xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” กังขา กรธ.ลักลั่นอำนาจถอดถอนนักการเมือง แนะแก้ที่มาของ ส.ว.อิสระ-หลากหลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา (ภาพจากแฟ้ม)
รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ชี้ การตัดอำนาจถอดถอนนักการเมืองของ ส.ว. ในร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีสองสภาก็ได้ แต่กังขาใครจะถอดถอนคณะกรรมการในองค์กรอิสระ ย้ำความจำเป็นต้องมีสองสภา ชี้ ควรแก้ที่มาของ ส.ว. ให้อิสระและหลากหลายมากกว่า รวมทั้งคงอำนาจถอดถอนไว้ แจง สปท. เตรียมทำข้อเสนอปฏิรูปประเทศต้นเดือนหน้า

วันนี้ (22 พ.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะตัดอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทิ้ง แล้วไปให้ศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหน้าที่แทนนั้น ก็แสดงว่า ต่อไป ส.ว. ก็จะทำหน้าที่แค่กลั่นกรองร่างกฎหมายเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมี ส.ว. เหลือแค่ ส.ส. สภาเดียวก็ได้ ปัญหาคือ ถ้าโอนอำนาจถอดถอนจาก ส.ว. ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช. ทั้งหมด ใครและองค์กรใดจะทำหน้าที่ตรวจสอบถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเหล่านั้น รวมทั้งการสรรหาที่มาของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วยว่า จะมาจากกระบวนการแบบไหนถึงจะเป็นที่ยอมรับ

“กรธ. ตั้งโจทย์กระโดดไปกระโดดมา ไม่ได้มองทั้งระบบก่อน ทำให้การออกแบบระบบการเมืองอาจมีความแปลกแปล่งหรือลักลั่นกันได้ ผมยังเห็นความสำคัญและความจำเป็นของระบบสองสภา โดยให้วุฒิสภาเป็นสภาตรวจสอบถอดถอนนักการเมือง แต่ที่ผ่านมาถอดถอนนักการเมืองแทบไม่ได้เลย เพราะเสียงไม่ถึง 3 ใน 5 นั้น ก็อาจเป็นเพราะ ส.ว. ขาดความเป็นอิสระ ใช้เสียงมากไป และข้อกล่าวอาจไม่มีน้ำหนัก ฉะนั้นควรไปแก้ที่มา ส.ว. ให้มีความเป็นอิสระและหลากหลายมากขึ้น โดยใช้ระบบเลือกตั้งผ่านสาขาอาชีพ แทนการเลือกตั้ง หรือสรรหาแบบเดิม ที่กระจุกตัวอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม และทำให้ขั้นตอนกรรมาธิการหรือกระบวนการไต่สวนข้อกล่าวหาของ ส.ว. มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นกว่าเดิม

นายสุริยะใส กล่าวว่า อำนาจถอดถอนที่ริเริ่มโดยประชาชนเข้าชื่อกัน ควรจะคงไว้ทั้งการถอดถอนนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพราะเป็นการคงหลักการเลือกได้ก็ถอดได้ หรือเรียกอำนาจคืนได้โดยประชาชน เพื่อให้กระบวนทางการเมืองยึดโยงกับประชาชนไม่ใช่แค่ตอนเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องลดอุปสรรคและขั้นตอนในการรวบรวมรายชื่อที่ยุ่งยากลงด้วย ในส่วนของสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) มหาวิทยาลัยรังสิต กำลังจัดทำข้อเสนอปฏิรูปประเทศทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อเสนอต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ กรธ. โดยจะพิมพ์เป็นเล่มยื่นต่อแม่น้ำทั้ง 5 สายในต้นเดือนธันวาคมนี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น