เมืองไทย 360 องศา
การแสดงท่าทีของบรรดาผู้นำรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เริ่มประสานเสียงออกมาแบบแข็งกร้าวในทางเดียวกันว่าจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดมากขึ้น โดยเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าจะเริ่มดีเดย์ตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์เป็นต้นไป
แน่นอนว่าหากพิจารณาจากสถานการณ์และตามตารางเวลาที่เกี่ยวข้องกับภารกิจสำคัญในแต่ละเรื่องแล้วมันก็ย่อมทำความเข้าใจกันได้ โดยเฉพาะหากพิจารณากันถึงเส้นทางก่อนที่จะไปถึงการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม ต่อเนื่องไปจนถึงการเลือกตั้งหากมีขึ้นในปี 2560 รวมไปถึงการตั้งรัฐบาลใหม่ มีนายกรัฐมนตรีใหม่
หากพิจารณาจากสถานการณ์เฉพาะหน้าก็ต้องปฏิเสธไม่ได้ว่าก็ต้องเป็นเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ที่ร่างโดยคณะของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่บรรยากาศเริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่สองพรรคการเมืองใหญ่คือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยอ้างว่าเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคารพสิทธิและเจตนารมณ์ของประชาชน แบบว่าถอยหลังลงคลองว่างั้นเถอะ
แม้ว่าท่าทีของทั้งสองพรรคดังกล่าวจะสอดคล้องกัน และถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะเป็นแบบนี้ไปได้ แต่คราวนี้เมื่อผลประโยชน์ของอำนาจถูกลิดรอนลงไป อีกทั้งมีการให้ฝ่ายอื่นเข้ามาร่วมแชร์อำนาจแบบไม่ผ่านการเลือกตั้ง ทำให้พวกเขาไม่เห็นด้วยและแสดงท่าทีเชิญชวนให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ร่างที่ร่างโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ภายใต้การอุปถัมภ์และภายใต้แรงผลักดันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในประเด็นหลักๆ เป็นส่วนใหญ่
บรรยากาศความตึงเครียดย่อมเกิดขึ้นทันทีหลังจากทั้งสองพรรคใหญ่ประกาศท่าทีดังกล่าว เพราะนั่นเท่ากับว่าร่างรัฐธรรมนูญเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการถูกคว่ำในขั้นลงประชามติมากขึ้นกว่าเดิม เพราะหากพิจารณาจากตัวเลขทางคณิตศาสตร์ที่เคยอ้างว่าสองพรรคการเมืองเคยมีฐานเสียงกว่ายี่สิบล้านคน แต่ถึงอย่างไรในความเป็นจริงจะเป็นแค่ราคาคุยหรือไม่ก็ตาม ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยง และสร้างบรรยากาศให้ตึงเครียด
หากพิจารณาจากท่าทีของผู้มีอำนาจ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมไปถึงผู้นำกองทัพ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรองหัวหน้า คสช. รวมทั้ง พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการ คสช.ต่างออกมาประกาศเสียงตำหนิทั้งสองพรรคอย่างรุนแรงที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ อ้างว่า “ไม่ให้เกียรติประชาชน” อ้างว่าต้องฟังความเห็นของประชาชนที่จะออกเสียงลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับเสียก่อน
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันแบบกลางๆ ก็ต้องบอกว่าทางฝ่ายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ “ซีเรียส” เกินไป เข้มงวดเกินไปหรือเปล่า เพราะก่อนการลงประชามติก็ต้องมีการแสดงความเห็นของร่างรัฐธรรมนูญกันบ้าง เพราะพวกเขาถือว่ามีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นในฐานะนักการเมืองหรือว่าในฐานะประชาชน เพราะเท่าที่เห็นในเวลานี้ก็คือในขณะที่ฝ่ายอำนาจรัฐสั่งให้คนอื่น “หุบปาก” แต่ฝ่ายของตัวเองนั้นก็พูดไม่หยุด ขู่บังคับใช้กฎหมายเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่าหากมีการกล่าวหาว่านักการเมืองบางคนบางกลุ่ม “น่ารังเกียจ” สมควรถูกกำจัด แต่ขณะเดียวกันก็ได้เกิดคำถามตามมาว่าที่ผ่านมาทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ใช้โอกาสพิเศษแบบนี้จัดการกับต้นตอของปัญหาได้สำเร็จเด็ดขาดให้สมกับที่ประชาชนต้องเสียสละสิทธิหลายอย่างให้ไปหรือไม่ อย่าให้เกิดคำถามว่านี่คือการฉกฉวยโอกาส “เข้ามาแทน” ในช่วงที่นักการเมืองตกต่ำ คำถามที่ตามมาก็คือระยะเวลาที่ผ่านมาทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้สร้างผลงานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันที่ประชาชนจับต้องได้ นอกเหนือจากการออกคำสั่งให้ฝ่ายอื่นหยุดพูดหยุดเคลื่อนไหว
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเสรีก่อนการลงประชามติ แต่ละฝ่ายย่อมต้อบมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่อยู่ในกรอบ ย่อมต้องสามารถชี้ให้เห็นถึงจุดดีจุดด้อยของร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้ทราบ หรือให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้ ไม่ใช่ปิดปากฝ่ายตรงข้าม ในขณะที่ที่ฝ่ายตัวเองพูดได้อยู่ข้างเดียว มันก็ไม่แฟร์เหมือนกัน และที่สำคัญมันก็เสี่ยงต่อการเกิดเหตุพลิกผันได้ทุกเวลา เพราะเมื่อมีแรงกดดันมันก็ยิ่งเสี่ยงระเบิด
แม้ว่านาทีนี้พวกนักการเมืองอาจเป็นรอง แต่ก็อย่าประมาท เพราะในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมันส่อไปในทาง “หมกเม็ด” เอื้อให้บางคนบางพวกเข้ามา “ชุบมือเปิบ” เข้ามาฮุบอำนาจสร้างเครือข่ายอำนาจยึดครองไปอีกอย่างน้อย 5 ปี เรื่องแบบนี้มันอ่อนไหวและเปราะบาง ซึ่งเชื่อว่าชาวบ้านก็รู้ทัน เพียงแต่ว่ากำลังชั่งน้ำหนักกันอยู่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรเท่านั้น แต่การเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ทุกอย่างที่ว่าชัวร์มันก็อาจสะดุดพลิกในชั่วข้ามคืนเท่านั้น!!