xs
xsm
sm
md
lg

รัฐธรรมนูญ คสช.ต้องผ่านประชามติ ไม่ผ่านใครต้องรับผิดชอบ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

ต้องบอกว่าเริ่มเข้าสู่โหมดตึงเครียดกันแบบเต็มตัวแล้วเหมือนกันหลังจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธานได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยและมีการแถลงให้ทราบตั้งแต่บ่ายวันที่ 29 มีนาคมเวลา 13.39 น. พร้อมกับนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 30 มีนาคม เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติต่อไป

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หมาดๆ นี้มีทั้งหมด 279 มาตรา รวมทั้งในบทเฉพาะบาล มีทั้งหมด 16 หมวด แต่เอาเป็นหากต้องการรับทราบรายละเอียดกันแบบเต็มๆ ก็ต้องรอวันแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคม

อย่างไรก็ดี เนื้อหาสาระที่ถูกวิจารณ์กันหนักมากก็คือเนื้อหาใน “บทเฉพาะกาล” ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขตามข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกี่ยวกับ ส.ว.แต่งตั้งจำนวน 250 คน แม้ว่าจะมีกระบวนการที่ทำให้ดูน่าเวียนหัวอย่างไรก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั่นแหละ

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ “นายกฯ คนนอก” ซึ่งทั้งสองเรื่องดังกล่าวทาง “ผู้มีอำนาจ” อ้างว่ามีความจำเป็น โดยเฉพาะใน “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ที่กำหนดเอาไว้เป็นเวลา 5 ปี

ดังนั้น หากพูดกันแบบรวมๆให้เข้าใจง่ายก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างที่มีที่มาจาก คสช.นั่นคือ คสช.เป็นคนตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และในขั้นตอนสุดท้าย คณะกรรมการร่างฯ ก็แก้ไขตามข้อเสนอของ คสช.เกือบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากพูดว่าเป็น “ร่างฉบับ คสช.” ก็คงไม่ผิดนัก

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องมองไปข้างหน้าก็คือ “การลงประชามติ” ที่ตามโรดแมปกำหนดเอาไว้แล้วคือ วันที่ 7 สิงหาคม และเกิดคำถามตามมาว่าหากประชามติไม่ผ่านจะต้องมี “ใคร” ต้องรับผิดชอบ

ไม่น่าเชื่อว่าที่ผ่านมาผู้มีอำนาจในรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับรู้สึกหงุดหงิดกับคำพูดของพวกนักการเมืองบางกลุ่มโดยเฉพาะนักการเมืองในเครือข่ายของทักษิณ ชินวัตร ในพรรคเพื่อไทย เช่นคำพูดของ วรชัย เหมะ และ วัฒนา เมืองสุข เป็นต้น ที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ โดยทั้งสองคนถูกทหารควบคุมตัวไปปรับทัศนคติในค่ายทหารเรียบร้อยแล้ว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการพูดแบบไม่สร้างสรรค์ เจตนายั่วยุให้เกิดความแตกแยก

แน่นอนว่าหากพิจารณาจากแบ็กกราวนด์และเส้นทางการเคลื่อนไหวของคนพวกนี้บางทีมันก็ชวนหงุดหงิดน่ารำคาญได้เหมือนกัน เพราะบางมุมมันก็ดูแบบ “มีเงื่อนงำ” อย่างที่มีการระบุเอาไว้ อย่างไรก็ดีอีกมุมหนึ่งหากพิจารณาจากตามเหตุผลแล้ว หากในที่สุดแล้วร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจริงๆ มันก็ “ต้องมีคนรับผิดชอบ” คงไม่ใช่เป็นแบบคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยบอกว่า “หากไม่ผ่านก็ร่างใหม่” เชื่อว่ามันคงไม่ง่ายอย่างนั้น และยังเชื่อว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนั้นจริงๆ ชาวบ้านก็คงไม่ยอมแน่

แม้ว่าตามขั้นตอนแล้วหากไม่ผ่านประชามติ หัวหน้า คสช.สามารถหยิบเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาประกาศใช้ได้ แต่จะถูกตั้งคำถามเรื่อง “ความชอบธรรม” ที่จะกดดันเข้ามามากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

อย่างไรก็ดี นาทีนี้เมื่อพิจารณากันตามความเป็นจริง และองค์ประกอบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาโดยรวมของรัฐธรรมนูญในบทถาวร ที่บอกว่ามุ่งเน้นในเรื่องการปราบปราบการทุจริต การกำหนดคุณสมบัติของนักการเมืองเพื่อป้องกันการเข้ามาใช้อำนาจมิชอบ และป้องกันทุจริตอย่างเข้มงวด ที่ถือว่าได้ใจชาวบ้านไม่น้อย นอกจากนี้ยังเปิดทางให้มีการรณรงค์สนับสุนนรัฐธรรมนูญ ขณะที่ “ฝ่ายคว่ำ” ถูกปิดปาก และที่สำคัญออกกฎหมาย “ห้ามป่วน” ออกมาบังคับ ใครฝ่าฝืนก็มีโทษถึงจำคุกเสียด้วย ขณะเดียวกัน แม้ว่าเมื่อถึงเวลานั้นจะมีการผ่อนคลายข้อบังคับบางอย่างลงมาหรือไม่

แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีท่าทีออกมาว่าจะยกเลิกคำสั่งเพื่อเปิดทางให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และรณรงค์คัดค้านแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากอารมณ์ความรู้สึกร่วมของสังคมส่วนใหญ่แล้วยังรู้สึก “รังเกียจนักการเมือง” จนบางครั้งเปิดช่องให้มีการบิดเบือนไปอีกทางได้ไม่ยาก

ดังนั้น ไม่ว่ามองในมุมไหนจากองค์ประกอบดังกล่าว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มันก็ต้องผ่านแบบร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว และเชื่อว่าคนในคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ต้องมั่นใจเหมือนกันต้องผ่าน ถึงขั้นมี “ข้อเสนอแบบเปลี่ยนผ่าน” ออกมาให้เห็นแบบไม่ต้องอ้อมค้อมทั้งในเรื่อง ส.ว.แต่งตั้ง และนายกฯคนนอกออกมาแบบหน้าตาเฉย แต่คำถามที่จะตามมาก็คือ “ถ้าหากไม่ผ่านล่ะ” จะทำอย่างไร และใครจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ และรับผิดชอบแบบไหน

เพราะสิ่งที่ตัองพิจารณากันก็คือ ในเมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยตรงมากกว่าเดิม มากกว่าคณะกรรมาธิการยกร่างชุดของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณเสียอีก และล่าสุดข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกือบทั้งหมดถูกแก้ไขตามความต้องการ ดังนั้นหากบอกว่านี่คือร่างฯ ฉบับ คสช.มันก็อาจพูดอย่างนั้นได้

แต่ถ้าบังเอิญว่ามันไม่ผ่าน ความหมายก็คือชาวบ้านปฏิเสธร่างแบบนี้ มันก็ช่วยไม่ได้ที่ต้องมีคนรับผิดชอบ และคงเป็นไปไม่ได้ที่ไม่ผ่านแล้วจะร่างกันใหม่ เชื่อว่าแบบนั้นมันคง “หยาม” กันเกินไป!
กำลังโหลดความคิดเห็น