xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กตู่บอกร่างรธน.ไม่ตรงใจ โยนปชช.รับผิด โหวตประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- "มีชัย" เปิดตัว ร่าง รธน.ฉบับสุดท้าย ที่จะนำไปลงประชามติ ย้ำทุกอย่างทำเพื่อประชาชนเป็นหลัก ด้าน"บิ๊กตู่"ยอมรับ ร่าง รธน. ยังไม่ตรงใจทั้งหมด โยนประชาชนรับผิดชอบ ในการออกเสียงประชามติ ชี้ชะตาผ่าน หรือไม่ผ่าน ลั่นไม่จำเป็นต้องรณรงค์ หากต้องการประชาธิปไตย ก็ต้องออกมา

เมื่อเวลา 13.39 น. วานนี้ ( 29 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงถึง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติ ว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 58 เราได้รับการแต่งตั้งเป็น กรธ. กำหนดทำงานต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 เม.ย.นี้ แต่เราก็ทำให้เสร็จก่อน เพื่อจะได้มีเวลาตรวจสอบ ตั้งแต่การทำงานครั้งแรก รวมเราประชุมทั้งหมด 115 ครั้ง ร่างฉบับแรก ที่เปิดเผย เมื่อวันที่ 29 ม.ค. มี 270 มาตรา จากนั้นเราออกไปชี้แจง และสัมมนาทั้งสิ้น 30 ครั้ง มีผู้เสนอให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม 258 ข้อ มีทั้งมาจากชาวบ้านเดินดินทั่วไป องค์กรสำคัญ ศาล องค์กร อิสระ สปท. สนช. ครม. และ คสช. ซึ่งเราได้นำมาแก้ไขทั้งสิ้น 88 มาตรา นำมาควบรวม 6 มาตรา เพิ่มใหม่ 15 มาตรา รวมแล้ว ร่างฉบับสุดท้ายมี 279 มาตรา

ทั้งนี้ กรธ. ได้ทำหนังสือและร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ ส่งให้ครม. ตามที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว จากนั้น ครม. จะส่งต่อไปยัง กกต. เพื่อให้เตรียมการทำประชามติ

สำหรับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะไม่ได้พูดว่า ประชาชนเป็นใหญ่ แต่เรามุ่งให้เกิดการทัดเทียม ไม่เหลื่อมล้ำ ประชาชนได้รับการปกป้องสิทธิเสรีภาพ โดยเรายึดไปตามหลักของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ว่า "ประชาธิปไตย ไม่ใช่การมุ่งให้ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ต้องมุ่งไปที่ประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ"

ส่วนข้อเรียกร้องให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เราเห็นว่า อาจเกิดปัญหา และไม่คุ้มค่า จึงกำหนดใหม่ ให้มีการศึกษาและเผยแพร่หลักพุทธเถรวาท เพื่อให้พัฒนาจิตใจและปัญญา พร้อมทั้งบัญญัติกลไก ป้องกันการบ่อนทำลายพุทธศาสนาทุกรูปแบบ โดยให้พุทธศาสนิกชน มีส่วนร่วม จะได้ให้ครบพุทธบริษัท 4 ถือเป็นครั้งแรกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

สำหรับ กลไกและองคาพยพทางการเมืองได้ยึดประชาชนเป็นหลักสำคัญ ไม่ใช่พรรคการเมือง หรือนักการเมือง นอกจากนี้ ยังเป็นหน้าที่ประชาชน ที่ต้องไม่ให้การสนับสนุนทุจริตทุกรูปแบบ

“ จากนี้ต่อไป กรธ.จะทำคำชี้แจงเนื้อหาสรุปเป็นเล่ม เพื่อส่งให้ กกต.ไปแจกจ่ายประชาชนอย่างทั่วถึง ภายใน 15 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนด และระหว่างนี้ จนถึงก่อนถึงวันที่ 7 ส.ค. ทาง กรธ.ก็จะเริ่มทยอยออกไปชี้แจงรายละเอียดสำคัญให้ประชาชนทราบ เพื่อตัดสินใจลงประชามติ ”

เมื่อถามถึงข้อห่วงกังวลเรื่องนายกฯคนนอก นายมีชัย กล่าวว่า สื่อให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก หากสื่อช่วยอธิบายเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ ก็เชื่อว่า จะไม่มีปัญหา เพราะ กรธ.บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ให้เป็นมติของพรรคการเมือง ซึ่งฝ่ายการเมืองก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ กรธ.

