เมืองไทย 360 องศา
1. ข้อเสนอที่ขอให้วิธีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยส่วนนี้คำขอแก้ให้เหตุผลมาว่า มีผู้เสนอมามากให้ใช้การเลือกตั้งแบบนี้ ไม่ใช่ข้อเสนอจากแม่น้ำ 4 สายโดยตรง กรธ. จึงเห็นว่าจะไม่กำหนดเนื้อหาส่วนนี้ไว้ในบทเฉพาะกาล และให้ใช้การเลือกตั้งใบเดียว รูปแบบวิธีนับคะแนนตามบทหลักเหมือนเดิม
2. ข้อเสนอเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการสรรหาทั้งหมด 250 คนนั้น กรธ. เห็นว่า ในระยะแรก 5 ปี ให้มีการสรรหาทั้ง 250 คน โดย 200 คนมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา 8 - 10 คนที่ คสช. ตั้งขึ้น และอีก 50 คน ขอให้เป็นไปตามที่ กรธ. บัญญัติไว้ คือให้สรรหาจากกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม ซึ่งจะได้ทั้งสิ้น 231 คน จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหาของ คสช. คัดเลือกอีกครั้ง ให้เหลือ 50 คน ทั้งนี้ เป็นการพบกันครึ่งทาง เพื่อให้เรามีประสบการณ์สำหรับการเลือกตั้งทางอ้อม ส.ว. แบบที่กำหนดไว้ในบทหลัก ขณะที่อีก 200 คน ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา โดยกำหนดให้ ส.ว. 6 คนสามารถเป็นข้าราชการประจำได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำเหล่าทัพเหมือนตามคำขอ
“ส่วนอำนาจให้มีอำนาจตามปกติ กล่าวคือ ร่วมผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ สำหรับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในบทการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ให้สมาชิกทั้ง 2 สภามีส่วนร่วมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จะไม่ให้ ส.ว. มีสิทธิ์เปิดและลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร”
3. ข้อเสนอที่ให้ยกเลิกการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น กรธ. เห็นว่า ยังคงให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี แต่หากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ กรธ. กำหนดทางออกให้ ส.ส. สามารถเข้าชื่อไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อยกเว้นรัฐธรรมนูญให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้ โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ของ 2 สภา และให้สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี”
นั่นเป็นคำแถลงของ นรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานสรุปสาระสำคัญจากการประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้ชื่อว่าแม่น้ำ 4 สาย ในประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญในสามข้อหลักโดยให้กำหนดในบทเฉพาะกาล 5 ปี
หลายคนมองว่านี่คือผลที่ออกมาแบบ “พบกันครึ่งทาง” แต่หากพิจารณากันให้ละเอียดแล้วผลที่แท้จริงกลับออกมาในทางตรงกันข้าม นั่นคือ ในบั้นปลายก็ยังถือว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติยัง “กินรวบอำนาจต่ออีก 5 ปี” อยู่ดี
