ที่ประชุม กรธ. แจงร่างรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 270 มาตรา ส่วนใหญ่ยึดหลักการเดิมทั้งองค์กรอิสระและแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุบทเฉพาะกาล ให้ คสช.- ครม.- สนช. อยู่ต่อจนกว่าจะมี ส.ส. และรัฐบาลใหม่ ส่วน สปท. อยู่ต่ออีก 1 ปี ใครจะลงเลือกตั้งลาออกก่อนเลือกตั้งภายใน 90 วัน หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เชื่อเลือกตั้งกลางปี 60 ตามโรดแมป คสช. แม้โรดแมปถูกขยายเป็นสูตร 6 - 4 - 8 - 5 ก็ตาม
วันนี้ (27 ม.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 15.00 น. นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงภายหลังการประชุม ว่า เบื้องต้นจะมีเนื้อหาทั้งสิ้น 270 มาตรา แบ่งเป็นบทปกติ 253 มาตรา และบทเฉพาะกาลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 17 มาตรา โดยการทบทวนถ้อนคำในส่วนปกติ ส่วนใหญ่ยึดไปตามหลักการเดิมที่วางไว้ ทั้งในส่วนขององค์กรอิสระ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำหรับบทเฉพาะกาล มาตรา 254 - 260 กรธ. เริ่มพิจารณาแล้ว กำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ทำหน้าที่จนเมื่อมี ส.ส. และรัฐบาลชุดใหม่ ส่วนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้อยู่ต่อไป 1 ปี นับจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ เพื่อให้สานต่อการปฏิรูปที่เร่งด่วน
ส่วน กรธ. เอง ก็ได้กำหนดให้อยู่ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกที่สำคัญรวม 10 ฉบับ ภายใน 8 เดือน เพื่อส่งให้ สนช. พิจารณา ออกเป็นกฎหมายภายใน 2 เดือน และเมื่อ กรธ. และ สนช. ผ่านกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ที่มีอยู่ 5 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), พ.ร.บ. ว่าด้วยพรรคการเมือง, พ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), พ.ร.บ. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง แล้วเสร็จ ก็จะมีการเลือกตั้งภายใน 5 เดือน นับจากวันออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องเสร็จ
“ทั้งนี้ ยังกำหนดให้สมาชิกทุกองค์กรที่ตั้งขึ้นระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ทั้ง คสช. ครม. สนช. และ สปท. ว่า หากอยากดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ไม่รวม ครม. และนายกรัฐมนตรี จะต้องลาออกภายใน 90 วัน เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ เพื่อป้องกันข้อห่วงกังวลจากหลายฝ่าย ว่า จะมีการสืบทอดอำนาจ แต่นี่ยังเป็นกรอบเพียงเบื้องต้น ยังต้องรอฟังความคิดเห็นจากส่วนที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง” โฆษก กรธ. กล่าว
โฆษก กรธ. กล่าวว่า สำหรับองค์กรอิสระบางองค์กร ที่การปรับเปลี่ยนคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ ตลอดจนที่มาและกรรมการสรรหา ก็ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่า กรธ. จะร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ ที่ยังต้องรอดูว่าจะออกมาเป็นอย่างไร จะให้อยู่ต่อหรือไม่ แต่อย่าง กกต. ที่เพิ่มคณะกรรมการอีก 2 คน ก็จะไม่เป็นปัญหา กรรมการเดิม 5 คน ยังคงอยู่ต่อไปตามวาระ ส่วนรัฐบาล คสช. ที่อยู่ระหว่างรอยต่ออำนาจ ก็จะมีอำนาจเต็มตามเดิม เนื่องจากจะมีมาตราหนึ่งกำหนดให้การกระทำของ คสช. ตามรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศการใช้อำนาจ
เมื่อถามว่า บทเฉพาะกาลเช่นนี้ จะทำให้โรดแมป คสช. จากเดิมที่วางไว้ 6 - 4 - 6 - 4 ขยายเป็น 6 - 4 - 8 - 5 ในช่วงการทำกฎหมายลูก และการกำหนดวันเลือกตั้งหรือไม่ นายชาติชาย กล่าวว่า คสช. ก็วางกรอบของเขา เราก็วางกรอบของเรา การร่างกฎหมายลูกถือเป็นภาระหนักมากยิ่งกว่าการร่างรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องใช้เวลา ซึ่งถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้ก็จะอยู่ประมาณเดือน ส.ค. จึงเชื่อว่า การเลือกตั้งจะยังคงเป็นไปตามที่ คสช. เคยระบุว่า จะมีการเลือกตั้งกลางปี 2560 ได้ตามเดิม เพราะเราเขียนไว้ว่า ให้ทำกฎหมายลูกภายใน 8 เดือน สนช. ผ่านกฎหมายภายใน 2 เดือน และกำหนดวันเลือกตั้ง ภายใน 5 เดือน จึงหมายความว่า อาจจะเสร็จก่อนกำหนดได้ แต่ทั้งนี้ กรธ. ก็ยังไม่ได้มีการหารือกันว่า จะเริ่มจัดทำกฎหมายลูกฉบับไหนก่อน.