“อภิสิทธิ์” มองร่าง รธน.เสรีภาพถดถอยกว่าปี 50 แก้ รธน.ยาก แต่ชมปราบโกง คาดต้น เม.ย.พรรคถึงพิจารณาได้ จี้ คสช.มีความชัดเจนหาก ปชช.ไม่รับร่าง อย่าตัดสินบนความไม่แน่นอน หวั่น ส.ว.มีช่องล้างผิด ควรแกะรหัสให้ครบ ปฏิรูปใน กม.ลูกต้องดูกระทบงานรัฐหรือไม่ ย้ำไม่ต้องให้ประชามตินำสู่ความขัดแย้ง ไม่เข้าใจทำไมต้องเปิดช่องนายกฯ คนนอก ย้ำเห็นต่างต้องแสดงความเห็นได้ เพราะวันข้างหน้าไม่มีวิธีพิเศษแบบนี้
วันนี้ (30 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญว่า มองในมุมของสิทธิเสรีภาพของเรื่องประชาธิปไตย ถดถอยจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ในบทเฉพาะกาลทำให้เกิดความไม่แน่นอนในแง่ของบทบาทหน้าที่ของทาง ส.ว.ที่จะไปรับไม้ต่อจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นจุดอ่อนที่ชัดเจนที่สำคัญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ค่อนข้างยาก แต่ส่วนที่ดีก็พอยังมีอยู่บ้าง เช่น มาตรการปราบโกง มีความพยายามที่จะใส่กลไกป้องกันบางเหตุการณ์ไม่ให้เกิดขึ้น ทางพรรคสนับสนุน ถือว่าใช้ได้ สรุปคือการพิจารณาของสมาชิกพรรคในขั้นต่อไปนั้นจะต้องประกอบกับเรื่องของสถานการณ์ทางการเมืองด้วย โดยเป้าหมายสุดท้ายของพรรคต้องการให้ประเทศเดินหน้าได้ โดยเดินไปสู่ประชาธิปไตยที่มีความยั่งยืน ที่เป็นเส้นทางอื่นไปไม่ได้ แต่ก็ต้องไปดูปัจจัยอื่นๆ ที่มันเกี่ยวข้องส่วนการกำหนดท่าทีต่อประชามติ คาดว่าประมาณต้นเดือนเมษายนนี้น่าจะกำหนดได้
“อยากจะให้ทางคสช.มีความชัดเจนว่าในกรณีที่ประชาชนไม่รับ จะมีกระบวนการอย่างไรที่จะเอาอะไรเข้ามาแทน เจ้าของประเทศทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรู้ ไม่ใช่ไปตัดสินใจบนพื้นฐานของความไม่แน่นอน และยิ่งหากเป็นการตัดสินใจบนความไม่แน่นอน ผมเกรงว่าการตัดสินใจทั้งหมดจะเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่าเนื้อหาสาระ ปมความขัดแย้งจะคลี่คลายลงได้ถ้ามีทางเลือกที่ชัดเจนสำหรับประชาชนว่ามันคืออะไร” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ส่วนมาตรา 271 ในบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ในการพิจารณากฎหมายที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรม ที่อาจเปิดช่องทั้งรับหรือไม่รับในเรื่องนิรโทษกรรม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตรงนี้ควรที่จะต้องแกะรหัสให้ครบถ้วน เพราะบางทีการเขียนด้วยเจตนาอย่างหนึ่ง แต่พอถึงเวลาจริงอาจจะไปอีกอย่าง ตนเข้าใจเจตนาของคนเขียนว่า เกรงว่าคนไปทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวรการยุติธรรม นิรโทษกรรม แต่หากสถานการณ์พลิกผันจะไปทำก็ได้ ดังนั้นควรดูให้ครบถ้วน ส่วนในเรื่องการปฏิรูปก็ยังเป็นอีกปัญหา เพราะหลายอย่างจะไปอยู่ในกฎหมายลูก คือ กฎหมายปฏิรูป และกฎหมายยุทธศาสตร์ด้วย ซึ่งต้องไปดูว่ากระทบและเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน
ส่วนการเปิดช่องนายกฯ คนนอก หรือให้ผู้นำเหล่าทัพเป็น ส.ว.สรรหาถึง 6 ตำแหน่ง นายอภิสิทธิ์มองว่าเป็นความถดถอย และผลกระทบที่จะเกิดในการทำประชามติ คือ หากเส้นทางไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วเกิดปัญหาความขัดแย้งจะรุนแรงมาก ซึ่งกลุ่มที่แสดงท่าทีไม่รับเริ่มเอาเรื่องการเมืองเข้ามาผสมแล้ว เราไม่ต้องการให้การทำประชามตินำไปเป็นเงื่อนไขที่จะสร้างความขัดแย้งทางการเมืองอีก ฉะนั้นต้องระมัดระวังว่า และชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะเป้าหมายคือทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าในแนวทางประชาธิปไตยที่ยั่งยืน
“ผมไม่เข้าใจว่ามีเหตุอะไรที่จะทำให้เลือกนายกฯ คนนอก อะไรคือเหตุที่จะต้องมีนายกฯ คนนอก การเปิดช่องตรงนี้เท่ากับเปิดโอกาสให้มีการต่อรองของพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางกรณีที่ไม่ใครได้เสียงข้างมาก ซึ่งพรรคการเมืองต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเรื่องคนนอกจะเอาอย่างไร”
นายอภิสิทธิ์ยังเตือนคนที่เกี่ยวข้องในการทำประชามติว่า ต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม และแสดงความเห็นแตกต่างได้ หากปิดกั้นก็จะเสียงบประมาณ ไม่ได้สามารถสร้างความคุ้มกันได้ หรือสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญ หากรัฐธรรมนูญผ่านบนความกังขาของคนว่าประชามติเที่ยงธรรมหรือไม่ ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัญหา ดังนั้น คสช.ควรรับฟังปัญหาที่แตกต่าง หากใครแสดงความคิดเห็นเพื่อป่วนหรือกระทบต่อความมั่นคงก็ทำเดินการตามกฎหมาย ที่ผ่านมาคนที่ถูกไปปรับทัศนคติ ก็ไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลง หากถูกมองเป็นการข่มขู่ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อเรากำลังเดินเข้าสู่โรดแมป ในช่วงที่บ้านเมืองสู่ความเป็นปกติบนระบอบประชาธิปไตย ยิ่งต้องพยายามทำให้ทุกฝ่ายมีคุ้นเคยกับการมีความเห็นแตกต่าง ต้องยอมรับว่าวิธีที่ทำอยู่ขณะนี้เป็นวิธีพิเศษ แต่วันข้างหน้าไม่มีใครที่จะมีวิธีพิเศษอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืน