“สมชัย” เผยยังไกลที่จะพูดถึงเลือกตั้งใต้รัฐธรรมนูญใหม่ คาดรัฐธรรมนูญผ่านหมดแม้มีเสียงโวย เหตุจะรับไปก่อนค่อยแก้ทีหลัง เลือกตั้งน่าจะเกิดช่วง ก.ย. 2559 มองเลือกตั้งสัดส่วนผสม ไม่รู้ใครได้เปรียบ แต่เชื่อนักการเมืองมีทางออก เผย กมธ.ยกร่างฯ ปรับตามที่เสนอไปร้อยละ 80
วันนี้ (19 ส.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง บรรยายในหัวข้อ “ระบบเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่” ให้แก่นักศึกษาสูตรการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ตอนหนึ่งระบุว่า ยังไกลไปที่จะพูดถึงระบบเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังไม่ออกมา แต่ส่วนตัวถ้าให้คาดการณ์เชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านหมด ต่อให้เวลานี้มีเสียงโวยวายไม่พอใจในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแค่ไหนก็ตาม โดยด่านแรกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่นัดลงมติรับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.คิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะที่หยั่งเสียงใน สปช. คนที่คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาน้อยมาก ยิ่งระบบการลงมติที่จะให้ สปช.ขานชื่อว่ารับไม่รับ แล้วมีการถ่ายทอดผ่านสื่อ ไม่ค่อยเบี่ยงเบนผลได้เท่าไร จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ กกต.กำหนดวันทำประชามติเบื้องต้นวันที่ 10 ม.ค. 59 แม้จะมีเสียงนักการเมืองจากพรรคต่างๆ บอกว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา แต่เชื่อว่าระหว่างรับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กับจะได้เลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง คิดว่าสิ่งที่ฝ่ายการเมืองต้องการคือเลือกตั้ง ดั้งนั้น ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะมีปัญหาอย่างไรก็แล้วแต่ก็จะมีการรับไว้ก่อนแล้วหลังเลือกตั้งค่อยไปแก้ภายหลัง ฉะนั้นผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็น่าจะผ่าน และก็จะมีการร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญคงใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นก็จะมีการเลือกตั้งซึ่งคิดว่าจะน่าเกิดขึ้นในเดือนก.ย. 59
นายสมชัยยังกล่าวอีกว่า ระบบเลือกตั้งตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำหนดให้มี ส.ส.เขต 300 คน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 150-170 คนนั้น หรือที่มีการเรียกว่า เลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม โดยกระบวนการคิดของกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องการให้ทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนได้ลงเลือกผู้แทนมีความหมาย ไม่เสียไปเหมือนการคำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในอดีต แต่จะก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับใครไม่รู้ ซึ่งตนเองก็ยังมองว่า ทั้งหมดไม่ว่าจะวางกติกาอย่างไร นักการเมืองก็จะมีทางออกของเขาหมด อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กกต.ได้มีการทำข้อเสนอเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่ กกต.เกี่ยวข้องไปยังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น และกรรมาธิการก็มีการเปลี่ยนแปลงตามที่เสนอโดยคิดเป็นร้อยละ 80 อย่างเช่น การจะให้มีกลุ่มการเมือง จะสร้างปัญหากับระบบพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง การเลือกตั้งแบบโอเพนลิสต์ ที่จะใช้เวลาในการนับคะแนนไม่ต่ำกว่า 3 วัน ทางกรรมาธิการก็มีการปรับปรุง ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาการทุจริต ที่ กกต.มีเสนอขอให้กกต.มีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ช่วงก่อนเลือกตั้งจนถึงก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หรือควรให้ กกต.มีอำนาจออกใบส้ม หากพบว่าผู้สมัครกระทำผิดซ้ำเดิมถึง 2 ครั้ง และให้มีการบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกร้องว่ากระทำทุจริตต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หากศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา ประเด็นเหล่านี้อยู่ที่กรรมาธิการยกร่างจะพิจารณาถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็คงนำไปปรับปรุงแก้ไข