รมต.สำนักนายกฯ ประชุมร่วม 3 ฝ่ายถกแผนยุทธศาสตร์ชาติกำหนดตั้ง กก.-องค์กรใหม่ ดูแลปฏิรูป ยันไร้กลไกแบบ คปป. ไม่ซ้ำซ้อนงานสภาพัฒน์ พร้อมถกคุ้มครองผู้บริโภคป้องกันอันตรายสินค้า เผย ข้อเสนอ คสช.บอกถึงความรับผิดชอบแม่น้ำ 4 สายในอนาคต ปรับบทเฉพาะกาลไม่ได้ปรับทั้งฉบับ กรธ.ปรับมากน้อยต้องคุยกัน โต้ทหารนั่งวุฒิฯแบบพม่า ชี้เปลี่ยนผ่านควรมีดุลความสัมพันธ์ ย้ำ รธน.เพื่อ ปชช.
วันนี้ (16 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี (ครม.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยมี พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สปท. ชี้แจงถึงการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ...
นายสุวพันธุ์แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดย สปท.ได้ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติเสนอรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญให้มีกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และอยากให้สบายใจว่าแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลนั้นจะไม่มีอำนาจหรือกลไกเหมือนอย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปรองดองเพื่อการปฏิรูป หรือ คปป. อย่างที่วิจารณ์กันแต่อย่างใด ซึ่งจะไม่มีอำนาจที่ผิดแปลกจนน่าเป็นกังวล และขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติอยู่ อย่างไรก็ตาม ที่ สปท.เสนอนั้นยังไม่มีสาระสำคัญในตัวยุทธศาสตร์เพราะเนื้อหาสำคัญอยู่ในตัวกฎหมาย โดยให้มีคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 1. มีหน้าที่กำหนดวิธีการขั้นตอน การพัฒนาการบริหารราชการแผ่นดิน และ 2. มีกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 3. จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีเลขานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดและกรอบต่างๆ โดยจะนำ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติและแนวทางการปฏิรูปของสปท.มาพิจารณาร่วมกัน
“ในส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะกำหนดขั้นตอนยุทธศาสตร์การปฏิรูป ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และให้กฤษฎีกาได้ศึกษาร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติที่ สปท.เสนอ ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะใช้ก่อนรัฐธรรมนูญไม่ได้ ในร่างรัฐธรรมนูญมี 2 มาตราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้” นายสุวพันธุ์กล่าว
นายสุวพันธุ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติจะไม่ซ้ำซ้อนกับการทำงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เพราะสภาพัฒน์ดูแลแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติในเรื่องการบริหารจัดการแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งปัจจุบันสภาพัฒน์เป็นผู้รับผิดชอบ แต่เราจะดูให้รอบคอบที่สุด
นายสุวพันธุ์กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งจะเป็นการปฏิรูปเพื่อป้องกันอันตรายจากสินค้าต่างๆ คุ้มครองผู้บริโภคทั้งแจ้งเตือน ขจัดสินค้าอันตราย เช่น กรณีไฟไหม้ที่อาคารธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) ซึ่งไม่มีการติดป้ายเตือนสารเคมีที่เป็นอันตราย โดยเราจะดูแลให้ทั่วถึง เพราะเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค มีผลต่อประชาชนอย่างมาก โดยรัฐบาลตระหนักและเร่งรัดให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยสั่งการให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จัดทำแผนเพื่อเสนอรัฐบาล
นายสุวพันธุ์ยังกล่าวถึงข้อเสนอ คสช.ทำหนังสือเสนอความเห็นต่อการปรับแก้รัฐธรรมนูญไปถึง กรธ.ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 มี.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯได้ชี้แจงในที่ประชุม แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัวต้องไปอ่านหนังสือที่ คสช.มีถึงประธาน กรธ. ในหนังสือจะบอกชัดเจนว่า ในความเห็นบอกถึงความห่วงใยบ้านเมือง บอกเรื่องความรับผิดชอบที่แม่น้ำ 4 สาย มีต่อประเทศในอนาคต เรียกว่าเป็นดุลความสัมพันธ์ ระหว่างกลไกประชาธิปไตย รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ศาล องค์กรอิสระ ซึ่งข้อเสนอเพื่อปรับปรุงบทเฉพาะกาล ไม่ได้ปรับปรุงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แม่น้ำ 4 สายทำหน้าที่ของตนเอง บนพื้นฐานที่เป็นห่วง และบนพื้นฐานที่รับผิดชอบต่อบ้านเมือง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงมีการเสนอไป เพราะเชื่อว่ามันมีหนทาง เมื่อถามว่า หากความเชื่อไม่เป็นไปตามเป้าหมายใครจะรับผิดชอบ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า ข้อเสนอที่เราเสนอไปตามอำนาจหน้าที่ที่มี ไปถึง กรธ.ที่มีอำนาจพิจารณาว่าจะทำหรือไม่ทำ หากเขาทำแล้วก็เป็นอำนาจของประชาชนอีกที่จะต้องออกเสียงประชามติ ฉะนั้นประชาชนคือคนตัดสิน
เมื่อถามว่าข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สาย มีแนวโน้มว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.จะรับได้ทั้งหมดหรือไม่ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า คิดว่านายกฯ เคารพนายมีชัย เคารพการทำงานของ กรธ.เพราะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้ หรือทำมากน้อยขนาดไหน ตนคิดว่าเมื่อได้มีการศึกษาการหารือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นรอบด้านมากขึ้น สุดท้ายน่าจะได้ข้อยุติที่ดี ตนมองโลกในแง่ดี ส่วนจะมากน้อยขนาดไหนเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันหารือกัน ซึ่งมีกระบวนการพูดคุยได้ เมื่อถามว่าการให้มีตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ ปลัดกลาโหมเข้าไปด้วยถือเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า ถ้าดูเจตนารมณ์จริงๆ ก็คือการให้ตำแหน่งหลักของฝ่ายความมั่นคงได้เข้าไปมีส่วนอยู่วุฒิสภา หัวใจของมันคือตำแหน่งหลัก เมื่อถามว่า ทำไมต้องทำเหมือนรัฐบาลพม่า นายสุวพันธุ์กล่าวว่า ไม่เหมือนกัน ตนยืนยัน เราอย่าไปมองอันนี้กองทัพส่วนหนึ่ง ตนไม่มองเรื่องคานอำนาจ หรือคนละฝั่ง ตนมองแบบคนเห็นหรือประเมินว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรในความหมายของตน เราได้ทำหน้าที่แล้ว เราอยากมีระยะเปลี่ยนผ่าน เราถึงว่าระยะเปลี่ยนผ่านควรมีดุลความสัมพันธ์ในแต่ละเรื่อง ควรจะเป็นอย่างไรเราก็เสนอ เพราะเป็นความรับผิดชอบ
“คสช. รัฐบาล แม่น้ำ 4 สายให้ความสำคัญกับประชาชน ดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้จาก กรธ.ไม่แวะไหนเลย แต่ไปที่ประชาชน ดังนั้นเราให้ความสำคัญต่อประชาชนเต็มที่อยู่แล้ว เพราะตรงไปหาเลย ไม่ผ่านจุดไหนๆ” นายสุวพันธุ์กล่าว