อย่างไรก็ดี หากแบบผิวเผินก็อาจมองได้ว่าพบกันครึ่งทาง หรือมองว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ตอบสนองข้อเสนอทั้งหมดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (แม่น้ำ 4 สาย) ยอมให้เพียงบางข้อ เช่น ส.ว. สรรหาทั้งหมด 250 คน ก็ปรับเล็กน้อยเป็น 200 คน มาจากคณะกรรมการสรรหา 8 - 10 คนที่ คสช. แต่งตั้ง อีก 50 สรรหาตามกลุ่มอาชีพตามที่ กรธ. ออกแบบเอาไว้โดยจะได้จำนวน 231 คน แต่สุดท้ายก็ให้คณะกรรมกาารสรรหาที่ คสช. แต่งตั้งคัดเลือกให้เหลือ 50 คน รวมไปถึงการสงวน 6 ตำแหน่งเอาไว้ให้ “บิ๊กข้าราชการ” แม้ว่าจะไม่มีการกำหนดแบบอัตโนมัติว่าต้องเป็น ผบ. เหล่าทัพ แต่ความหมายไม่ได้ต่างกัน เพราะใน 6 ตำแหน่งดังกล่าวมันต้องเป็นคนของ “พี่เสือ” อยู่แล้ว
ส่วนเรื่องการให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ และเลือก ส.ส. เขตแบบเขตเดียวเบอร์เดียวตามทางของ กรธ. นั้น ผลการเลือกตั้งอาจจะต่างกันเล็กน้อย แต่ก็ยังคงความหมายเดียวกันคือแต่ละพรรคจะได้คะแนนเฉลี่ยกันไป พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจะได้ สส.คละกันเข้ามา และจะส่งผลต่อการมีรัฐบาลผสมก็เป็นไปได้สูงยิ่ง
การเลือกนายกรัฐมนตรีก็เช่นเดียวกัน แม้ว่ายังใช้แบบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ 3 คน ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแทนที่จะเอาแบบของ คสช. ที่ให้งดเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯล่วงหน้า แต่ให้เสนอชื่อนายกฯหลังเลือกตั้ง ความหมายก็คือให้ “งุบงิบ” กันตอนหลัง เพราะถ้าเปิดชื่อออกมาก่อนอาจป่วนจน “เสียการ” ก่อนก็ได้ แต่คราวนี้ก็มีการเปิดทางเอาไว้นั่นคือหากไม่สามารถเลือกนายกฯได้ก็ให้ ส.ส. เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเรียกประชุมร่วมสองสภาเพื่อยกเว้นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อเปิดทางให้เลือกนายกฯนอกบัญชีได้ แม้ว่าจะกำหนดให้สภาผู้แทนเลือกนายกฯก็ตาม
แต่เมื่อโครงสร้างเปิดทางเอาไว้ให้ว่าหากไม่อาจเสนอชื่อนายกฯได้ก็ให้สองสภาลงมติของดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราได้ มันก็มีโอกาสได้ “นายกฯคนนอก” แบบที่ “โผล่พรวด” เข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัวเลยก็ได้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลที่ออกมาดังกล่าวข้างต้น นั่นคือ ดูเหมือนว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะไม่รับข้อเสนอทั้งหมด แต่ก็ถือว่า “เกือบเต็มร้อย” แล้ว เพราะลักษณะที่เสนอมาจะเป็นแบบ “บอกผ่าน” เปิดโอกาสให้ “ต่อรอง” พอเป็นพิธี แต่หากพิจารณาโดยรวมแล้วถือว่า “กินรวบ” อยู่ดี โดยเฉพาะในประเด็น ส.ว. สรรหา (แต่งตั้ง) จำนวน 200 + 50 คน
แม้ว่านาทีนี้ยังไม่ชัดว่าเป้าหมายรวบยอดในบั้นปลายจริง ๆ จะต้องการแบบไหนกันแน่ จะเอากันถึง “นายกฯคนนอก” กันจริงหรือไม่ เพราะ “ระดับบิ๊กเบิ้ม” ยังไม่กล้าเผยท่าทีออกมาให้เห็นชัด แต่สำหรับ “คนกำหนดเกม” ทั้งวันนี้และต่อเนื่องไปจนถึงวันหน้าพอมองเห็นชัดมาตั้งนานแล้ว และเมื่อเห็นข้อเสนอจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าไปล่าสุดมันก็เหมือนกับการ “เปลือย” ตัวตนออกมาให้เห็นว่าพวกเขาต้องการ “ควบคุมอำนาจ” ต่อไป อย่างน้อยก็อีก 5 ปีข้างหน้า
ส่วนเรื่องภารกิจสานต่อปฏิรูปบ้านเมืองนั้นคงเป็นเรื่องตลก ที่ชาวบ้านขำไม่ออก เพราะขนาดมีอำนาจเต็มมือ ผ่านมาเกือบสองปีทุกอย่างยังเหมือนเดิม อย่างมากเพียงแค่การโยกย้ายแต่งตั้งใหม่ส่งคนในเครือข่ายของตัวเองเข้าไปสวมแทนเท่านั้น !!