xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่อยากเลือกตั้ง กระแสคว่ำ รธน.เริ่มแรง เจตนาให้ “ประยุทธ์” อยู่ต่อ !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

ไม่น่าเชื่อว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดที่อารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้านที่ไม่เหมือนเดิม กลายเป็นชื่นชมทหาร ชื่นชมเผด็จการมากกว่าในยุคอดีตแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่ต้องเป็นกระแสประชาธิปไตย ต้องมาจากการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ส.ส.- ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ กลายเป็นว่าเวลานี้ทุกอย่างกำลังกลับตาลปัตร ตรงกันข้าม ชาวบ้านเริ่มมีความคิด “ยังไม่อยากเลือกตั้ง”

เนื่องจากพวกเขายังรู้สึกสยดสยองกับกับพวกนักการเมือง ยังเชื่อว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามโรดแมปในราวกลางปีหน้า ก็จะหลับตาเห็นภาพของบรรดา ส.ส. หน้าเก่า ๆ หลายคนเรียงหน้าเข้ามาอีก จะได้เห็น ฯพณฯ รัฐมนตรี ที่เคยสร้างผลงานอันน่าจดจำมาแล้วมากมาย เดินพาเหรดเข้าทำเนียบ เหมือนเดิมอีก รวมไปถึงได้เห็นคำให้สัมภาษณ์ประจำวัน ภาพดังกล่าวเริ่มกลับมาหลอกหลอน วนเวียนเกิดขึ้นในสมองซ้ ำๆ มากขึ้น ไม่เชื่อก็ลองนึกภาพ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เหวง โตจิราการ หรือแม้แต่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต้น

แน่นอนว่า ความคิดดังกล่าวประเภทไม่อยากให้มีการเลือกตั้งเร็ว ๆ นี้ อย่างน้อยก็ในปีหน้าย่อมทำให้พวกที่มีรสนิยม “เลือกตั้ง” พวก “โลกสวย” ต้องขุ่นข้องหมองใจ ถูกโจมตีว่า พวกฝักใฝ่เผด็จการ เป็นพวกหัวอนุรักษนิยม ล้าหลังอะไรไปโน่น

แต่หากพิจารณากันให้ละเอียด มองอีกแง่มุมหนึ่งของอารมณ์ก็ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า ทำไมถึงได้มีอารมณ์ความรูัสึกแบบนี้ขึ้นมาได้

อย่างไรก็ดี อย่างที่ระบุเอาไว้ตั้งแต่ต้น ว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” มันก็ต้องตั้งคำถามไปถึงพฤติกรรมของนักการเมืองก่อนว่า ทำไมถึงทำให้ชาวบ้านจำนวนมากมีความรู้สึก และมีทัศนคติแปลก ๆ แบบนี้ เพราะการไว้วางใจ และชื่นชมเผด็จการอย่างที่เห็นมันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย หากไม่เหลืออดจริง ๆ ขณะเดียวกัน จะว่าไปแล้วทัศนคติในเรื่องการเลือกตั้ง เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศตะวันตกหลายประเทศ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่นิยมเผด็จการ แต่ทัศนคติในเชิงลบต่อการเลือกตั้งเริ่มมีมากขึ้น เพราะการเลือกตั้งได้สร้างความชอบธรรมให้กับนักการเมืองที่ไม่ดี หรือทำให้นักการเมืองที่ไม่ดีมีอำนาจ

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยในวันนี้ ซึ่งหลายคนมองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจไม่ใช่ดีเด่น สุดยอด แต่ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับพวกนักการเมืองที่ออกมาผนึกกำลังเรียกร้องเสรีภาพ เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ ที่เน้นสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ในเวลานี้ชาวบ้านยังให้เครดิต คสช. มากกว่า โดยเฉพาะหากเน้นไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจกันในรายละเอียดของความรู้สึก ก็คือ หากจับอารมณ์ของชาวบ้านจำนวนมาก ผ่านทางผลสำรวจหลายสำนัก ที่ออกมาตรงกัน ก็คือ “มีความไว้ใจ” เฉพาะบุคคลคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่ในความหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งหมด

สำรวจจากความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวของคนดังบางคน ถึงขนาดมีการรณรงค์ให้ชะลอการเลือกตั้งออกมาไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำหน้าที่ต่อไป เนื่องจากยังไม่ใว้ใจนักการเมือง

อย่างไรก็ดี เสียงเรียกร้องดังกล่าวบางคน บางกลุ่มก็ตั้งเงื่อนไขพ่วงเข้ามาเหมือนกันว่า อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศวาระปฏิรูปให้ชัดเจนว่า จะใช้เวลาปฏิรูปภายใน 2 ปี หรือ “ในเวลาจำกัด” หรือให้มีการ “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” ซึ่งสาระสำคัญน่าจะออกมาในรูปนี้ เพราะกระแสความต้องการของชาวบ้านส่วนมากก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ต้องการให้มีการปฏิรูป โดยเฉพาะให้มีการปฏิรูปตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องเร่งด่วน รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปพลังงาน รวม ๆ ประมาณ 10 ด้าน

ดังนั้น กระบวนการที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องอยู่ต่อภายใต้ “อำนาจเบ็ดเสร็จ” ก็คือต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่ เพราะหากไม่ผ่านประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม เขาก็ย้ำว่า จะ “ร่างใหม่” ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีกระบวนการอีกระยะหนึ่ง นั่นคือ มีการตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ มีการระดมความเห็นใม่ว่าจะเอาประเด็นใด มีเนื้อหาอย่างไรก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยอาจเป็นปี ซึ่งกระแสแบบนี้เริ่มมาแรง

แม้ว่าจะไปตรงกับแนวทางของพรรคเพื่อไทย และนักการเมือง ที่ต้องการคว่ำร่างฉบับนี้เหมือนกัน แต่มีเป้าหมาย และวิธีการหลังจากนั้นมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง !!

 
กำลังโหลดความคิดเห็น