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ได้อ่านไปบ้างแล้ว ถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ก็ตอบว่า ก็เป็นอย่างนั้น จะให้เป็นอะไรได้

"เมื่อให้มีการร่างมา กรธ. เขาก็ร่างมา ประชาชนก็เป็นผู้พิจารณา ว่าจะผ่านหรือไม่ ถือเป็นเรื่องของประชาชน ถ้าไม่ผ่าน ผมก็ต้องทำอย่างอื่นต่อไปเท่านั้นเอง"

เมื่อถามว่า เท่าที่ดูแล้วร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมา ตรงกับใจที่คิดไว้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องตรงตามใจผม แต่ต้องตรงกับประเทศชาติ ว่าต้องการอะไร วันนี้ประเทศชาติต้องการความสงบสุข ใช่หรือไม่ ต้องการการพัฒนา และปฏิรูปหรือไม่ ถ้าทุกคนบอกว่าไม่ต้องการการปฏิรูป ก็ไม่ต้องไปผ่านมันเท่านั้นเอง ถ้าคิดว่านักการเมืองรุ่นใหม่ หรือคนใหม่ รัฐบาลใหม่เขาทำได้ ก็ทำไปสิ ผมจะไปยุ่งอะไรได้ และผมไม่มีคำว่า ส่วนตัว ในเมื่อผมให้เกียรติทาง กรธ. เขาทำมา เขาก็ทำมา วันนี้ผมก็ให้เกียรติกรธ. แม่น้ำ 4 สาย ทุกคนรับได้ ผมก็รับได้ แต่ไม่รู้ว่ารับกันได้หรือเปล่า ผมก็ไม่รู้"

เมื่อถามว่า แต่ทั้งหมดนายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช. ต้องรับผิดชอบทั้งหมด นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "รับผิดชอบอะไร เอาให้แน่ และเอาอย่างนี้ ถ้าจะให้ผมรับผิดชอบ เดี๋ยวผมจะเลิกทั้งหมดเลย ผมทำได้ ถ้าผมจะทำ แต่ผมก็ต้องการให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปให้ได้ ไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนอยากได้ ก็ทำไปแล้ว ถ้ามันเกิดอะไรขึ้นในวันหน้า มันต้องมีคนมารับผิดชอบร่วมกับผม จะไม่ให้ผมได้อะไรเลยหรือ หรือผมต้องเสียสละอยู่คนเดียว ชีวิตผมคนเดียว ประเทศนี้มีเพียงผมคนเดียว ต้องเสียสละชีวิตคนเดียวอย่างนั้นหรือ เห็นแก่ตัวกันไปหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ไปพิจารณากันดูว่า จะให้ผ่าน หรือไม่ผ่าน เพราะผมจะไปร่างเองก็ไม่ได้ ให้คนอื่นร่างก็ไม่ได้ แล้ววจะเอาอย่างไรกัน จะต้องให้ไปยืมรัฐธรรมนูญใครเขามาอย่างนั้นหรือ ถ้าไม่รู้จักว่าประเทศไทยมันควรจะอยู่กันอย่างไร ก็อย่าอยู่เลย"

เมื่อถามว่า ในช่วงเวลาก่อนจะถึงวันที่ 7 ส.ค. ก่อนจะทำประชามติ มีความกังวลเรื่องใดเป็นพิเศษบ้าง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ห่วง ไม่กังวล จะกังวลไปทำไม สถานการณ์ต่างๆ วันนี้เราก็มีกฎหมายอยู่ เรามีกฎหมายรู้จักคำว่ากฎหมายหรือไม่ ใครทำผิดกฎหมาย ก็ต้องถูกดำเนินการทั้งหมดเท่านั้นเอง จะเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ถ้าฝืนกฎหมาย ตนไม่ยอม

เมื่อถามย้ำว่า ในช่วงรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงประชามติ รัฐบาลเตรียมการอย่างไรบ้าง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่มีแผนอะไรทั้งสิ้น ตนก็พูดอยู่ทุกวันแล้วให้ทุกคนออกมาลงประชามติ ถ้าคิดว่าจะเป็นประชาธิปไตย สิทธิตามประชาธิปไตยก็คือการออกมาร่วมลงประชามติ ก็จบ แต่ถ้าไม่อยากมาลง ก็อย่าลง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเจตนารมย์ของแม่น้ำ 4 สาย เขียนระบุไว้โดย ผบ.ทบ.ว่า ข้อเสนอทั้งหมดนั้นต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามเจตนารมย์ของคสช. คิดว่าร่างที่ออกมานั้น ตรงตามเจตนารมย์หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตรงไหนที่คิดว่าแตกต่างจากที่พูดไว้ "ผมจะพอใจหรือไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันอยู่ในใจผมอยู่แล้ว หน้าที่ของผมในเมื่อทุกคนต้องการให้มีการเลือกตั้ง ผมก็ทำให้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น