xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.ปรับกติกาเลือกตั้งส.ส. ยังอุบนายกฯคนนอก-คปป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรธ.ออกแบบกติกา การเลือกตั้งส.ส.ใหม่ กาเบอร์เดียวได้ส.ส.เขต ส่วนคะแนนผู้แพ้ นำไปคำนวณเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อได้ "มีชัย" เผยยังไม่ถึงเวลาพิจารณาเรื่องนายกฯคนนอก และ คปป. และไม่ยืนยันจะมีหรือไม่ ด้านประธาน สปท. ย้ำสมาชิกร่วมหารือแม่น้ำ 5 สาย อย่างพร้อมเพรียง "วิษณุ" เผยประชุมแม่น้ำ 5 สาย เรียกปลัดกระทรวง รับฟังแนวทางปฏิรูปด้วย ย้ำหากปรองดองไม่เกิด ก็ยังเลือกตั้งไม่ได้

วานนี้ (26 ต.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กรธ. ยืนยัน ไม่มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นนายกรัฐมนตรีคนนอก และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ตามที่มีกระเเสข่าว แต่ไม่ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าว จะมีในรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต การพิจารณายังไปไม่ถึงเรื่องนี้

ส่วนการรับฟังความคิดเห็นภาคส่วนต่างๆ นายมีชัย กล่าวว่า ตนได้หารือกับประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถึงการลงพื้นที่พบปะประชาชนร่วมกับแม่น้ำทั้ง 4 สาย รวมถึงการรับฟังความเห็นจากทุกช่อง ซึ่งในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ทาง สปท. จะเสนอความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญให้ กรธ.ได้รับฟัง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา เพื่อให้ร่างแรกเสร็จทันกำหนดเดือน ม.ค.59 และทาง กรธ.จะตามติด สปท. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชน เพราะมีเครือข่ายกว้างขวาง และขอยืนยันว่า ไม่ได้ปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารการร่างรัฐธรรมนูญต่อสื่อมวลชน เพราะมีการแจ้งความคืบหน้าทุกครั้ง

ปรับกติกาเลือกตั้งส.ส.ใหม่

ทั้งนี้ ในการประชุมกรธ. เมื่อวานนี้ ได้มีการพิจารณาเรื่อง ระบบการเลือกตั้งโดยก่อนเข้าสู่การพิจารณาในรายละเอียด นายประพันธ์ นัยโกวิท ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ ได้นำเสนอผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ ที่มีสาระสำคัญ ดังนี้

ระบบการเลือกตั้งทั่วโลกมีหลายรูปแบบ แต่จะมีระบบการเลือกตั้งที่เป็นหลักอยู่ 3 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบคะแนนนำเสียงข้างมาก คือ ให้คนที่ได้รับคะแนนมากที่สุดได้เป็น ส.ส. 2. ระบบสัดส่วน เอาคะแนนทุกคะแนนที่ประชาชนลงให้มาคำนวณหาจำนวนส.ส. ซึ่งมีผลเสียตรงที่จะทำให้ไม่มีส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง และ 3. การนำเอาทั้งระบบมาผสมกัน คือ ให้มีการเลือกตั้งทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ

ต่อมาที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดหลักการ 4 ประการสำคัญ เพื่อให้เป็นกรอบการพิจารณาเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งในอนาคต ประกอบด้วย 1. ส.ส.ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง 2. ระบบการเลือกตั้งไม่ควรซับซ้อน ประชาชนเข้าใจง่าย 3. เพื่อเป็นการเคารพประชาชนที่ลงคะแนน จึงพยายามทำให้คะแนนเลือกตั้งที่ประชาชนให้ทุกคะแนนมีความหมาย ไม่ว่าจะลงคะแนนให้ใคร คะแนนเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ควรสูญเปล่า 4. เป็นระบบเลือกตั้งที่ส่งเสริมให้ประชาชนสนใจออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และ 5. เข้ากับบริบท หรือวิถีชีวิตของคนไทย โดยไม่ขัดหลักสากล

