xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” ชูระบบเลือกตั้งใหม่ทำพรรคเข้มแข็ง ปาร์ตีลิสต์ต้องขยันขึ้น ปัดแบนแพ้โหวตโนชั่วชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แจงนำคะแนนผู้แพ้ ส.ส. เขต มาคำนวณบัญชีรายชื่อ หวังให้ทุกคะแนนมีความหมาย เพื่อความเป็นธรรม ปัดทำพรรคอ่อนแอแต่ยิ่งเข้มแข็งขึ้น แต่ละภาคไม่เกิดการแบ่งแยก ทำผู้สมัครบัญชีรายชื่อลงพื้นที่ให้มากกว่าเดิม กระตุ้นให้คนไปใช้สิทธิ์ ลั่นไทยเป็นเอกราชคิดเองได้ไม่ต้องเหมือนสากล จ่อออกกลไกคุมโกง สับพวกพูดแพ้โหวตโนโดนแบนตลอดชีวิตบิดเบือน ยันไม่มีแนวคิด ชี้ ผลโหวตสะท้อนพรรคควรหาคนใหม่ แต่ยังไม่สรุป ระบุคนลงสมัครต้องสังกัดพรรค “ประพันธ์” ชูทำผู้สมัครปรับตัวโชว์นโยบายพรรคด้วย

วันนี้ (29 ต.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.20 น. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงทำความเข้าใจประเด็นระบบเลือกตั้ง ที่จะนำคะแนนของผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส. ในระบบเขต มาคำนวณเพื่อให้ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดจากการดูตัวเลขครั้งที่ผ่าน ๆ มา ที่ทุกฝ่ายต้องการให้ทุกคะแนนมีความหมาย เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าคะแนนหายไป กรธ. จึงหาหนทางให้ทุกคนที่ลงคะแนนได้รับการยอมรับ และเกิดความเป็นธรรม ให้สมกับการที่พูดกันว่าการเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตยต้องเคารพเสียงประชาชน ซึ่งทั่วโลกก็คิดแบบนี้ และจัดระบบการเลือกตั้งให้มีทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ เชื่อว่า แต่ละพรรคต้องเลือกคนดีมาลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะคนเลือกจะดูว่าพรรคให้เกียรติคนเลือกมากแค่ไหน จะได้ไม่มีคำพูดว่าส่งเสาโทรเลขลงไปก็ชนะ

นายมีชัย กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งดังกล่าวจะไม่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่จะยิ่งทำให้เข้มแข็งมากขึ้น เพราะทั้งพรรคกับคนต้องไปด้วยกัน ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นที่แต่ละภาคเป็นของพรรคนั้นพรรคนี้ก็จะไม่เป็นเช่นนั้นอีก จะไม่เกิดการแบ่งแยก และจะไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งระบบนี้ กรธ. นึกถึงประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ได้คำนึงว่าพรรคใดได้เปรียบเสียเปรียบ โดยพรรคต้องพยายามทำให้เกิดความนิยมเอง บรรดาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ จากเดิมที่อยู่เฉย ๆ ก็ต้องลงไปช่วยหาเสียงทำให้ใกล้ชิดประชาชนมากกว่าเดิม อีกทั้งยังเป็นการประตุ้นให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ เพราะที่ผ่านมาคนเคยคิดว่าเขตนี้พรรคที่ชอบสู้ไม่ได้ก็ไม่ออกไปใช้สิทธิ์ แต่ระบบใหม่ทุกะคะแนนมีความหมายทำให้คนอยากออกไปใช้สิทธิ์ ส่วนที่กลัวว่าระบบนี้จะไม่เป็นสากลนั้น เราเป็นประเทศเอกราชมีสิทธิ์คิดอะไรได้เองเหมือนกัน โดยอาจจะเหมือนหรือไม่เหมือนสากลก็ได้ ทั้งนี้ หวังว่า ระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะช่วยให้การทุจริตน้อยลง รวมถึง กรธ. จะสร้างกลไกอื่นเพื่อควบคุมการทุจริตเลือกตั้งควบคู่ไปด้วย และประชาชนต้องช่วยกันดูไม่ให้คะแนนเสียงมีค่าน้อยลง หรือเพิ่มขึ้นแบบผิดปกติ

