xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” เตือน “ป้อม” สรรหา ส.ว. ซุ่มสืบทอดอำนาจจุดไฟขัดแย้ง - เพื่อไทยขู่บ้านเมืองวุ่นวาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่ายหน้าข้อเสนอให้มี ส.ว.สรรหา 5 ปี แนะ ส.ว.เลือกตั้งดีกว่า เตือน “ประวิตร” ซุ่มเงียบสืบทอดอำนาจจุดชนวนขัดแย้ง ยิ่งอ้างยุทธศาสตร์ชาติยิ่งยาก ดักคอไม่ฟังนักการเมือง มีคนตั้งธงว่าเผด็จการแล้วจะเดินหน้ายังไง ด้านอดีต ส.ส.เพื่อไทยบอกไปดันองค์กรอิสระ สืบทอดอำนาจชัดเจน ซัดขัดขวางบริหารประเทศ 5 ปีแรกการเมืองวุ่นวายแน่ ส่วน “ไก่อู” ท่องคาถาไม่สืบทอดอำนาจ

วันนี้ (5 มี.ค.) ที่สถาบันพระปกเกล้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของรัฐบาลที่ให้มี ส.ว.สรรหาทั้งหมดในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ว่าการเลือก ส.ว. สรรหา หรือการเลือก ส.ว.กันเองแบบไขว้กลุ่มอาชีพคงไม่ต่างกัน ดังนั้นจึงต้องฟังเหตุผลว่าเลือกอย่างไร แต่ส่วนตัวอยากให้ ส.ว.เลือกโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางมากกว่า แต่ถ้ากังวลว่าพรรคการเมืองจะเข้าไปยุ่งก็ออกแบบให้เลือกตามสายอาชีพได้

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถเข้าไปนั่งเป็น ส.ว.สรรหาได้ คิดว่าคนที่มีตำแหน่งทางการเมืองในขณะนี้ต้องระวัง เพราะดำเนินการเพื่อหวังจะสืบทอดอำนาจจะเป็นปมความขัดแย้ง ตนอยากฟังให้ชัดว่าที่พูดถึงภาวะ 5 ปีนั้นต้องการอะไร เพราะเท่าที่เห็นมีแค่เรื่องการปฏิรูปอย่างเดียว ดังนั้นต้องชัดว่าขอบเขตคืออะไร และจะไปสร้างปัญหากับกลไกการทำงานหรือไม่

ส่วนที่ระบุว่า การมี ส.ว.สรรหาใน 5 ปี เพื่อที่จะทำเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปนั้น คิดว่าเรื่องดังกล่าวจะสำเร็จและยั่งยืนได้ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น หากไปทำยุทธศาสตร์ชาติให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง หวังให้เกิดการผูกมัดอีก 20 ปี โดยที่ประชาชนหรือพรรคการเมืองต่างๆ ไม่เห็นด้วยนั้น ก็เป็นไปได้ยากอยู่แล้ว และจะเป็นปมความขัดแย้ง

เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลเสนอให้มี ส.ว.สรรหาทั้งหมดจะเป็นตัวกดดันการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีสิทธิจะแสดงความคิดเห็น แต่อยู่ที่ กรธ.ต้องเป็นตัวเอง เพราะสุดท้ายคนที่จะตัดสินคือประชาชน ไม่ใช่คนที่เสนอความเห็นไป ส่วนข้อเสนอเหล่านี้จะส่งผลต่อการลงประชามติหรือไม่ก็อยู่ที่ กรธ. คิดว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และ กรธ.คงต้องพิจารณาให้ดีว่าอะไรที่มีเหตุมีผล เหมาะสม ก็ควรรับฟังทุกฝ่าย ไม่ใช่ฟังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่อะไรที่เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ไปกระทบต่อตัวโครงสร้างหลัก และจะเป็นปัญหาก็ไม่ควรรับไว้

ทั้งนี้ ตนคิดว่านักการเมืองมีสิทธิแสดงความคิดเห็นเท่ากับประชาชน และการจะรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ ควรอยู่ที่เหตุผล ไม่ใช่ใครเป็นคนพูด ถ้าตั้งธงว่านักการเมืองพูดแล้วไม่ฟังก็จะมีคนตั้งธงอีกว่าเผด็จการร่างรัฐธรรมนูญเขาไม่รับ แล้วจะเดินหน้าอย่างไร ดังนั้นต้องมาดูที่สาระ แม้คนร่างจะมาด้วยวิธีการใดก็ตาม แต่ร่างแล้วดีสังคมก็ควรที่จะสนับสนุน ถ้าเสียงท้วงติงไม่ว่าจะมาจากใครมองว่าเลวก็ใช้ไม่ได้ แต่ถ้ามีเหตุมีผลก็ควรรับฟัง ถ้าเราไม่ทำให้สังคมอยู่กันด้วยข้อเท็จจริง ทุกอย่างจะล้มเหลว สุดท้ายจะกลับไปเรื่องของพวกพ้อง และทะเลาะกันเหมือนเดิม

