ประธาน สปท.จ่อหารือเจ้ากระทรวงเร่งขับเคลื่อนประเทศ ชงวาระปฏิรูป “กีฬา-พ.ร.บ.กสทช.-กิจการตำรวจ” หลังปีใหม่ “อลงกรณ์” ชี้ปี 59 เป็นปีสำคัญ ร่วมร่างรัฐธรรมนูญควบคู่การปฏิรูปประเทศ
วันนี้ (28 ธ.ค.) ที่ห้องสารนิเทศ รัฐสภา ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงถึงแนวทางการปฏิรูปในรอบปีที่ผ่านมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำชับให้ สปท.เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมาย 5 ฉบับ ให้แล้วเสร็จ ได้แก่ 1. ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ 2. ร่าง พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ระหว่างผละประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม 3. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองติดตามทรัพย์สินของแผ่นดินคืนจากทุจริต 4. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้เป็นธรรม และ 5. ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤต สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปของ สปท.ในปี 2559 จะต้องเน้นประสานงานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปฏิรูปสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยทุกข้อเสนอจะต้องมีความเห็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการทำงานของแต่ละกระทรวง เพื่อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 กล่าวว่า วาระที่ สปท.จะขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมในวันที่ 7-8 ม.ค. 59 คือ ข้อเสนอการปฏิรูปกีฬา เช่น การจัดตั้งกระทรวงกีฬา มหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ รวมทั้งข้อเสนอการปรับปรุง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (กสทช.) และข้อเสนอการปฏิรูปกิจการตำรวจ เป็นต้น นอกจากนั้น นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 59 จะมีการพิจารณาวิธีการขับเคลื่อนการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปทั้ง 11 คณะ และส่งผลงานไปยังคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งจะต้องวางรากฐานการปฏิรูปทั้งก่อนเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง เพื่อให้รัฐบาลในอนาคตเข้ามาสานต่อตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นายอลงกรณ์กล่าวต่อว่า การวางกลไกการทำงานในการขับเคลื่อนการปฏิรูปแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับผู้นำ ได้แก่ แม่น้ำทั้ง 5 สาย ขณะนี้มีการประชุมกันทุกเดือน 2. ระดับคณะกรรมการประสานงาน เป็นการนำทุกกรณ์ที่ต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปมาร่วมประชุมกันและประสานงานกันทุกสัปดาห์ และ 3. ระดับคณะกรรมาธิการทั้ง 11 ด้านของ สปท. นอกจากนี้ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ สปท.ได้มีส่วนร่วมมีการประสานงานกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ขอความร่วมมือ สปท. และประธาน สปท.จึงได้กำหนดให้สมาชิกระดมความคิดเห็นทั้งหมดส่งให้ กรธ.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามในปี 59 ซึ่งถือเป็นปีสำคัญ สปท.จะมีส่วนร่วมในการที่ กรธ.ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 180 วัน ดังนั้น สปท.จะเกี่ยวข้องโดยตรงในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นเพื่อการปฏิรูป หรือบทบัญญัติที่จะตราไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นฉบับปฏิรูปประเทศจึงจำเป็นต้องมีการวางหลักการและบทบัญญัติที่สำคัญให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