xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ฟันธงร่างรธน.ฉลุย ลุ้นประชามติ-คาดเลือกตั้งก.ย.59

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (19ส.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษา และโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง การสัมมนานอกรอบระหว่างคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อย่างไม่เป็นทางการ ในวันที่ 25 ส.ค. ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ว่า จะเป็นการหารือภายใน เพื่อชี้แจงข้อสงสัยให้กับสมาชิก สปช. ต่อประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากส่งมอบให้ในวันที่ 22 ส.ค. โดยจะมีการชี้แจงภาพรวม และเปิดให้สมาชิกสปช. ซักถามรายประเด็น ไม่ได้เป็นการจัดงานเพื่อโน้มน้าวให้สมาชิกสปช. ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่สื่อจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟัง โดยทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะชี้แจงและตอบข้อซักถามต่อสื่อมวลชนในวันที่ 26 ส.ค.
พล.อ.เลิศรัตน์ ย้ำด้วยว่า การทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มุ่งมั่นทำงานให้ดีที่สุดภายใต้การนำของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งผลสุดท้ายไม่ใช่ประเด็นสำคัญว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้ไม่ได้เป็นร่างในฝันของใคร แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน
ส่วนข้อครหาที่ถูกมองว่า มีการร่างกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ยืนยันว่าไม่มีการสืบทอดอำนาจในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เป็นการร่างเพื่อให้สอดคล้องกับการสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อไม่ให้บ้านเมืองเกิดวิกฤตซ้ำ พร้อมขออย่าโยงสถานการณ์ที่ไม่ปกติในปัจจุบัน มาเกี่ยวข้องกับการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
ด้าน น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ด้านบริหารราชการแผ่นดิน เปิดเผยหลังจากเข้าฟังการชี้แจงการปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญว่า ทางกลุ่มได้ส่งประเด็นที่ต้องการปรับแก้ทั้งหมด 71 ประเด็น ทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นด้วย 33 ประเด็น และไม่เห็นด้วย 38 ประเด็น ซึ่งโดยรวมแล้ว เนื้อหาในส่วนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ สังคม การคุ้มครองผู้บริโภค สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มีการปรับแก้เนื้อหาเป็นที่น่าพอใจกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงหมวดการปฏิรูปประเทศ ก็มีความพอใจกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ให้บัญญัติเนื้อหาไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ โดยมีการบรรจุรายละเอียดการปฏิรูป และเป็นไปเพื่อการบังคับให้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพราะหากกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นเพียงหลักการเท่านั้น ไม่ได้มีสภาพบังคับเท่ากับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
ขณะที่เนื้อหาในส่วนการเมือง ยอมรับว่าไม่ได้ตามที่ต้องการทั้งหมด หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ได้เพียงประมาณ 50 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ พร้อมยกตัวอย่างข้อเสนอที่ขอให้ ส.ว. มาจากการสรรหาทั้งหมด แต่สุดท้ายเนื้อหาบัญญัติไว้ให้มีสัดส่วนจากการเลือกตั้งด้วย แต่ก็มีเนื้อหาที่น่าพอใจ ทั้งการปรับลดอำนาจ ส.ว. และการแยกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกจากผู้ตรวจการแผ่นดิน

**กลุ่มบริหารราชการฯพอใจร่างรธน.

นายธีรยุทธ หล่อเลิศรัตน์ สมาชิก สปช.ในฐานะตัวแทนกลุ่มบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวภายหลังการเข้ารับฟังคำชี้แจง ร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า ทางกลุ่มพอใจมาก เกี่ยวกับเนื้อหาที่มีการปรับแก้ไข ทั้งในเรื่องของการปฏิรูปงบประมาณแผ่นดิน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่ทางกลุ่มเสนอเข้ามา
เมื่อถามว่า ถ้าพอใจแบบนี้จะโหวตร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านหรือไม่ นายธีรยุทธ์ กล่าวว่า ต้องรอดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์อีกครั้ง เนื่องจากการมารับฟังในครั้งนี้ ทางกลุ่มมุ่งเน้นไปในประเด็นที่ได้ขอเสนอแก้ไข ยังไม่ได้ดูภาพรวมทั้งหมด
นายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสปช. ในฐานะตัวแทนกลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังการเข้ารับฟังคำชี้แจง ร่างรธน. จากกมธ.ยกร่างฯ ว่า ส่วนตัวรู้สึกพอใจ และยอมรับได้ เนื่องจากคำแก้ไขที่เสนอเข้ามาได้รับการปรับแก้ไข มากกว่า 70 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะประเด็นกลุ่มการเมือง ซึ่งได้เสนอให้ตัดออกไป ก็ได้รับการปรับแก้ไขตามนี้ แม้จะมีติดใจในบางประเด็น อาทิ การคงไว้เรื่องการทำสนธิสัญญาที่จะต้องผ่านสภา การคงไว้ให้อัยการไม่ไปดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในภาพรวมก็ถือว่าเป็นที่พอใจของทั้งฝ่ายตน และกมธ.ยกร่างฯ เพราะกมธ.ยกร่างฯเองก็ยังรักษาสามารถรักษาหลักการสำคัญให้คงไว้เช่นเดิมได้ ส่วนสมาชิก สปช. คนอื่นๆ จะมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ตนไม่สามารถตอบแทนได้ ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสปช. แต่ละคน
เมื่อถามว่า มีการติดใจประเด็นนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือไม่ นายมนูญ กล่าวว่า ทางกลุ่มของตนไม่ได้ให้ความสนใจกับประเด็นนี้ แต่ประเด็นการเมืองที่เราให้ความสนใจคือ เรื่องกลุ่มการเมือง ตรงนี้ได้รับการปรับแก้ตามที่เสนอไว้ และประเด็นไม่ให้สิทธิกับส.ส.ในการดำเนินคดี ทางกมธ.ยกร่างฯ ก็ได้พิจารณาเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเรื่องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งกลุ่มเสนอให้ใส่ไว้ในบทเฉพาะกาล แม้ว่าจะไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากเรื่องนี้จะถูกนำไปเป็นญัตติของสปช. ในการเสนอตั้งคำถามในการประชุม สปช. วันที่ 6 ก.ย.นี้ อยู่แล้ว ทางกลุ่มจึงไม่ติดใจ และพร้อมที่จะสนับสนุนญัตติดังกล่าวอย่างเต็มที่

