ประชุม สปท. “กษิต” บี้แม่น้ำ 5 สายเร่งงานปฏิรูป เร่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติออกกฎหมายให้รัฐบาลและข้าราชการนำแผนผลักดันต่อ “นิกร ”แนะโละร่างแผนปฏิรูปการเมือง ด้านประธานบอกเป็นแค่ตุ๊กตาอย่าจริงจังมาก ก่อนที่ “เสรี” จะเสนอรายงานด้านการเมือง ชี้ได้คนดีต้องตรวจสอบเข้มข้นตั้งแต่รับสมัคร ลงโทษคนโกงรุนแรง ให้รับผิดชอบค่าเสียหายหากมีเหตุให้เลือกตั้งใหม่
วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระการพิจารณา ร.อ.ทินพันธุ์ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 จำนวน 10 เรื่อง พร้อมทั้งแจ้งให้สมาชิก สปท.ทราบถึงร่างแผนการปฏิรูปประเทศที่มี กอ.รมน.เป็นผู้จัดทำ โดยได้รับมาจากการประชุมแม่น้ำ 5 สายเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีกรอบเวลา 1 ปีครึ่ง ระหว่างการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ (ปี 2560) และต่อเนื่องไปอีก 20 ปีข้างหน้า โดยจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ภายหลังจากที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว ส่วนหน้าที่ปฏิรูปของ สปท.ก็จะสานต่อหรือปรับปรุงแก้ไขงานเดิมจาก สปช.แล้วรายงานต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อผลักดันออกมาเป็นกฎหมาย หรือเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 44 ต่อไป
ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวว่า สำหรับวาระการพิจารณาแผนการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศของ กมธ.สามัญประจำ สปท. ระหว่างวันที่ 21-23 ธ.ค. แบ่งเป็นดังนี้ วันที่ 21 ธ.ค. วาระการพิจารณาของ กมธ.การเมือง, กมธ.บริหารราชการแผ่นดิน, กมธ.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และ กมธ.ปกครองท้องถิ่น ส่วนวันที่ 22 ธ.ค. วาระพิจารณาของ กมธ.กีฬา, กมธ.การศึกษา, กมธ.เศรษฐกิจ และ กมธ.พลังงาน และวันที่ 23 ธ.ค. วาระพิจารณาของ กมธ.สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม, กมธ.สื่อสารมวลชน, กมธ.สังคม และกมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
จากนั้นประธานที่ประชุมร่วมหารือถึงแนวทางการทำงาน โดยนายกษิต ภิรมย์ เรียกร้องให้แม่น้ำ 5 สายเร่งทำงานปฏิรูป ในช่วงเวลาที่เหลืออีก 18 เดือน พร้อมทั้งให้มีมติร่วมกันเพื่อเร่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกกฎหมาย และกำหนดให้รัฐบาลตลอดจนข้าราชการนำแผนปฏิรูปผลักดันต่อไป ภายหลังจากมีการเลือกตั้งซึ่งน่าจะช่วยทำให้ประชาชนพอใจได้
ด้านนายนิกร จำนง สมาชิก สปท.กล่าวว่า เห็นร่างแผนปฏิรูปแล้วรู้สึกตกใจ เพราะเนื้อหาเหมือนถูกร่างมาก่อนที่ กมธ.การเมือง สปท.จะนำเสนอแผนปฏิรูป จึงอยากให้ยกเลิกร่างแผนปฏิรูปนี้ไป เพื่อไม่ให้ทำงานกันโดยไม่รู้ว่าหัวและหางอยู่ที่ไหน และขอให้นำเข้าสู่การประชุมวิป สปท.สัปดาห์นี้ เพื่อให้สมาชิกรับทราบรายละเอียดด้วย นอกจากนี้ สมาชิก สปท.ยังซักถามถึงแนวทางทำงานของ สปท.ว่า จะต้องดำเนินการตาม ร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ที่ได้จากการประชุมแม่น้ำ 5 สาย เท่านั้นใช่หรือไม่ เนื่องจากเนื้อหาบางด้านจากแผนดังกล่าวมีเพียงนิดเดียว เช่น ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มีเพียงแผนการบริหารจัดการน้ำเพียงอย่างเดียว
ด้าน ร.อ.ทินพันธุ์ชี้แจงว่า เป็นเพียงตุ๊กตาชั่วคราวเท่านั้นอย่างไปจริงจังมากนัก เราจะยืนยันหรือแก้ไขแนวทางของ สปช.ก็ได้ หรือจะริเริ่มใหม่ทั้งหมดก็ได้ หากเห็นว่าสามารถขับเคลื่อนได้ทันที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวทางของ กมธ.แต่ละคณะจะเห็นเป็นอย่างไร
ต่อมาที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน กมธ. ซึ่งเสนอแผนการปฏิรูปการเมือง 6 ด้านได้แก่ 1. การได้มาซึ่งนักการเมืองที่ดี 2. การให้ได้มาซึ่งระบบการเมืองที่ดี 3. การมีการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม 4. การมีองค์กรตรวจสอบและมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ 5. การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดี 6. การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองให้คนในชาติ
โดยนายวิทยา แก้วภราดัย กมธ.ปฏิรูปการเมือง ชี้แจงรายงานว่า ในส่วนการได้มาซึ่งนักการเมืองที่ดีนั้น จะกำหนดกลไกการตรวจสอบนักการเมืองให้เข้มข้น ตั้งแต่การรับสมัคร โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น ต้องแสดงรายการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี ในการลงสมัคร การให้ยกเลิก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะเป็นที่ซ่องสุมกลุ่มการเมือง นายทุน ที่จ่ายค่าหัวให้นักเลือกตั้ง ไม่ตอบโจทย์การเป็นที่มาของคนดี มีความสามารถ ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรี กมธ.มีความเห็นไม่ต่างจาก กรธ. คือ ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกนายกฯ จะเป็น ส.ส.หรือไม่เป็น ส.ส.ก็ได้ แต่กรณีนายกฯ ที่ไม่ใช่ ส.ส. ต้องมีเสียงรับรองจาก ส.ส.ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎร
ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ กมธ.การเมือง กล่าวว่า ในส่วนการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมนั้น กมธ.เห็นว่า ต้องมีบทลงโทษที่รุนแรง รวดเร็ว เห็นผลจริง ได้แก่ การตัดสิทธิไม่ให้ลงเลือกตั้งตลอดชีวิต การกำหนดโทษทางอาญาที่รุนแรงตั้งแต่ 1-10 ปี ไม่มีอายุความ เพื่อให้คนเกิดความเกรงกลัว การให้หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคต้องรับผิดชอบการทุจริตเลือกตั้งของผู้สมัครพรรค หากหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคทำผิดเอง จะถูกห้ามยุ่งเกี่ยวการเมืองตลอดชีวิตจริงๆ ไม่ใช่เป็นนอมินีชักใยอยู่เบื้อหลัง หากพบว่า อยู่เบื้องหลังการเมืองจะต้องโทษจำคุก 10 ปี ส่วนการเลือกตั้งใหม่ด้วยเหตุทุจริตเลือกตั้ง ต้องให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองนั้น รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยบังคับใช้กฎหมายได้จริง ครั้งนี้ต้องทำให้ได้จริง แม้ล้มละลายก็ต้องเอา ส่วนกลุ่มทุนที่แจกเงินให้พรรคการเมือง โดยไม่ถูกต้อง ต้องมีโทษจำคุก 1-10 ปี และมีโทษปรับไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท กมธ.อยากให้มาตรการเหล่านี้สัมฤทธิ์ผลก่อนการเลือกตั้ง