xs
xsm
sm
md
lg

“บุญเลิศ” ชี้คำถามพ่วงมี 4 จุดเสี่ยงทำประชามติร่าง รธน.ไม่ผ่าน จี้ คสช.แก้ไข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บุญเลิศ คชายุทธเดช
อดีต สปช.เชื่อคำถามพ่วงมี 4 จุดเสี่ยงที่อาจทำให้ประชามติร่าง รธน.ไม่ผ่าน แนะ สนช.แจงเหตุผลให้ชัดถึงการตั้งคำถาม ห่วงเงิน 3 พันล้านจะสูญเปล่า ที่สำคัญอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง วอน คสช.พิจารณาแก้ไข

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ความเห็นว่า ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติส่งคำถามพ่วงประชามติ โดยใช้ข้อความ “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ พิจารณาแล้วมีจุดเสี่ยง 4 ประการที่อาจส่งผลกระทบต่อการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และกระเทือนถึงการปฏิรูปประเทศ ดังนี้ 1. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคำถามที่มีลักษณะไม่เป็นกลาง คำถามนำ ข้อความยาวเกินไป ยากต่อความเข้าใจของประชาชน ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการถามคำถามพ่วง ดังที่นายสมชย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา

2. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพิ่มอำนาจให้กับ ส.ว.250 คนที่มาจากการคัดเลือกของ คสช.มากเกินไป ขนาดคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่กล้าเขียนในบทเฉพาะกาล 3. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า คสช.ต้องการสืบทอดอำนาจ เพราะเกี่ยวโยงไปถึงการให้ ส.ว.มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. และ 4. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเผด็จการย้อนยุคเหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2521

นายบุญเลิศกล่าวว่า เมื่อคำถามพ่วงถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นจุดเสี่ยงเหล่านี้ ถ้า สนช.ในฐานะผู้เสนอคำถามพ่วง ไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนหรือสมเหตุสมผลก็จะกลายเป็นประเด็นที่ฉุดคะแนนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับ ให้ลดน้อยลง เพราะจุดอ่อนหรือจุดตาย คือ เมื่อ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วยังจะมาขออำนาจพิเศษประชุมร่วมกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อโหวตนายกฯอีกหรือ ประกอบกับ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งตนคาดว่าจะแสดงท่าที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงก็จะกลายเป็นว่า 2 พรรคใหญ่ พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ สามัคคีปรองดองกันคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การลงประชามติและคำถามพ่วงอาจจะผ่านหรือจะคว่ำใกล้เคียงกันคือ 50/50 ซึ่งจะกระเทือนไปถึงการปฏิรูปที่ไม่อาจเดินหน้าได้ตามที่คาดหวัง

อย่างไรก็ตาม ต่อสถานการณ์ที่ผันแปรไม่แน่นอนนี้ ตนเห็นห่วง 2 เรื่องคือ เงิน 3,000 ล้านบาทที่ใช้ในการลงประชามติจะสูญเปล่าหรือไม่ และจะนำไปสู่ความขัดแย้งและเจอทางตันอีกครั้งหรือไม่ จึงฝากเป็นข้อคิดให้ คสช.ได้พิจารณาเพื่อแก้ไขอย่างถูกจังหวะและสถานการณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น