xs
xsm
sm
md
lg

“เสรี” ชี้นักการเมืองกระสันอำนาจแก้ปัญหาไม่ได้ “ยะใส” แนะแยกเรื่องปฏิรูปออกจากรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เวทีเสวนาร่างรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มกรีน “ไพบูลย์” เอาด้วย ส.ว.สรรหา ไว้ถ่วงดุลอำนาจ แต่ ส.ส.ต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่เห็นด้วยอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ หวั่นสร้างความขัดแย้ง “เสรี” ชี้ถ้านักการเมืองอยากมีอำนาจแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ เผยไม่อยากให้นักการเมืองผูกขาดทำประชาชนออกมาประท้วง “สุริยะใส” แคลงใจยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และรัฐบาลสองขยัก เสนอให้แยกเรื่องการปฏิรูปออกจากรัฐธรรมนูญ กังขาทำไม ส.ว.เฉพาะกาลต้อง 5 ปี แล้วผู้ทรงคุณวุฒิที่คัดเลือกเป็นใคร

วันนี้ (20 มี.ค.) ที่โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา กลุ่มกรีน หรือกลุ่มการเมืองสีเขียว และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดเสวนาหัวข้อ “ร่างรัฐธรรมนูญกับอนาคตประเทศไทย” โดยมีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, นายสุริยะใส กะตะศิลา ที่ปรึกษากลุ่มกรีน และรองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และนายทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เข้าร่วมเสวนา เพื่อรับฟังการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และแม่น้ำ 4 สาย ในประเด็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา 5 ปี ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

นายไพบูลย์กล่าวว่า อยากให้มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญกรณีของการเข้าสู่ตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และฝ่ายบริหารจะต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยรัฐจะต้องเป็นผู้จัดการ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้การเมืองวิบัติ และขอชื่นชม คสช. ที่เสนอการเลือกตั้ง ส.ส.ใช้บัตร 2 ใบ แทนสูตรบัตรใบเดียวของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถือเป็นการปฏิรูปพรรคการเมืองที่ทำให้นักการเมืองไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจพรรคการเมือง

ขณะเดียวกัน เห็นด้วยต่อข้อเสนอที่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการสรรหา เพราะเป็นการถ่วงดุลอำนาจของ ส.ส. และคณะรัฐมนตรีที่ถือเป็นพรรคพวกเดียวกันได้ แต่ในเมื่อ ส.ว.มาจากการสรรหา ส.ส.ก็ควรจะได้รับโอกาสให้เข้ามาแบบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยที่จะให้ ส.ว.ทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. เพราะเป็นการควบคุม ไม่ใช่ถ่วงดุล และเป็นที่มาของความขัดแย้ง ทั้งนี้ จะต้องสร้างการถ่วงดุลอำนาจทั้ง 3 ส่วน คือ นายกรัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. ให้ดีที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกัน

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า การปฏิรูปใดๆ จะต้องไปถามคนที่จะปฏิรูปก่อน แต่เพราะคนเหล่านั้นคือตัวปัญหา ถือเป็นแนวคิดที่จะทำให้ปฏิรูปอะไรไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนมาใช้พลังของประชาชน ให้ข้าราชการ และนายทุนมองในมิติของประชาชน เพื่อให้การปฏิรูปสำเร็จ

ด้านนายเสรีกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ถือเป็นอนาคตของประเทศ โดยมีโจทย์สำคัญคือ ต้องแก้ปัญหาประเทศหรือปฏิรูปให้ได้ก่อนการเลือกตั้ง จึงต้องมีโรดแมปให้มีการเลือกตั้งในเดือน ก.ค. 2560 โดยนักการเมืองต้องมีความพร้อมก้าวไปข้างหน้า หากฝ่ายการเมืองคิดแต่อยากมีอำนาจ อยากมีผลประโยชน์ ก็จะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาประเทศ

