xs
xsm
sm
md
lg

สรุปวิธีเลือกตั้ง เอาคะแนนผู้แพ้ ส.ส.เขต ไปลุ้นบัญชีรายชื่อ - แพ้โหวตโนลงสมัครใหม่ไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประชุมโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ ชี้ หลักสำคัญเลือกตั้ง ส.ส. ต้องโหวตตรง ระบบไม่ซับซ้อน ทำให้ทุกคะแนนมีความหมายไม่สูญเปล่า ส่งเสริมคนมาใช้สิทธิ์ เข้ากับวิธีคนไทยไม่ขัดสากล สรุปใช้เอาคะแนนผู้แพ้ไปรวมหาแล้วคำนวณเป็นยอด ส.ส. บัญชีรายชื่อ ถ้าผู้สมัครแพ้คะแนนโหวตโนสมัครลงเขตเดิมไม่ได้อีก พร้อมให้อำนาจ กกต. สั่งเลือกตั้งใหม่ได้ แต่ใบแดงเป็นเรื่องของศาล

วันนี้ (26 ต.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาเรื่องระบบการเลือกตั้ง โดยก่อนเข้าสู่การพิจารณาในรายละเอียด นายประพันธ์ นัยโกวิท ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติได้นำเสนอผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการ มีสาระสำคัญพอสังเขป ดังนี้ ระบบการเลือกตั้งทั่วโลกพบว่ามีหลายรูปแบบ แต่จะพบว่าจะระบบการเลือกตั้งที่เป็นหลักอยู่ 3 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบคะแนนนำเสียงข้างมาก คือ ให้คนที่ได้รับคะแนนมากที่สุดได้เป็น ส.ส. 2. ระบบสัดส่วน เอาคะแนนทุกคะแนนที่ประชาชนลงให้มาคำนวณหาจำนวน ส.ส. ซึ่งมีผลเสียตรงที่จะทำให้ไม่มี ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้ง และ 3. การนำเอาทั้งระบบมาผสมกัน คือ ให้มีการเลือกตั้งทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ

ต่อมาที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดหลักการ 4 ประการสำคัญ เพื่อให้เป็นกรอบการพิจารณาเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งในอนาคต ประกอบด้วย 1. ส.ส. ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง 2. ระบบการเลือกตั้งไม่ควรซับซ้อน ประชาชนเข้าใจง่าย 3. เพื่อเป็นการเคารพประชาชนที่ลงคะแนน จึงพยายามทำให้คะแนนเลือกตั้งที่ประชาชนให้ทุกคะแนนมีความหมาย ไม่ว่าจะลงคะแนนให้ใคร คะแนนเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ควรสูญเปล่า 4. เป็นระบบเลือกตั้งที่ส่งเสริมให้ประชาชนสนใจออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และ 5. เข้ากับบริบทหรือวิถีชีวิตของคนไทยโดยไม่ขัดหลักสากล

ภายหลังจากได้กำหนดหลักการดังกล่าว ที่ประชุม กรธ. มีข้อสรุปเรื่องระบบการเลือกตั้ง ว่า จะใช้ระบบการเลือกตั้งที่กำหนดให้เอาคะแนนของผู้สมัคร ส.ส. ที่ไม่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้ง ไปคำนวนหาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยประชาชนจะลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงหนึ่งใบ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการยกตัวอย่าง ว่า สมมติเขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 5 พรรค หากพรรค ก. ได้รับคะแนนสูงสุดให้ถือว่าผู้สมัครพรรคนั้นได้เป็น ส.ส. ทันที แต่ให้เอาคะแนนของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครไม่ได้รับเลือกตั้งจำนวน 4 พรรคไปคำนวณเพื่อหาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคต่อไป ขณะที่คะแนนของพรรคที่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. เขต แล้วจะไม่ถูกนำมาคำนวณหาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก

ขณะเดียวกัน คณะ กรธ. ยังได้ร่วมกันหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในทางการเมืองผ่านการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งมีคณะ กรธ. ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่า บุคคลที่จะได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. จะต้องมีคะแนนมากกว่าคะแนนของผู้ที่มาใช้สิทธิ์ไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือโหวตโน โดยที่บุคคลนั้นจะไม่มีสิทธิกลับมาลงสมัครอีก เนื่องจากการแพ้คะแนนโหวตโน ย่อมหมายความว่าประชาชนได้ปฏิเสธบุคคลดังกล่าวแล้ว

จากนั้น กรธ. ได้พิจารณาไปถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีแนวคิดในเบื้องต้นว่าภายหลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ไปแล้ว กกต. ยังมีอำนาจสั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ แต่หากเป็นกรณีทีของการให้ใบแดง เพื่อตัดสิทธิทางการเมืองฐานทุจริตการเลือกตั้งจะต้องเป็นหน้าที่ของศาล โดยให้ศาลพิจารณาคดีโดยยึดสำนวนของ กกต. เป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น