นายมีชัย กล่าวถึงกรณีที่มีการพูดว่าคนแพ้โหวตโนจะลงสมัครเลือกตั้งไม่ได้ตลอดชีวิต ว่า เป็นการบิดเบือน หลอกลวงประชาชนทำให้ดูร้ายแรง กรธ. ไม่ได้คิดเช่นนั้น การที่ประชาชนลงคะแนนโหวตโน แปลว่าเขาเห็นว่าคนที่มาลงสมัครไม่ได้เรื่องสักคน ซึ่งเป็นการบอกให้พรรครู้ว่าประชาชนไม่ถูกใจต้องหาคนใหม่ กรธ. เพียงแต่คิดว่าเมื่อไม่มีใครได้รับเลือกตั้งในครั้งนั้น การจัดเลือกตั้งใหม่ผู้สมัครเดิมจะยังควรมีสิทธิ์ลงสมัครในครั้งนั้นหรือไม่ หรือควรกำหนดให้พรรคต้องส่งคนใหม่ลง ส่วนคนเดิมไปลงสมัครครั้งต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่สรุปแน่นอน แต่ กรธ. ไม่มีแนวคิดตัดสิทธิ์ตลอดชีวิตของคนที่แพ้โหวตโน ซึ่งแตกต่างกับคนทุจริตซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่าควรที่จะใช้คุณสมบัติเดียวกันกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งอีกต่อไป ส่วนกรณีที่ผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้น กรธ. กำลังพิจารณาว่าจะตัดสิทธิ์ขนาดไหน นอกจากนี้ แนวโน้มของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เบื้องต้น กรธ. เห็นว่า ยังต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน ลดการซื้อขายเสียงในสภา ส่วนที่กังวลว่าพรรคเล็กอาจเสียเปรียบ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าพรรคเล็กส่งไม่ครบทุกเขตก็ต้องได้คะแนนตามที่เขาส่ง แต่ถ้าจะให้ได้คะแนนเสียงในเขตที่ไม่ได้ส่ง ก็จะไม่เป็นธรรมกับพรรคใหญ่ ทั้งนี้ ภายใน 1 - 2 สัปดาห์ น่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง

ด้าน นายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. ในฐานะประธานอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างด้านนิติบัญญัติ กล่าวว่า เราได้ศึกษา และวิเคราะห์ระบบเลือกตั้งจากทั่วโลกใช้กันอยู่ พบว่า แนวคิดของเราเป็นระบบเลือกตั้งแบบผสมคู่ขนานประเภทหนึ่ง ที่เข้ากับวิถีคนไทยที่ใช้กันมาไม่ขัดหลักสากล ซึ่ง ส.ส. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน วิธีการไม่ซับซ้อน กาบัตรเพียงใบเดียว และพยายามให้ทุกคะแนนมีความหมายไม่สูญเปล่า นอกจากนี้ ยังทำให้คนที่ลงสมัคร ส.ส. เขต ต้องปรับตัวจากเดิมที่เคยนำเสนอแต่ตัวเองก็ต้องนำเสนอนโยบายพรรคด้วย กรณีที่ตัวเองไม่ได้เป็น ส.ส. เขต แต่พรรคก็ยังได้คะแนน ทั้งนี้ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะมีรัฐบาลเดี่ยวหรือรัฐบาลผสม แต่ไม่มีระบบการเลือกตั้งไหนที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งระบบที่ กรธ. นำเสนอเป็นแนวคิดหนึ่ง หากใครมีแนวคิดที่ดีก็ส่งมา กรธ. พร้อมรับฟัง และนำไปปรับแก้ให้ดีขึ้น






กำลังโหลดความคิดเห็น