**สปช.กลุ่มศก.พอใจร่างรธน.กว่า80%

นายสมชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก สปช. ในฐานะตัวแทนกลุ่มเศรษฐกิจ กล่าวภายหลังการเข้ารับฟังคำชี้แจงว่า พอใจที่กมธ.ยกร่างฯ มีการแก้ไขตามคำขอมากกว่า 80 เปอร์เซนต์ ส่วนที่ไม่ได้มีการปรับแก้เกี่ยวกับเรื่องการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่น โดยทางกมธ.ยกร่างฯได้ให้เหตุผลถึงการไม่ปรับร่าง เช่น การเสนอให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องส่งรายงานการเสียภาษีย้อนหลัง 5 ปี แต่ทางกมธ.ยกร่างฯให้เพียงแค่ 3 ปี ซึ่งในภาพรวม ก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีเหตุมีผลและมีความก้าวหน้ามากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะการที่กมธ.ยกร่างฯ นำเรื่อง สิทธิประชาชน สิทธิผู้หญิงมาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
"ส่วนตัวเชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบของสปช. แต่คงต้องไปลุ้นในขั้นการทำประชามติ ซึ่งไม่มีใครทายได้ว่าจะผ่านหรือไม่" นายสมชัย กล่าว

** "สมชัย"เชื่อร่างรธน. ผ่านฉลุย

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ได้บรรยายในหัวข้อ "ระบบเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่" ให้กับนักศึกษาสูตรการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ตอนหนึ่งระบุว่า ยังไกลไปที่จะพูดถึงระบบเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ ยังไม่ออกมา แต่ส่วนตัวถ้าให้คาดการณ์ เชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านหมด ต่อให้เวลานี้มีเสียงโวยวายไม่พอใจในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแค่ไหนก็ตาม โดยด่านแรกสปช. ที่นัดลงมติรับ ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. ก็คิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะที่หยั่งเสียงใน สปช. คนที่คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญ มีปัญหาน้อยมาก ยิ่งระบบการลงมติที่จะให้สปช. ขานชื่อว่ารับ ไม่รับ แล้วมีการถ่ายทอดผ่านสื่อ ไม่ค่อยเบี่ยงเบนผลได้เท่าไร จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่กกต.กำหนดวันทำประชามติเบื้องต้น วันที่ 10 ม.ค. 59 แม้จะมีเสียงนักการเมืองจากพรรคต่างๆ บอกว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหา แต่เชื่อว่าระหว่างรับ ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ กับจะได้เลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง คิดว่าสิ่งที่ฝ่ายการเมืองต้องการ คือ เลือกตั้ง
ดั้งนั้น ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะมีปัญหาอย่างไรก็แล้วแต่ ก็จะมีการรับไว้ก่อน แล้วหลังเลือกตั้งค่อยไปแก้ไภายหลัง ฉะนั้นผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็น่าจะผ่าน และก็จะมีการร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญคงใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นก็จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งคิดว่าจะน่าเกิดขึ้นในเดือนก.ย. 59
นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า ระบบเลือกตั้งตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำหนดให้มี ส.ส.เขต 300 คน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 150-170 คนนั้น หรือที่มีการเรียกว่า เลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม โดยกระบวนการคิดของกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องการให้ทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนได้ลงเลือกผู้แทนมีความหมาย ไม่เสียไปเหมือนการคำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในอดีต แต่จะก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับใครไม่รู้ ซึ่งตนเองก็ยังมองว่า ทั้งหมดไม่ว่าจะวางกติกาอย่างไร นักการเมืองก็จะมีทางออกของเขาหมด
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กกต.ได้มีการทำข้อเสนอเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่กกต. เกี่ยวข้องไปยังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น และกรรมาธิการ ก็มีการเปลี่ยนแปลงตามที่เสนอโดยคิดเป็นร้อยละ 80 อย่างเช่น การจะให้มีกลุ่มการเมือง จะสร้างปัญหากับระบบพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง การเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ ที่จะใช้เวลาในการนับคะแนนไม่ต่ำกว่า 3 วัน ทางกรรมาธิการก็มีการปรับปรุง ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาการทุจริต ที่ กกต.มีเสนอขอให้กกต. มีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ช่วงก่อนเลือกตั้งจนถึงก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หรือควรให้กกต. มีอำนาจออกใบส้ม หากพบว่าผู้สมัครกระทำผิดซ้ำเดิมถึง 2 ครั้ง และให้มีการบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกร้องว่ากระทำทุจริตต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หากศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา ประเด็นเหล่านี้อยู่ที่กรรมาธิการยกร่างจะพิจารณาถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็คงนำไปปรับปรุงแก้ไข
กำลังโหลดความคิดเห็น