xs
xsm
sm
md
lg

คนใต้วอน กรธ. นักการเมืองอยู่ไม่เกิน 8 ปี เหมือนนายกฯ - แฉสมัย “บวรศักดิ์” เหนื่อยฟรี ข้อเสนอถูกโละทิ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เวทีรับฟังความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญที่สุราษฎร์ธานี ชาวใต้แสดงความคิดเห็นคึกคัก พบเสนอให้นักการเมืองทุกระดับ โดยเฉพาะ ส.ส. อยู่ไม่เกิน 2 สมัย 8 ปี ป้องกันผูกขาดตำแหน่งเป็นสมบัติประจำตัว แกนนำ กปปส. ตรัง ทำนายได้ว่า ใครจะมาเป็นรัฐบาล สู้เพื่ออยากเห็นการเมืองดีขึ้น แต่เห็นแบบนี้เหนื่อยฟรี แฉสมัยบวรศักดิ์ชาวสวนยางคิดกันหนักมาก แต่ข้อเสนอถูกทิ้งถังขยะ ด้าน กรธ. แฉพวกคว่ำบอก ส.ส. 150 คน มาจากการจัดตั้ง ซัดโกหกคำโต เอาความไม่รู้ของประชาชนมาบิดเบือน

วันนี้ (14 ก.พ.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีประชาชนเข้าร่วมเสวนา และแสดงความเห็นอย่างคึกคัก อาทิ นายดอเลาะอาลี สาแม สมาชิกสภาองค์กรชุมชน จ.ยะลา เสนอขอให้พรรคการเมืองแจ้งชื่อนายกฯ พร้อม ครม. ก่อนเลือกตั้งด้วย และขอให้ ส.ส. ต้องอยู่ไม่เกิน 2 สมัย 8 ปี เท่ากับนายกฯ เพื่อเปิดโอกาสให้คนใหม่ ๆ เข้ามาทำงานบ้าง

นายเกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา ชาวหาดใหญ่ จ.สงขลา อดีตแกนนำ กปปส. ภาคใต้ เสนอว่า ขอให้ทุกตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ถึงระดับชาติ ห้ามดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปี เพื่อไม่ให้มีการยึดอำนาจผูกขาดตำแหน่งเป็นสมบัติประจำตัว เพื่อให้นักการเมืองจะได้เริ่มทำงานการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นแล้วเติบโตขึ้นมา เพราะเป็นได้อย่างละไม่เกิน 8 ปี

อย่างไรก็ตาม มีผู้ร่วมเสวนาบางส่วนเสนอว่า ไม่ติดใจหากนายกฯ มาจากคนนอก แต่ขอจำกัดว่าผู้ถูกเสนอชื่อจะต้องเป็นสมาชิกพรรคอยู่ และเมื่อลงมติโหวตนายกฯ ในสภา ผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่าผู้ที่เป็น ส.ส. อาจจะเป็นเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 หรือ เสียง 2 ใน 3 ขณะที่ผู้เป็น ส.ส. แค่คะแนนเกินกึ่งหนึ่งก็พอ แต่ก็บางคนที่เสนอขอให้เลือกนายกฯ โดยตรง ใช้รูปแบบการเลือกตั้งสองครั้งแบบสหรัฐฯ ให้ กกต. ยกเลิกไปพร้อมเสร็จการเลือกตั้ง และตั้งชุดใหม่แทน

นายศักดิ์สฤษฎ์ ศรีประสาท ชาว จ. ตรัง กลุ่ม กปปส. และนายกสมาคมชาวสวนยางรายย่อยภาคใต้ กล่าวว่า เท่าที่อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแล้ว สามารถทำนายผลเลือกตั้งได้ล่วงหน้าว่าใครจะเป็นรัฐบาลหลังมีรัฐธรรมนูญ จึงรับประกันว่า พวกตนเหนื่อยฟรี เพราะพวกตนติดคดีปิดหน่วยเลือกตั้งหลายคน เพราะอยากเห็นการเมืองที่ดีขึ้น เพราะคนภาคใต้เป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศนี้ วิธีการที่ร่างมาคนภาคใต้ก็จะยังเป็นคนกลุ่มน้อย เพราะคนเข้าคูหา ตั้งแต่เลือกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นอกจากตัดสินจากญาติ เพื่อนแล้ว เขาใช้เส้นแบ่งถนนพวกใครพวกมัน เขาตัดสินจากภาษา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์

“พี่น้องชาวสวนยางหลายคนเริ่มท้อไม่อยากมาร่วมเวที เพราะสมัยที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน กมธ. ร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่มชาวสวนยางทำงานกันหนักมาก สุดท้ายความคิดของชาวบ้านหลายคนถูกทิ้งลงถังขยะ หลายคนจึงท้อไม่อยากรับรู้ แต่ที่ผมมาวันนี้พอดีมีผู้ใหญ่ขอให้มา” นายศักดิ์สฤกษ์ กล่าว

นายศักดิ์สฤกษ์ เสนอว่า ควรกำหนดให้เขตเลือกตั้งวันแมนวันโหวตเขตใหญ่เขตจังหวัด ส.ส. 3 คน ทำให้ผู้สมัครของหลายพรรคมีโอกาสได้ ไม่ใช่พรรคได้เป็นภาค ๆ หรือแบ่งสีเป็นภูมิภาค แต่กระจายทุกภาค ความแตกแยกก็ลดลง ส่วนนายกฯ คนนอกได้แต่ขอให้ใช้เสียงมากกว่า

“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่างจากฉบับ อ.บวรศักดิ์ ที่ให้ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ฉบับนี้รัฐเป็นใหญ่ จึงขอให้รัฐมาจากการเลือกตั้งประชาชนด้วยการให้ประชาชนเลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด เมื่อให้สิทธิ์ปกครองตนเองก็จะลดความเหลื่อมล้ำได้ และควรหาวิธีป้องกันนักการเมืองผูกขาดกระทรวง และพรรคควรเสนอรายชื่อ ครม. ประจำกระทรวงให้ประชาชนรู้ก่อนเลือกตั้ง” นายศักดิ์สฤกษ์ กล่าว

นายอารีย์ เจ๊ะโซะ ชาว จ.นราธิวาส เสนอเลือกนายกฯ โดยตรง ผู้สมัคร ส.ส. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค เพื่อให้กลุ่มต่าง ๆ เสนอผู้แทนของตนเองได้ (แบบกลุ่มการเมือง) ขอให้มีกฎหมายบังคับ ส.ส. ที่ได้รับเลือกแล้วต้องกลับมาเจอประชาชนอย่างน้อยปีละครั้ง

ด้าน นายธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย กรธ. ในฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ เปิดเผยว่า ช่วงตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา มีการบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญกันมากพอสมควร โดยอาศัยความเข้าไม่ถึงร่างรัฐธรรมนูญของชาวบ้านมาเป็นเครื่องมือบิดเบือน เช่น มีคลิปหนึ่งบอกว่า การกาบัตรใบเดียวเลือก ส.ส. ได้สองอย่าง 350 มาจากเลือกตั้ง อีก 150 คนมาจากการจัดตั้ง ซึ่งเป็นการโกหกคำโต เอาความไม่รู้ของประชาชนมาบิดเบือน เราจึงต้องพยายามคลี่คลายความถูกต้องด้วยการจัดเวทีเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจครั้งต่อ ๆ ไป


กำลังโหลดความคิดเห็น