ส่วนข้อเสนอเรื่อง ส.ว.ที่มาจากการสรรหานั้น สปท.ด้านการเมืองได้เสนอมาก่อน คสช. แม้กระทั่งเรื่องนายกรัฐมนตรีที่เสนอให้คนนอกเข้ามาเป็นได้ เพราะเห็นจากวิกฤตที่ผ่านมา จึงพูดได้เต็มปากว่า สิ่งที่เสนอเป็นการแก้ปัญหาประเทศ และยืนยันว่าการเสนอต่างๆ ที่ผ่านมาจาก สปท. หรือสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่ใช่การสนับสนุนให้ใครสืบทอดอำนาจ แต่เป็นความรับผิดชอบของคนที่มีหน้าที่ และมีอำนาจในปัจจุบันต้องทำหน้าที่ให้สำเร็จ

ทั้งนี้ ตนย้ำว่าสิ่งที่เสนอไปเป็นทางออก เพื่อให้มีทิศทางเดินไปอย่างไร้กังวลใจ หากไม่จัดสรรการควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย ไม่ควบคุมธุรกิจการเมือง ทำให้การเมืองไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจได้ สุดท้ายประชาชนก็จะออกมาเรียกร้องเดินขบวน เราไม่อยากให้กลับมาเป็นแบบที่ผ่านนมา

ส่วนที่มีการมองว่าข้อเสนอเรื่อง ส.ว.สรรหาเป็นบันไดลงจากอำนาจนั้น ตนตอบไม่ได้ว่าจะเป็นบันไดขึ้นหรือลง แต่ต่างจาก ส.ว.ที่มาจากฝ่ายการเมือง ทำให้ตรวจสอบไม่ได้ ดังนั้น ส.ว.แบบใหม่เราเสนอให้ข้าราชการสามารถเข้ามาทำหน้าที่ได้ ไม่ได้ปิดกั้น แต่ต้องรักษาเสถียรภาพ ความสงบเรียบร้อยของประเทศ หากรัฐบาลไม่ดีก็เห็นด้วยที่ให้ ส.ว.เข้ามาคานอำนาจ และเปิดอภิปรายได้ เพื่อให้การตรวจสอบเข้มข้นมากขึ้น หรือให้ ส.ว.มาทำหน้าที่ขับเคลื่อนต่อไป

ขณที่นายสุริยะใสกล่าวว่า ตนเห็นใจและเข้าใจ คสช.ที่มาด้วยเงื่อนที่ต้องรับผิดชอบ แต่การออกแบบการปฏิรูปนั้น ตนคลางแคลงใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และรัฐบาลสองขยัก ทั้งที่มีเวลา 1 ปีครึ่งก่อนการเลือกตั้ง ทุกคนจึงอยากเห็นความแน่นอน แต่ คสช.ได้เดินหน้าการปฏิรูปอย่างจริงจังแล้วหรือยัง เชื่อว่าเรื่องปฏิรูป ประชาชนไม่ได้คาดหวังจากร่างรัฐธรรมนูญ แต่คาดหวังกับ คสช. มากกว่า เพราะประเทศไทยถูกฉีกรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง

ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางความสำคัญไว้ในสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านมากเกินไป จนเรื่องของประชาชนที่ต้องแก้ไขในปัจจุบันกลับถูกบดบัง และ คสช. นำการปฏิรูปไปอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง ตนอยากเห็นแผนการปฏิรูป 5-6 เรื่อง ในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย และหากมีความหนักแน่น ไม่จำเป็นต้องฝากการปฏิรูปไว้ในมือของรัฐบาลหน้า ที่ไม่รู้ว่าจะเข้ามาจากไหน จึงอยากเสนอให้แยกเรื่องการปฏิรูปออกจากรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกัน ไม่ได้แปลกใจกับข้อเสนอเรื่องที่มา ส.ว.จากการสรรหา ถือเป็นการเสนอที่ชัดเจนไม่ปกปิดเหมือนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งนายกฯ ก็ยืนยันว่าจะต้องเขียนให้ได้แบบที่ต้องการ แม้จะต้องเลือกคนร่างใหม่ก็ตาม แต่ผมมีคำถามว่าทำไมต้องเป็น 5 ปี ถ้าไปถึงปีที่ 4 จะขอต่อหรือไม่ และการนำผู้ทรงคุณวุฒิมาคัดเลือก 6-8 ท่านนั้นเป็นใคร และใครจะตรวจสอบ 250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง ประชาชน 2 หมื่นรายชื่อตั้งชื่อถอดถอนได้หรือไม่ ผมว่า คสช.ยังคิดไม่สุด อยากให้เห็นชัดก่อนจะวิจารณ์

