เมืองไทย 360 องศา
ล่าสุดก็เป็นการแถลงของพรรคประชาธิปัตย์ โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการหัวหน้าพรรค คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2559 โดยให้เหตุผลว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ลิดรอนสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคัดค้านการตั้งคำถามพ่วงให้อำนาจ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.
ขณะเดียวกัน ได้เรียกร้องให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุให้ชัดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคณะของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ไม่ผ่านการลงประชามติ จะดำเนินการอย่างไร เพราะการไม่ประกาศให้ชัดเท่ากับว่าไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่ต้องลงประชามติโดยไม่รู้ว่า อนาคตจะเป็นแบบไหน... นั่นเป็นท่าทีล่าสุดของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามหลังพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศคว่ำร่างดังกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ว่าลักษณะการเคลื่อนไหวและท่าทีจะต่างกัน โดยฝ่ายพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร นั้นมีท่าทีแข็งกร้าวมากกว่า และเริ่มมีการเคลื่อนไหวต่อต้านกันหลากหลายรูปแบบ
หากพิจารณากันแบบรู้ทัน มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะผลกระทบจากรัฐธรรมนูญที่จะตามมาต่างกัน หากผ่านประชามติและมีผลบังคับใช้ เพราะฝ่ายพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ ทักษิณ ชินวัตร และคนในครอบครัว ล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะจะถูกห้ามลงสนามการเมืองตลอดชีวิต เนื่องจากมีคดีทุจริตประพฤติมิชอบเป็นชนักปักหลัง ขณะเดียวกัน ผลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังเชื่อกันว่าจะได้รัฐบาลผสม ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเลือกแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด
ที่สำคัญ ในช่วงรัฐบาลใหม่ชุดแรกหลังการเลือกตั้งหากคำถามพ่วงให้อำนาจ ส.ว.แต่งตั้งร่วมเลือกนายกฯ ผ่านประชามติ ก็มีโอกาสสูงที่จะได้ “นายกฯ คนนอก” ในรอบหลายปี แม้ว่าในประเด็นคำถามพ่วงดังกล่าวยังมีความยุ่งยากตามมา รวมทั้งขัดกับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดห้ามไม่ให้ ส.ว.แต่งตั้ง ร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส.ก็ตาม
ขณะเดียวกัน สิ่งที่บรรดาพรรคการเมืองจะต้องแสดงท่าทีให้ชัดเจนก็คือ ในเมื่อตัวเองไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรียกร้องให้มีการคว่ำร่าง โดยอ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ต้องประกาศให้ชัดไปเลยว่า พวกเขา “ต้องไม่ลงรับสมัครเลือกตั้ง” เพื่อเป็นการประท้วง และให้ประชาชนได้เห็น และร่วมการตัดสินใจด้วย เพราะไม่ใช่ว่าในเมื่อไม่รับร่างและปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลว่าเป็นร่างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคารพสิทธิของประชาชน แต่หากผ่านประชามติ พวกเขาก็จะกลับมาลงเลือกตั้งตามปกติ โดยข้ออ้างว่าต้องทำตามมติมหาชนอะไรนั่น แบบนี้ถือว่า “มันไม่สวย”
คราวนี้หันมาพิจารณาอีกฝ่าย นั่นคือ ฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ต้อง "แฟร์" และมีความชัดเจนเหมือนกัน จะทำมึนหรือ “ลอยตัว” แบบเดิมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะหากบอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างที่มาจาก คสช. หรือ คสช. มีส่วนผลักดันมากที่สุด ก็ไม่ผิด เริ่มจากตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการ “ล็อกชื่อ” มีชัย ฤชุพันธุ์ มาเป็นประธานคณะกรรมการร่าง จนกระทั่งมาถึงข้อเสนอให้บรรจุประเด็นสำคัญในร่าง เช่น ส.ว.แต่งตั้ง ที่อ้างว่าในช่วง “เปลี่ยนผ่าน 5 ปี” ก็มาจากการผลักกันของระดับบิ๊กในคณะรักษาความสงบแห่งชาติแทบทั้งสิ้น แล้วแบบนี้จะไม่ให้เรียกว่า “ร่าง คสช.” ได้อย่างไร ดังนั้นมันก็เหมือนกับการ “เดิมพัน” ของทั้งสองฝ่ายว่า ชาวบ้านจะเห็นไปทางใด เพียงแต่ว่าทั้งสองฝ่าย “ต้องแฟร์” ต้องให้ประชาชนได้รู้อนาคตล่วงหน้า
สำหรับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องรีบประกาศมาให้ชัดด้วยว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วจะทำอย่างไรต่อไป จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ หรือจะเป็นแบบที่ว่าจะนำเอารัฐธรรมนูญฉบับเก่า ทั้งฉบับปี 40 ปี 50 รวมไปถึงร่างฉบับปี 59 มาแก้ไข นำเอาจุดเด่นมารวมกันแล้วประกาศใช้ หรือว่ามีฉบับที่เรียกว่า “ฉบับใต้ตุ่ม” ร่างเตรียมสำรองเตรียมเอาไว้แล้วมาใช้ ก็ต้องบอกให้ชัด ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของชาวบ้านบ้าง ให้พวกเขาได้รู้อนาคตล่วงหน้าบ้าง
ที่สำคัญที่สุดก็คือ หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน มันต้องมีใครต้องรับผิดชอบหรือไม่ ในทาง “สำนึก” เชื่อว่าต้องมี เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราเสียเวลา เสียงบประมาณ เสียค่าน้ำค่าไฟ กันมากมาย มีคณะกรรมการร่างมาแล้วถึงสองคณะ รวมไปถึงต้องเสียงบประมาณในการทำประชามติ หากไม่ผ่านถูกคว่ำร่างแล้วจะปล่อยให้ “ลอยนวล” อย่างนั้นหรือ
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน และความเป็นธรรมกันทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ฝ่ายพรรคการเมือง และฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องรีบประกาศให้ชัดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วตัวเองจะมีท่าทีอย่างไร ฝ่ายพรรคการเมืองเมื่อประกาศไม่ยอมรับร่าง เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคารพสิทธิประชาชน ก็ต้องประท้วงด้วยการไม่ลงเลือกตั้งด้วย ขณะที่ฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ต้องประกาศให้ชัดว่าจะนำเอาฉบับใดมาใช้ หรือร่างใหม่ อย่าลอยตัวไม่รับผิดชอบ อีกทั้งก่อนการลงประชามติก็สมควรสร้างบรรยากาศเสรีมากกว่านี้ ให้อีกฝ่ายได้แสดงความเห็นบ้าง
ไม่ใช่มัดมือชก และมั่นใจว่าตัวเองคุมเกมไว้หมด ไม่มีทางแพ้ เพราะบางทีเมื่อถึงจุดหนึ่งมันอาจพลิกล็อกถล่มทลายได้เหมือนกัน อย่าลืมว่าการเมืองมันเปลี่ยนได้ในชั่วข้ามคืน!!