เมื่อถามถึงกรณีที่ กกต.กำหนดบทลงโทษบุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญไว้รุนแรงมาก นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หลักของกฎหมายประชามติต้องเหมือนกับกฎหมายเลือกตั้ง การรณรงค์เคลื่อนไหวตราบเท่าที่ไม่ได้ไปยั่วยุให้เกิดความรุนแรง บิดเบือน หลอกลวงก็สามารถทำได้ ตรงนี้ต้องระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนเรื่องการนับคะแนนผู้ออกเสียงประชามตินั้น ถึงอย่างไรก็ต้องมีการแก้ไขให้มีการนับคะแนน ให้เป็นผู้ใช้สิทธิเป็นอย่างน้อย ซึ่งตอนนี้ก็ละเอียดลงไปว่าจะไม่นับบัตรเสีย และโนโหวต เข้าใจว่าไม่มีช่องให้กาทั้ง 2 เรื่องอยู่แล้ว ถ้าอย่างนี้ก็หมายความว่าเอาเสียงข้างมากระหว่างคนที่ไปออกเสียงจริงๆ ไม่ใช่ไปใช้สิทธิเฉยๆ

อีกด้านหนึ่งที่พรรคเพื่อไทย นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามหลักการแล้วเรื่องดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะอำนาจนิติบัญญัติต้องยึดโยงประชาชน ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และถ่วงดุลการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะ ส.ว.ที่มีหน้าที่แต่งตั้งบุคคลเข้าไปเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจมากด้วยแล้ว หากเป็นเช่นนี้จริงเท่ากับเป็นการสืบทอดอำนาจฝ่ายเผด็จการอย่างชัดเจน ประชาธิปไตยที่เราเรียกหาไม่ใช่แบบนี้ ยกตัวอย่างในร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ห้ามไม่ให้ ส.ส.หรือคณะรัฐมนตรี แปรญัตติงบประมาณเพื่อประโยชน์ในพื้นที่ของตัวเอง หาก ส.ว.พบเห็นสามารถเข้าชื่อ 1 ใน 10 ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัยได้ภายใน 7 วัน ศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการสรรหาของ ส.ว.คงมีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน ในที่สุดแล้ว ส.ว.สรรหาทั้งหลายจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานประเทศ ช่วง 5 ปีแรกการเมืองจะวุ่นวาย รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะไม่สามารถทำงานได้

ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันถึงกรณีฝ่ายการเมืองกังวลจะมีการสืบทอดอำนาจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องชี้แจงหลายครั้งแล้วว่า คสช.เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมือง ที่เกิดจากการใช้อำนาจที่ไม่มีธรรมาภิบาล และความขัดแย้งของประชาชนในประเทศ เมื่อแก้ปัญหาจบแล้วถือว่าภารกิจเสร็จสิ้น ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจแต่อย่างใด

ก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มที่ แต่หลักการนี้แก้ปัญหาไม่ได้ คสช.จึงเข้ามาดูว่าทำอย่างไร ไม่ให้ปัญหากลับมาอีก หากบอกว่าต้องเป็นสากลแบบเดิม อะไรจะยืนยันว่าปัญหาเหล่านั้นจะไม่กลับมาอีก มาตรการต่างๆ ที่วางไว้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อกำหนดให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีธรรมาภิบาล เดินตามยุทธศาสตร์ชาติไม่ให้เกิดปัญหาอีก และให้สังคมรู้ว่าแนวทางในการพัฒนาประเทศจะเป็นอย่างไร อีกทั้งห้วงเวลาดังกล่าว คสช.และรัฐบาลก็ไม่อยู่แล้ว

“ช่วงนี้เป็นช่วงที่ฝ่ายต่างๆ เสนอความคิดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาได้ กรธ.เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ จึงต้องให้ความเคารพและวิจารณญาณ” พล.ต.สรรเสริญกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น