xs
xsm
sm
md
lg

รธน.ผ่าน-ไม่ผ่าน คสช.ก็กินรวบ “ตาอยู่” เสียบนายกฯคนนอก !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา


หลายคนอาจเริ่มตื่นเต้นกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉบับที่ร่างโดยทีมของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านการลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ หรือไม่ ทั้งที่หากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมสารพัดแล้วประเภท “ขี้หมากองเดียว” ยังไม่กล้ารองเลยว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ผ่านประชามติ

เพราะทุกอย่าง ไม่ว่าจะด้วยกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจตาม มาตรา 44 ที่ครอบจักรวาล จัดการกับพวกที่คิดจะป่วน พวกที่คิดจะขวาง ที่แม้แต่จะคิดขยับในเวลานี้ยังทำไม่ได้เลย และหากสังเกตท่าทีล่าสุดของบรรดา “บิ๊ก ๆ” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รองหัวหน้าคสช.รวมทั้ง พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการ คสช. ที่เผยว่า จะขยายเวลาคุมคุมตัวพวกที่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จากเดิม 3 วัน 7 วัน ขยายเป็น 30 วัน

นี่ยังไม่นับกรณีที่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการลงประชามติผ่านทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีบทลงโทษพวกป่วน ขวางการลงประชามติที่อาจโดนจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี กันเลยทีเดียว มันทำให้ใครที่คิด “รับงาน” มาป่วนคิดมากเหมือนกัน ขณะเดียวกัน ยังสมทบมาด้วยคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2559 ที่ให้อำนาจฝ่ายทหารเป็น “เจ้าพนักงาน” มีอำนาจตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัว โดยมีอำนาจมากกว่าตำรวจหลายสิบเท่า

นั่นคือ การจับกุมตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายศาล และสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้มากถึง 7 วัน และสถานที่ควบคุม ก็ไม่ใช่เป็นสถานีตำรวจ หรือทัณฑ์สถาน ดังนั้นก็ต้องเป็น “ค่ายทหาร” เป็นแน่แท้

คำสั่งดังกล่าวของคณะรักษาความสงบเรียบร้อย ยังสอดรับได้จังหวะเหมาะกับยุทธการปราบปรามผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศ ที่ก่อนหน้านี้ มอบหมายให้ตำรวจดำเนินการ ฝ่ายทหารเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน แต่เมื่อมีคำสั่งแบบนี้ออกมา ทหารก็สามารถลุยได้เต็มที่ และจากคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ “พี่ใหญ่” ของ คสช. ย้ำว่า จะดำเนินการต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ความหมายก็น่าจะถึงช่วงการลงประชามติ แล้วต่อเนื่องไปถึงโรดแมป การเลือกตั้งในกลางปี 2560 ไปจนถึงมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีรัฐบาลใหม่ โน่นแหละ

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากความหมายของผู้มีอิทธิพล ซึ่งจนถึงขณะนี้ ไม่อาจขยายความหมายได้แบบรวบรัด แต่หากพิจารณาจากความเป็นจริงของสังคมไทยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีอีกไม่น้อยที่บรรดาหัวคะแนน อันธพาล พวกกระทำผิดกฎหมาย มักจะเกี่ยวข้องกับนักการเมืองและพรรคการเมืองมาโดยตลอด หรือแม้แต่ อดีต ส.ส. ไปจนถึงอดีตรัฐมนตรีจำนวนไม่น้อย ก็ดำรงชีวิตอยู่ในข่ายประเภทนี้ด้วย ซึ่งก็ไม่เว้นแม้แต่พวกทหาร และตำรวจ บางคนด้วย

ดังนั้น ความหมายมันก็อยู่ที่ว่า เมื่อปราบปรามคนพวกนี้มันย่อมกระทบไปถึงการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วยหรือไม่ หรือได้ทั้งสองอย่างพร้อมกันไปทีเดียว

หันมาทางด้านฝ่ายที่ต้องการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ในตอนนี้เท่าที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ พรรคเพื่อไทย ของทักษิณ ชินวัตร ถ้ามองแบบรู้ทันก็ต้องบอกว่า พวกเขา “เสียประประโยชน์” เต็ม ๆ หากร่างฉบับนี้ผ่าน เพราะจะทำให้ “เจ้าของ” คือ ทักษิณ และน้องของเจ้าของ คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ตลอดชีวิต เพราะมีคุณสมบัติต้องห้าม อีกทั้งเนื้อหาของร่างฯ ยังเอื้อให้รัฐบาลข้างหน้าเป็นรัฐบาลผสม ไม่มีโอกาสที่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่เคยเป็นมาจะหมดไป เมื่อเป็นแบบนี้ มันก็ต้องหาทางคว่ำทุกวิถีทาง แต่ก็ไม่ใช่แบบตัดเป็นตัดตาย เพราะถึงอย่างไร พวกเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้งตามโรดแมปในปี 60