“ไม่ต้องห่วงว่า คสช.กับ กรธ.จะขัดแย้งกัน เพราะนายมีชัย (ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.) บอกว่าจะเขียนฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้าย ซึ่งทางออกมี 3 ทาง คือ 1. นายมีชัยไม่รับข้อเสนอและไม่ลาออกจากตำแหน่ง 2. มีการพูดคุยประนีประนอมในการนำบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะคสช. อาจจะไม่ยอม และ 3. เดินหน้าทำตามแนวคิดของ คสช.ทุกประการ แต่ผมนึกไม่ออกจริงๆ การเมืองไทยเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านตลอดเวลา” นายสุริยะใสกล่าว

ด้านนายทวีกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจรัฐไม่ฟังเสียงของประชาชน และเห็นว่าขณะนี้บ้านเมืองตกต่ำมากในทุกมิติ ไม่มีความยุติธรรม การปฏิรูปไม่เกิด การสืบทอดอำนาจมีมากขึ้น ทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหา พร้อมทั้งเห็นว่าข้อเสนอ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 ตำแหน่งนั้น ไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างแท้จริง เพราะส่วนตัวเห็นว่าการแต่งตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่สำคัญเท่ากับการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง หากบ้านเมืองยังมีการคอร์รัปชัน รัฐธรรมนูญที่กำลังจะออกมาก็ไม่มีประโยชน์ ภาระทั้งหมดจะตกอยู่กับประชาชน

ขณะเดียวกัน นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ ตัวแทนกลุ่มกรีน (Green Politics) ได้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า กลุ่มกรีนเรียกร้อง คสช.ใช้มาตรา 44 ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งโดยไม่รอรัฐธรรมนูญโดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

1. รัฐบาล คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ดำเนินการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งในเรื่องสำคัญๆ ที่รัฐบาลในสถานการณ์ปกติคงไม่สามารถทำได้ให้สำเร็จ ซึ่งสามารถดำเนินการได้เลยสำหรับเวลาที่เหลือกว่าปีครึ่งโดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ เช่น การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปพลังงาน และกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ปัญหาความยากจนและความเลื่อมล้ำในสังคม เป็นต้น

2. ถ้ารัฐบาลคสช.ยืนยันจะดำเนินภารกิจการปฏิรูปประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งกำหนดเวลาไว้ 5 ปี ตามที่เป็นข่าวนั้น กลุ่มกรีนขอเรียกร้องให้รัฐบาล คสช.ประกาศจุดยืนต่อสังคมว่าจะปฏิรูปเรื่องอะไรบ้าง ภายใต้กรอบระยะเวลาเท่าไหร่ และมีเนื้อหา ขั้นตอนและลำดับก่อนหลังอย่างไร เพื่อสร้างความกระจ่างชัดและความมั่นใจต่อประชาชนและสังคม

3. กลุ่มกรีนขอเรียกร้องให้เครือข่ายภาคประชาชนและพลังปฏิรูป ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อ คสช.และแม่น้ำทั้ง 5 สาย เร่งเดินหน้าการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของประชาชน














กำลังโหลดความคิดเห็น