ภายหลังจากได้กำหนดหลักการดังกล่าว ที่ประชุม กรธ. มีข้อสรุปเรื่องระบบการเลือกตั้ง ว่า จะใช้ระบบการเลือกตั้งที่กำหนดให้เอาคะแนนของผู้สมัครส.ส. ที่ไม่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง ไปคำนวนหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยประชาชนจะลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงหนึ่งใบ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการยกตัวอย่างว่า สมมติเขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้สมัคร ส.ส.จำนวน 5 พรรค หากพรรค ก.ได้รับคะแนนสูงสุด ให้ถือว่าผู้สมัครพรรคนั้นได้เป็น ส.ส.ทันที แต่ให้เอาคะแนนของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครไม่ได้รับเลือกตั้งจำนวน 4 พรรค ไปคำนวนเพื่อหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคต่อไป ขณะที่ คะแนนของพรรคที่ได้รับเลือกให้เป็นส.ส.เขตแล้ว จะไม่ถูกนำมาคำนวนหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก

ขณะเดียวกัน คณะกรธ. ยังได้ร่วมกันหาแนวทางว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในทางการเมืองผ่านการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่ง กรธ.ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า บุคคลที่จะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นส.ส. จะต้องมีคะแนนมากกว่า คะแนนของผู้ที่มาใช้สิทธิ์ไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือโหวตโน โดยที่บุคคลนั้น จะไม่มีสิทธิกลับมาลงสมัครอีก เนื่องจากการแพ้คะแนนโหวตโน ย่อมหมายความว่า ประชาชนได้ปฏิเสธบุคคลดังกล่าวแล้ว

จากนั้น กรธ.ได้พิจารณาไปถึงอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีแนวคิดในเบื้องต้นว่า ภายหลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.ไปแล้ว กกต. ยังมีอำนาจสั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ แต่หากเป็นกรณีของการให้ใบแดง เพื่อตัดสิทธิทางการเมืองฐานทุจริตการเลือกตั้ง จะต้องเป็นหน้าที่ของศาล โดยให้ศาลพิจารณาคดี โดยยึดสำนวนของกกต. เป็นหลัก

ปลัดกระทรวงร่วมถกแม่น้ำ 5 สาย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ ว่า ในการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ต้องการพูดคุยถึงแนวทางปฏิรูป ให้กับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) เพราะยังไม่เคยพูดคุยกัน รวมถึงพูดถึงโรดแมปของรัฐบาลด้วย ขณะที่แม่น้ำสายอื่นๆ เคยพบกันมาหลายครั้งแล้ว และในการประชุมนั้น นายกฯจะเปิดโอกาสให้มีการสอบถามได้ด้วย

ทั้งนี้ นอกจากแม่น้ำ 5 สายแล้ว ยังจะเชิญปลัดกระทรวง และหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าเข้าร่วมประชุมด้วย เนื่องจากปีนี้ มีการแต่งตั้งข้าราชการระดับ ซี 11 เกือบ 20 คน จะได้ถือเป็นโอกาสรับฟังการปฏิรูปประเทศไปด้วย โดยการประชุมดังกล่าว จะเริ่มตั้งแต่ 09.30-12.00 น. จะมีการถ่ายทอดการประชุมผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์เหมือนการประชุมสภาทั่วไป แต่การจะอภิปรายในเรื่องต่างๆ คงต้องจัดสรรเวลากัน ส่วนจะมีการกำหนดกรอบเวลาในการปฏิรูปของสปท. หรือไม่นั้น คงต้องรอให้นายกฯ พูดในวันดังกล่าวก่อน แต่ถึงอย่างไร สปท.ก็ต้องทำตามแนวทางที่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) วางกรอบไว้ ไม่ทำอะไรมากกว่านั้น และจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง เพื่อให้แล้วเสร็จตามสูตร 1+1+18 ของ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. ซึ่งเป็นสูตรที่รัฐบาลเห็นด้วย

