xs
xsm
sm
md
lg

รธน.ฉบับ “พี่เสือ” โรดแมป “รอยต่อ” สู่รัฐข้าราชการเต็มรูปแบบ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

เชื่อว่านาทีนี้คนไทยไม่น้อยที่ติดตามสถานการณ์อย่างรู้ทันคง “กระอักกระอ่วน” อึดอัดพอสมควรกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจากเดิมที่เคยเรียกกันว่าเป็นร่างฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่าง แต่ล่าสุดจากสถานการณ์และความเป็นจริงใหม่ภายใต้ “ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้” เนื่องจากเป็นข้อเสนอจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ลงนามอย่างเป็นทางการจาก พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งแม้แต่ มีชัย ยังต้องยอมรับตรง ๆ ว่า เป็น “ข้อเสนอที่มีน้ำหนัก”

หากพิจารณาจากปฏิทินเวลาเชื่อว่าภายในวันที่ 23 มีนาคมนี้ คณะกรรมการร่สงรัฐธรรมนูญก็คงต้องมีการสรุปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอต่างๆเป็นฉบับสุดท้ายกันแล้ว ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็คงไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว ส่วนเมื่อเปิดออกมาแล้วจะ “หงายหลัง” หรือไม่ หรือว่าหลายคนคงไม่ตื่นเต้น เพราะรับรู้มาตั้งแต่ต้นแล้วว่าผลจะต้องออกมาอย่างในแบบที่เห็น โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นข้อเสนอจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะเป็นข้อเสนอของ คสช. ก็ต้องย้อนรอยอดีตให้เห็นภาพเป็นแบ็กกราวด์บางอย่างว่าก่อนหน้านั้นในประเด็นสำคัญอย่างเช่น ข้อเสนอให้มี ส.ว. สรรหา (แต่งตั้ง) มาจาก “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยตอนนั้นเขายอมรับเองว่าเป็นความเห็นส่วนตัวและในประเด็น ส.ว. แต่งตั้งดังกล่าวยังเปิดทางให้สมาชิก คสช. เข้าไปดำรงตำแหน่งได้อีกด้วย และที่สำคัญ มีการล็อกเก้าอี้เอาไว้ให้กับผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจำนวน 6 ที่นั่ง นั่นคือ เป็นไปโดยตำแหน่งแบบอัตโนมัติ

ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หลังจากนั้นก็กลายเป็นข้อเสนออย่างเป็นทางการที่เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตที่ตามมาอีก และเชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงมาก ก็คือ ผู้ที่จะมาเป็น ส.ว. แต่งตั้งนอกเหนือจากตำแหน่งจากผู้บัญชาการเหล่าทัพ 6 ตำแหน่งโดยอัตโนมัติแล้ว ยังต้องมีการนายทหารคนสำคัญทั้งที่ไม่เกษียณและเกษียณอายุราชการหลายคนตบเท้าเข้ามา รวมไปถึงตำรวจ ผู้ว่าฯ รวมทั้งอธิบดีกรมกองต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขา “เข้ามาปฏิรูป”

สาระสำคัญที่ต้องพิจารณาจากข้อเสนอใหม่ ก็คือ ประเด็น ส.ว. แต่งตั้งที่มีการกำหนดตัวเลขเป็น 250 คน คือ มีจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ที่กำหนดให้มีจำนวน 500 คน และแม้ว่า ส.ว. จะไม่มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯแต่สามารถควบคุมการทำงานของรัฐบาลได้นั่นคือมีสิทธิ์อภิปรายไม่ไว้วางใจได้

นอกจากนี้ ในการเลือกตั้ง ส.ส. ก็กำหนดให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ คือ ส.ส. เขต และบัญชีรายชื่อ แต่สำหรับระบบ ส.ส. เขต ให้เลือกได้เพียงเขตละคนเท่านั้น ทำให้มองได้ว่านี่คือเจตนาที่ทำให้มีการกระจายจำนวน ส.ส. เป็นการเปิดโอกาสให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสังเกตว่านี่คือเจตนาทำให้เกิดเป็นรัฐบาลผสม ไม่ให้พรรคใหญ่ได้เสียงข้างมาก และนั่นคือข้อเสนอให้กำหนดเอาไว้ในบทเฉพาะกาล 5 ปี

