xs
xsm
sm
md
lg

สองปีผลงานปฏิรูปไม่เป็นชิ้นเป็นอัน บิ๊ก คสช.ขอซ่อนรูปอีก 5 ปี!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360

หากนับจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อรัฐประหารเข้าควบคุมอำนาจบริหารราชการแผ่นดินเป็นต้นมาจนถึงวันนี้ แม้ว่าจะยังไม่ครบ 2 ปี แต่ก็ถือว่ามาไกลพอสมควรแล้ว ไกลพอที่จะได้เห็นหนทางข้างหน้าได้แล้ว เพราะเมื่อพิจารณาจากผลงานที่ผ่านมา มันก็ย่อมที่จะมองเห็นถึง “แนวโน้ม” ได้ดีว่าจะเป็นจริงตามที่เคยรับปากเอาไว้ได้หรือไม่

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคมเอาไว้ว่าจะ “ปฏิรูปทุกด้าน” และหากพิจารณาจากที่เคยมีการกำหนดออกมาจากคณะกรรมาธิการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่แต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสิ้นสภาพไปแล้วเคยมีการกำหนดเอาไว้ 11 ด้าน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ชาวบ้านต้องการให้มีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วนก็น่าจะมีอยู่ใม่กี่อย่างเท่านั้น เช่น การปฏิรูปตำรวจ กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ การปราบปรามคอร์รัปชัน การปฏิรูปพลังงาน ปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น
ในตอนแรกๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศด้วยท่าทางขึงขังว่าต้องทำให้ได้ ต้องทำทันที ชาวบ้านก็ไชโยโห่ร้องต้อนรับสนับสนุนกันอย่างเต็มที่ แม้ว่าต้องแลกกับการที่ต้อง “เสียสิทธิบางอย่าง” ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เต็มใจ เพราะเข้าใจดีว่าเป็นภารกิจที่หนักหนา ต้องใช้ “กฎหมายพิเศษ” เข้าจัดการผลักดัน เพื่อความรวดเร็วให้เห็นผลก่อนที่เข้าสู่ภาวะปกติ

แต่เกือบสองปีที่ผ่านมา และเวลาที่เหลืออีกประมาณอีกปีกว่าจนกว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 (ที่ประกาศไว้ตามโรดแมป) หากให้พิจารณากันแบบตรงไปตรงมา ก็ต้องบอกว่า “ยังน่าผิดหวัง” เพราะการปฏิรูปในเรื่องสำคัญเร่งด่วนตามที่ชาวบ้านต้องการ กลับไม่มีการขยับเขยื้อนใดๆให้เห็นเป็นรูปธรรม มีแต่คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อ้างว่า ทำยาก มีอุปสรรคจากความขัดแย้ง ต้องใช้เวลา หรืออย่างบางเรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญ อย่างการ “ปฏิรูปตำรวจ” เขาก็ “โยนผ้า” บอกว่าทำไม่ทันแล้ว ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลถัดไปว่ากันเอง หรือการปฏิรูปพลังงาน ก็ไม่มีการขยับใดๆ ที่พอเป็นความหวังได้เลย รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ แม้ว่าจะมีการตั้งเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งก็มีแต่ชื่อเรียกเท่านั้นว่า “สภาปฏิรูป” แต่คำถามก็คือ แทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ให้เป็นเนื้อเป็นหนังออกมาเลย

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากผลงานการ “ปฏิรูป” ในเรื่องสำคัญดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า หรือมีแนวโน้มให้เห็นความสำเร็จ แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่ “ระดับบิ๊ก” ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำลังหยิบยกมาเน้นย้ำในเวลานี้ก็คือ “จะผลักดันการปฏิรูป” ต่อในอีก 5 ปีข้างหน้า นั่นคือกำหนดให้มี “ส.ว.แต่งตั้ง” จำนวน 250 คน ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และในจำนวนนั้นล็อกตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพเอาไว้ 6 ตำแหน่งด้วย โดยมี “ข้อเสนอ” สำคัญอีกบางอย่าง ดังเอกสารที่ส่งไปถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา

เมื่อ ส.ว.แต่งตั้ง หรือ ส.ว.สรรหา ในแบบที่ว่า คาดการณ์ได้ล่วงหน้าเลยว่า นอกเหนือจากบรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทั้งทหารและตำรวจแล้ว ยังต้องมีบรรดานายทหารคนอื่น ข้าราชการอื่นๆ จะได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็น ส.ว.ประเภทนี้อีกจำนวนมาก เข้ามาทำหน้าที่สำคัญนอกเหนือจากภารกิจการปฏิรูปประเทศตามที่อ้างแล้วยังทำหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เนื่องจากสามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้อีกด้วย

ที่ผ่านมาวาระเรื่องการปฏิรูปแทบจะเงียบหาย หรือหมดหวังในเรื่องการปฏิรูปไปแล้ว รวมไปถึงถูกกำหนดให้รอลุ้นเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปิดออกมา รวมไปถึงให้รอชี้ขาดเอาเองว่าจะยอมรับหรือไม่ในวันที่มีการลงประชามติ ที่กำหนดออกมาแล้วว่า ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ที่สำคัญในช่วงเวลาสำคัญดังกล่าวห้ามป่วนเด็ดขาด แต่บังเอิญว่าในช่วงประมาณสองสัปดาห์ที่ผ่านมากลับเกิดเหตุการณ์บางอย่างทำให้เรื่องการปฏิรูปถูกนำมาพูดถึงอย่างเข้มข้นขึ้นมาอีก

นั่นคือ กรณี “ลูกเศรษฐี” คนหนึ่งซิ่งรถเบนซ์ชนรถยนต์ของนิสิตปริญญาโทจนไฟลุกไหม้คลอกในรถเสียชีวิตทั้งสองราย

จากเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดมีกระแสให้ “ปฏิรูปตำรวจ” ดังขึ้นมาอีกครั้ง เสียงกล่าวหาโจมตีตำรวจดังกระหึ่มจากสังคมรอบทิศ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นในการทำหน้าที่ตามโครงสร้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และที่สำคัญก็คือ ชาวบ้านยังรู้สึกว่าตำรวจไม่ได้เปลี่ยนไป ที่เปลี่ยนไปก็คือเปลี่ยนไปจากตำรวจในระบอบทักษิณ มาเป็นตำรวจในยุค คสช. ภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นคนเดียวที่รับว่าเป็นคนเสนอให้มี ส.ว.แต่งตั้งจำนวน 250 คน เพื่อมาทำหน้าที่ “สานต่อปฏิรูปประเทศ” อีก 5 ปีข้างหน้า

แต่คำถามที่ต้องพิจารณากันก็คือ “มันจริงหรือ” เพราะเมื่อพิจารณาจากผลงานสองปีภายใต้ “อำนาจพิเศษ” เต็มมือที่ผ่านมามันมีการปฏิรูปเรื่องใดให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง เมื่อไม่ทำ หรือไม่ยอมทำ จะด้วยเหตุผลหรือเบื้องหลังอะไรก็ตาม การที่จะมาออกปากว่าขอต่ออายุแบบ “ซ่อนรูป” อีก 5 ปี มันก็น่าจับตาเหมือนกันว่าผลจะออกมาตามความต้องการได้หรือไม่!
กำลังโหลดความคิดเห็น