ไม่ปรองดอง เลือกตั้งไม่เกิด

เมื่อถามว่า ความเห็นรัฐบาล งานของ สปท. จะต้องเสร็จก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เริ่มก่อน แต่ไม่เสร็จก่อน เพราะเป็นไปไม่ได้ การปฏิรูปต้องใช้เวลา ส่วนในเรื่องการปรองดอง จำเป็นต้องเสร็จก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ควรจะเสร็จในระดับหนึ่ง เพื่อให้จัดการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลให้เรียบร้อยไปได้สักระยะหนึ่ง แล้วให้รัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่องานปฏิรูป และปรองดอง แต่ถ้ามีเค้าว่าการปรองดองไม่สำเร็จเลย ก็ยากที่จะจัดการเลือกตั้งได้

" ที่ว่ายากไม่มีนัยยะอะไร ทุกคนรู้อยู่แก่ใจ ถ้ายังไม่ปรองดองกันบ้างสักระดับหนึ่ง เช่น เห็นแตกต่างอยู่กับบ้านได้ แต่ไม่ถึงขนาดออกมาใส่เสื้อสีตะลุมบอน ตีรันฟันแทง ปิดทำเนียบฯ ปิดสนามบิน ยึดสถานที่ราชการ หรือลงหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้ อย่างนั้นคงจัดการเลือกตั้งไม่ได้ เรื่องนี้ใครๆ ก็รู้ ซึ่งตัวชี้วัดทุกคนจะรู้กันเอง เพราะเป็นเรื่องของวิญญูชนที่รู้กันได้โดยไม่ต้องให้ใครมาชี้แนะ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บางทีนักการเมืองจะมีส่วนชัดเจนกว่าคนอื่น เพราะเขาต้องทำกิจกรรม หากเขาบอกว่าไม่เอาด้วย หาเสียงไม่ได้ เลือกไปก็โมฆะ อย่างนั้นแปลว่าไม่ปรองดอง " นายวิษณุ กล่าว

กำชับ สปท.ร่วมประชุมแม่น้ำ 5 สาย

ในวันเดียวกันนี้ มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ชี้แจงสมาชิกสปท. ทุกคนจะต้องร่วมมือกันเพื่อทำงานกับแม่น้ำ 5 สาย ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ จึงขอให้ทุกคนมาร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียงด้วย และ วาระที่ สปท. เสนอ ทั้ง 37 วาระ ซึ่งได้เข้าคณะรัฐมนตรีทั้งหมดแล้ว และได้ส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ

ร.อ.ทินพันธุ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ การทำงานของสปท. จะต้องมีการติดต่อประสานงานกับแม่น้ำสายต่างๆ เพื่อให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเงื่อนเวลา และทิศทางการปฏิรูปประเทศ ที่จะต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาผลงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ได้มีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไปแล้ว ซึ่ง ครม.ก็ได้มีมติออกมาหลายเรื่อง และได้ส่งไปให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสนอความเห็นกลับมาว่า ถ้าจะปฏิรูป และแก้ไขปัญหาต่างๆ จะต้องดำเนินการอย่างไร มิเช่นนั้นอาจเกิดความขัดแย้งกันได้ เพราะแนวทางปฏิรูปกับการปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ อาจไม่สอดคล้องกัน ดังนั้น การจะดำเนินการในเรื่องต่างๆ จึงต้องระมัดระวัง

ทั้งนี้ ตนได้ประสานงานกับ ครม.ไปแล้วว่า ต่อไปนี้การทำงานต้องสอดคล้องกัน โดยองค์กรหลักทั้ง 4 สาย ประกอบด้วย ครม.- สปท. -สนช. และ กรธ. จะลงพื้นที่หาข้อมูลรับฟังความเห็นของประชาชนไปพร้อมกัน เพื่อเป็นการประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณ และการทำงานจะได้ไม่เกิดซ้ำซ้อนกัน ดังนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการประสานร่วมกันของ 4 องค์กร หรือ วิปฯ ขึ้นมา เพื่อประสานทำงานให้สอดคล้องกัน ส่วนการทำงานระหว่าง สปท. กับ กรธ.นั้น ล่าสุด ทาง กรธ.ก็ได้มีการชี้แจงถึงกรอบการทำงานแล้ว ซึ่ง สปท. จะเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญเป็นภาพรวมให้กับ กรธ.ในโอกาสต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น