ในข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังกำหนดให้พรรคการเมืองไม่ต้องเสนอเสนอสามรายชื่อผู้ที่จะเป็นนายกฯไว้ล่วงหน้าอีกด้วย อ้างว่า เพื่อเลี่ยงทางตัน แต่ถูกมองว่านี่คือรายการ “หมกเม็ด” ไม่ให้ชาวบ้านรู้ล่วงหน้าสำหรับ “ว่าที่นายกฯ” ให้ไปรู้กันหลังเลือกตั้งหรือตอนใกล้โหวตเลือกในสภาเท่านั้น ซึ่งในเมื่อมีการทำทางมาอย่างดิบดีแล้วว่าผลการเลือกตั้งจะต้องออกมาแบบี่ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก มาแบบเบี้ยหัวแตก ก็ย่อมต้องเป็นรัฐบาลผสมไม่มีอำนาจต่อรองมาก เมื่อรูปการณ์เป็นแบบนี้ก็พอเดาออกแล้วใช่หรือไม่ว่าจะต้องไปเชิญเอา “บิ๊กคนไหน” มาดำรงตำแหน่งนายกฯคนนอก เพื่อควบคุมสถานการณ์ และบิ๊กคนนั้นให้ลองทายกันเล่นว่ามีอยู่กี่คน

แน่นอนว่า ข้อเสนอแบบนี้หลายคนเห็นแล้วต้องบอกว่า “หงายหลัง” มองว่านี่คือเจตนา “ซ่อนรูป” เพื่อควบคุมอำนาจแบบยาว ๆ อ้างว่าเพื่อสานต่อภารกิจ “ปฏิรูปเพื่อชาติ” อย่างน้อยก็ในช่วง 5 ปี หลังจากนี้ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงที่เห็นกันอยู่ว่าเวลาผ่านมาเกือบสองปีเต็มรัฐบาลคสช. ได้ทำการปฏิรูปอะไรให้ชาวบ้านได้เห็นเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง การปฏิรูปตำรวจได้ขยับเขยื้อนบ้างหรือไม่ เท่าที่เห็นก็มีแต่เปลี่ยนจากตำรวจที่เคยอยู่ในความควบคุมดูแลของระบอบทักษิณ กลายมาเป็นตำรวจภายใต้การบังคับบัญชาของ “นายใหม่” ไม่ได้มีหลักประกันความยุติธรรมในอนาคตกับชาวบ้านได้เลย ส่วนเรื่องอื่นๆแม้ว่าจะไม่อาจหาหลักฐานได้ชัดเจนมายืนยันอย่างเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ความรู้สึกที่เห็นก็ไม่ได้ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการหยุดนิ่ง หรืออาจเป็นเพราะภายใต้สถานการณ์พิเศษ ทำให้การค้นหาความจริงทำได้ยากขึ้น การวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบทำได้ยากหรือทำไม่ได้

ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีคำถามอีกว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องการแบบไหน แบบประชาธิปไตยแท้จริงนั้นเป็นแบบไหนกันแน่ แบบที่เราเหยียบย่ำแต่นักการเมืองโกง แต่หรี่ตาให้กับข้าราชการบางกลุ่มที่มีอิทธิพลหรือไม่ และปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกำลังจะกลายเป็น “รัฐข้าราชการ” ที่อ้างว่าจะเข้ามาควบคุมการปฏิรูปอย่างนั้นหรือ

ดังนั้น เมื่อแนวโน้มของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะออกมาตาม"ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ “นั่นคือ ทุกอย่างถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแบบ “มัดมือชก” เพราะถ้าประชามติผ่านก็จะได้รัฐธรรมนูญตามที่เห็น แต่หากไม่ผ่านก็มีการยืนยันออกมาล่วงหน้าแล้วเช่นกันว่า “ก็ร่างใหม่” ซึ่งอาจเตรียมเอาไว้ “ไต้ตุ่ม” แล้วก็เป็นได้ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น