ขณะเดียวกัน ที่มีการอ้างว่าใน “ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี” ที่ถือว่าพรรคการเมืองกระทบหนัก เพราะมี ส.ว. สรรหา (แต่งตั้งจาก คสช.) เข้ามากำหนดทิศทางรัฐบาลใหม่ นายกฯใหม่ แม้ว่าจะไม่มีส่วนร่วมโหวตนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. ในสภาผู้แทนฯ แต่ในฐานะสมาชิกรัฐสภา สามารถลงมติยกเว้นข้อบังคับในรัฐธรรมนูญบางมาตราได้ โดยเฉพาะการเลือกนายกฯ นอกบัญชีของพรรคการเมือง และใน ส.ว. จำนวน 6 คน นั้น ก็เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ มานั่งกดดันทางอ้อมอยู่อีกด้วย

ดังนั้น จึงเป็นไปได้สูงว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี เป็นไปได้สูงที่จะมีนายกฯคนนอกโผล่พรวดเข้ามาแบบกะทันหัน ในช่วงก่อนโหวตในสภาผู้แทนเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ เพราะเมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว โอกาสที่นายกฯ จะมาจากบัญชีของแต่ละพรรคการเมือง แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมีการคาดกันว่า แต่ละพรรคโดยเฉพาะสองพรรคใหญ่ จะมีเสียงไม่ต่างกันมากนัก หรือชนะกันไม่ขาดลอย

นอกเหนือจากนี้ เมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้เปรียบเทียบกันว่า โอกาสเป็นไปได้ว่าอย่างไหนจะเกิดขึ้นมากกว่ากัน ระหว่างผ่านประชามติ กับไม่ผ่าน ซึ่งไม่ว่ามองในมุมไหน ก็ย่อมมองออกว่า “ต้องผ่าน” แต่ถ้าพลิกล็อกถล่มทลาย “ไม่ผ่าน” ขึ้นมา ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ก็แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่า “ไม่ต้องรับผิดชอบ” แต่จะหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับใช้ทันที และการยืนยันว่า การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายในปี 2560 เมื่อเป็นแบบนี้ หากไม่ผ่านอาจจะ “หงายหลัง” มากกว่าเดิม เพราะฟังจากปากของ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมายแบะท่าว่า อาจใช้ร่างของ มีชัย ฤชุพันธุ์ นี่แหละ โดยอาจจะปรับบางมาตรา ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่า เข้มข้นแบบไหน

แต่เอาเป็นว่าไม่ว่าจะออกมาอย่างไร รับรองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติต้อง “กินรวบ” อย่างน้อยก็ในช่วง 5 ปี นับจากนี้ และให้จับตานายกฯ คนนอกที่เป็น “ตาอยู่” ที่กำลังแต่งตัวรอ “เสียบ” เอาไว้ตั้งแต่ไก่โห่แล้ว !!
รธน.ผ่าน-ไม่ผ่าน คสช.ก็กินรวบ "ตาอยู่" เสียบนายกฯคนนอก !?
เมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้เปรียบเทียบกันว่าโอกาสเป็นไปได้ว่าอย่างไหนจะเกิดขึ้นมากกว่ากันระหว่างผ่านประชามติกับไม่ผ่าน ซึ่งไม่ว่ามองในมุมไหนก็ย่อมมองออกว่าต้องผ่าน แต่ถ้าพลิกล็อกถล่มทลาย ไม่ผ่านขึ้นมา ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่าไม่ต้องรับผิดชอบแต่จะหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับใช้ทันที และการยืนยันว่าการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายในปี 2560 เมื่อเป็นแบบนี้หากไม่ผ่านอาจจะหงายหลังมากกว่าเดิม เพราะฟังจากปากของ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่าย กฎหมายแบะท่าว่าอาจใช้ร่างของ มีชัย ฤชุพันธุ์ นี่แหละโดยอาจจะปรับบางมาตรา ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเข้มข้นแบบไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น