xs
xsm
sm
md
lg

"โคทม"ซัดรธน.ฉบับปชต.ในกรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (30 ส.ค.) เว็บไซต์ prachamati.org ร่วมกับองค์กรเครือข่าย จัดงานเสวนา "ความหวังของระบอบ ประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่" ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความตื่นตัวให้กับสังคมต่อประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กำลังจะลงมติรับหรือไม่รับ

**"โคทม"ชี้หลายอย่างซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง
รศ.ดร.โคทม อารียา นักวิชาการจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญที่เผยแพร่ ช่วงเดือนเมษายนเป็น"รัฐธรรมนูญ ฉบับสำลักคุณธรรม" ส่วนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็น"รัฐธรรมนูญ ฉบับจับประชาธิปไตยใส่กรง"
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบจากร่างที่แล้ว ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิก "สมัชชาคุณธรรม"ไป และมีการปรับปรุงจนหมวดสิทธิ เสรีภาพ เขียนได้ครอบคลุม รอบด้านมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ ใช้หลักคิดว่า "การใดจะสำเร็จได้ ต้องใช้อำนาจนำ" โดยเฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) นั้น เป็นส่วนที่เป็นปัญหามาก มีบทบัญญัติที่ผูกมัดว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และแนวทางที่กำหนดโดย คปป. ทั้งนี้ หลายเรื่องยังเหมือนจะ"ซ่อนอยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง" ต้องติดตามดูต่อไป เนื่องจากบทบัญญัติหลายมาตราบอกว่า ให้เป็นไป“ตามที่กฎหมายกำหนด”และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นผู้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกอย่างน้อย 13 ฉบับ

**นักกฎหมายตั้งชื่อ “รธน.ฉบับหนองใน”

ปูนเทพ ศิรินุพงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อยากให้ฉายารัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า "รัฐธรรมนูญฉบับหนองใน" คือ ข้างนอกดูสวยแต่ข้างในอันตราย โดยจุดขายสำคัญซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญใช้ในการประชาสัมพันธ์ คือบทบัญญัติในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นจุดขายเดียวกับที่เคยใช้มาแล้ว ในการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และ ปี 2550 อย่างไรก็ตาม อยากตั้งข้อสังเกตว่า บทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นเหมือน“ผักชีโรยหน้า” หากกลไกต่างๆไม่เป็นประชาธิปไตย หรือไม่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ อย่างเพียงพอ
ปูนเทพ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ต้องการใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญถาวร แต่ต้องการให้มีกลไกพิเศษในช่วงเวลา 5 ปี ต่อจากนี้ เพราะผู้ร่างมองว่า ในช่วงนี้น่าจะมีเหตุการณ์สำคัญ ที่นำไปสู่สถานการณ์ที่ต้องควบคุมให้ได้ นอกจากนั้นจะเห็นได้ชัดเจนว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว คงไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหารอีก เพราะมีกลไกพิเศษเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่กังวลมากก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถูกออกแบบมาให้แก้ไขได้ยาก ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต

** "ใบตองแห้ง"ยกเปรียบ“หอมหัวใหญ่”

อธึกกิต แสวงสุข หรือ “ใบตองแห้ง”คอลัมนิสต์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือน “หอมหัวใหญ่”ที่ได้รับการฉีดยาฆ่าแมลงเต็มที่ ปอกไปก็น้ำตาไหลทุกชั้น ปอกไปจนชั้นสุดท้าย ก็ยังไม่เจอประชาธิไตย เนื่องจากมีกลไกพิเศษบังคับไว้เยอะมาก ตั้งแต่การให้ คสช. มีอำนาจคงไว้ในช่วงก่อนเลือกตั้งเสร็จสิ้น ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ , เรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งจะมาควบคุมรัฐบาล , เรื่องสมาชิกวุฒิสภา ส่วนหนึ่งที่มาจากการแต่งตั้ง, การที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจตีความตาม มาตรา 7 เป็นต้น
ด้าน ชลัท ประเทืองรัตนา จากสถาบันพระปกเกล้าฯ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญพยายาม"บังคับให้ปฏิรูป"และ"บังคับให้รักกัน" เพราะมองว่านักการเมืองไม่เคยจริงจังกับการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ ตนเห็นว่าเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปในร่างรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายตั้งความหวังมายาวนานแล้ว แต่ในหลายเรื่อง ก็ต้องรอดูร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น