองแนวโน้มธุรกิจจักรยานในเมืองไทยว่า แม้จะไม่เติบโตสูง แต่จะยังคงอยู่ในตลาดได้ตลอดไป เพราะไม่ว่าสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวจะเปลี่ยนไปอย่างไร เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร คนก็ยังขี่จักรยานอยู่ดี แต่สิ่งสำคัญของผู้ประกอบการคือ ต้องหาตลาดที่เหมาะสมให้เจอ อย่างธุรกิจของผม ที่ผ่านมา 50 กว่าปีทำให้เห็นว่าตลาดมันเปลี่ยนแปลงไปมากจริงๆ ดังนั้น เราต้องเฝ้าติดตามแนวโน้มตลาดและพยายามปรับตัวให้ได้” สมเกียรติทิ้งท้าย
ด้วยประสบการณ์ยาวนานในวงการ ผ่านทั้งสุขและทุกข์มาโชกโชน หล่อหลอมให้เขาดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และพร้อมปรับตัวเสมอ ช่วยให้จักรยานเจ้าเก๋ารายนี้ยืนหยัดมาได้จนถึงปัจจุบัน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *