xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ชี้โยนคะแนนผู้ชนะ ส.ส.เขตทิ้งไม่นำมานับระบบปาร์ตี้ลีสต์ ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” ชม กรธ.ตั้งโจทย์ให้ความสำคัญกับเจตนารมย์ของประชาชนไม่โยนคะแนนทิ้ง แต่การไม่นำคะแนนผู้ชนะ ส.ส.เขตมานับระบบปาร์ตี้ลีสต์ ไม่สะท้อนความต้องการของผู้ใช้สิทธิจริง แถมเปิดทางให้มีพรรคนอมินี และยังซื้อเสียงหนักกว่าเดิม ระบุใช้แบบเยอรมันจะดีกว่า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัสหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) วางแนวทางระบบเลือกตั้งว่า การตั้งโจทย์ 3 ประเด็น คือ 1.ทำให้การเลือกตั้งที่ให้ความสำคัญกับเจตนารมณ์ของประชาชนไม่โยนคะแนนทิ้ง 2. เป็นการเลือกตั้งที่จะหาทางในการที่จะช่วยลดการทุจริต การซื้อเสียง 3.เป็นการเลือกตั้งที่ไม่นำไปสู่ความแตกแยกจนเกินไป ถือเป็นหลักการที่ดี เพียงแต่ยังมองว่าระบบที่ได้ข้อสรุปเบื้องต้นที่ออกมานั้นหากจะให้ได้ตอบดังกล่าว กรธ.อาจจะต้องมาทบทวนปรับแก้หรือไม่ เช่น การไม่โยนคะแนนทิ้ง ตนมองว่าหากเทียบกับที่เคยมีข้อเสนอเกี่ยวกับระบบเยอรมัน ตนว่าระบบเยอรมันมีความชัดเจนกว่าในแง่ของการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะระบบเลือกตั้งก็คือการหากลไกมาค้นหาเจตนารมณ์ของประชาชน

การบอกว่าเอาคะแนนของคนแพ้ไม่เอาคะแนนของคนชนะมานับนั้นทำให้เกิดการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนเช่นกัน และอาจจะสร้างปัญหาได้ เช่นพรรค ก.ชนะทุกเขตเลือกตั้งก็แปลว่าจะไม่มี สส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว เพราะว่าได้แบบเขตไปแล้วหรือไม่

“เขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองได้รับความนิยมสูง เช่นเพื่อไทยในอีสาน ประชาธิปัตย์ในภาคใต้ คนชนะอาจจะได้ 7 - 8 หมื่นคะแนน คนที่แพ้ หมื่นคะแนน หรือสองหมื่น รวมกันแล้ว ในเขตนั้นคะแนน 8 หมื่นถูกทิ้งไปเลยในการจะใช้เกี่ยวกับระบบบัญชีรายชื่อ คำถามคือทำไม มันอาจจะมีแนวโน้มการทำพรรคพันธมิตร พรรคสาขา พรรคอะไรเพิ่มขึ้นมา สมมติว่าคนที่ชนะมี 8 หมื่น ถ้าเขาไม่ทำอย่างนี้ 8 หมื่นของเขาคะแนนมันเสียไป มันได้ สส. คนเดียว แต่ถ้าเขาบอกว่า เขตนี้อย่างไรเขาชนะอยู่แล้ว เขาไปหาพรรคสาขา พรรคพันธมิตร 2 คนเรียกว่าสู้กันเต็มที่ตกลงกันไม่ได้ ได้คนละ 4 หมื่น เขาได้ส.ส.เขตด้วย และยังได้อีก 4 หมื่นคะแนนไปคำนวนบัญชีรายชื่อของฝ่ายเขา ผมเห็นว่าระบบยังไม่รัดกุมพอ ตนไม่ขัดข้องกับตัวหลักการ แต่ลองเทียบดูว่าระหว่างการบอกไม่เอาคะแนนคนชนะไปรวมเลย กับเอาระบบเยอรมันอะไรมันจะสะท้อนเจตนารมณ์กว่ากัน”

ส่วนที่อยากให้ประชาชนกาใบเดียว แต่ความจริงการกา 2ใบมันไม่ได้ซับซ้อน และประชาชนก็ชินมาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่สำคัญคือเวลากาใบเดียวนั้น การค้นหาเจตนารมณ์ประชาชนมันยากขึ้น เพราะประชาชนเลือกผู้สมัครเขตก็ไม่ได้หมายความว่าเลือกพรรคด้วย แต่หากเป็นระบบแบบเยอรมัน หากเลือกพรรค คะแนนก็จะไปกำหนดสัดส่วนในสภาถือเป็นเจตนารมณ์ประชาชนที่ชัดเจน

ส่วนการแกปัญหาการซื้อเสียงที่รุนแรงมากนั้นมักจะซื้อเสียงผ่านระบบเขต ส่วนระบบบัญชีนั้นค่อนข้างยาก ปัญหาคือหากให้มีการเลือกตั้งใบเดียว พอคะแนนผู้ชนะถูกทิ้งไปด้วย ก็จะทำให้มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง กรธ.ก็ต้องคิดว่าจะต้องปรับอย่างไร

“อย่างไรก็ตามการตั้งโจทย์ของกรรมการนั้นดีแล้ว ระบบที่ออกมาก็ไม่ได้ถือว่ารับไม่ได้เสียทีเดียวแต่ว่ามันน่าจะต้องปรับแก้ในรายละเอียด ทบทวนให้ดีว่าให้ลงคะแนนเพียงหนึ่งใบดีจริงหรือไม่ คะแนนที่จะนับควรจะนับคะแนนคนชนะด้วยหรือไม่ และจะป้องกันการซื้อเสียงการมีพรรคนอมินีอะไรอย่างไร การทำงานของ กรธ.ถือว่าดีแล้ว มีการเสนอหลักการมาก่อน แล้วมาถกเถียงกันด้วยเหตุผลเพื่อหาจุดที่ดีที่สุด”


กำลังโหลดความคิดเห็น