xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” จี้ สนช.-สปท.เว้นวรรค 2 ปี แลกคำถามพ่วงประชามติ กันครหาชงเองกินเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กรุงเทพฯ (ภาพจากแฟ้ม)
อดีต ส.ว.กทม.ชี้คำถามพ่วงประชามติ ให้ ส.ว.ร่วมโหวตชื่อนายกฯ ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ส่อหมกเม็ดสืบทอดอำนาจ คสช.ไว้ในรัฐธรรมนูญ เหตุ ส.ว.มาจาก คสช.แต่งตั้ง เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน รธน.ปราบโกงแค่ลมปาก แนะ สปท.-สนช.เว้นวรรค 2 ปีเหมือน กรธ. กันครหาชงเองกินเอง

จากกรณีที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้มีการตั้งคำถามพ่วงกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยตั้งประเด็นว่า ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ควรให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส.และ ส.ว.) ร่วมโหวตชื่อนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่นั้น น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ว่า คำถามพ่วงดังกล่าวก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นการหมกเม็ดหลบประเด็นไว้นอกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเลือกไปใช้เสียงประชาชนโหวตในการทำประชามติเพื่อให้เอากลับมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยตอบคำถามนักข่าวว่า หากคำถามพ่วงประชามติมีความขัดแย้งกับเนื้อหารัฐธรรมนูญก็ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญมาแก้ตามคำถามพ่วงประชามติที่ผ่านโดยยึดคำถามพ่วงประชามติเป็นหลัก

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สาธารณชนมีโอกาสตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นการออกแบบที่จงใจหมกเม็ดประเด็นอำนาจ ส.ว.ไว้นอกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยที่ ส.ว.250 คน มาจากการเลือกโดย คสช.ทั้ง100% เมื่อ ส.ว.มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ย่อมถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่า คสช.ต้องการใช้ ส.ว.จากการสรรหาที่เป็นกลุ่มก้อนที่มีความเป็นปึกแผ่นที่ตนเลือกมาเพื่อเป็นฐานกำลังในการสืบทอดอำนาจของ คสช.ต่อไปได้

น.ส.รสนาให้ความเห็นอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ตั้งฉายากันเองว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง จึงต้องให้ความสำคัญกับหลักการเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์เป็นสำคัญ ไม่ใช่แค่บัญญัติไปตามประเพณีการเขียนรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่บัญญัติให้ ส.ส. ส.ว.ปฏิติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศและความผาสุกของประชาชนโดยรวมและ "โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์" ดังที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยในมาตรา 114 และในมาตรา 267 วรรคท้าย ที่ว่า "เพื่อประโยชน์แห่งการขจัดส่วนได้เสีย ห้ามมิให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรคสอง"

หากคำถามพ่วงของ สปท.และ สนช.ผ่านประชามติ ก็ต้องนำไปแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมถือได้ว่าสมาชิกทั้งสองสภาได้ทำหน้าที่ดุจเดียวกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และได้แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจของ ส.ว. ที่ไม่มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญเดิม ท่านสมาชิกทั้งสองสภาย่อมเข้าข่ายเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ที่อาจถูกครหาได้ว่าจงใจชงคำถามนี้ให้เข้าตากรรมการ คสช.เพื่อแลกกับการที่จะได้รับเลือกเข้ามาเป็น ส.ว.อีกตามบทเฉพาะกาลหรือไม่

เพื่อป้องกันคำครหาดังกล่าว และเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญได้แสดงเจตนาว่าต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงและขจัดการมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง ขอเสนอว่าหากทั้งสองสภาตกลงใจจะให้มีคำถามพ่วงนี้ขึ้นมา ก็ขอให้เพิ่มเงื่อนไขว่า หากคำถามดังกล่าวผ่านประชามติ และต้องนำไปปรับแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ ทั้ง สปท.และ สนช.จะต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปีเช่นเดียวกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้เพิ่มเติมในมาตรา 267 ของร่างรัฐธรรมนูญ

“กรณีคำถามพ่วงประชามติก็เป็นการเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของ สปท.และ สนช. การมีเงื่อนไขให้สภาผู้เสนอคำถามพ่วงประชามติต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดียวกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นทางออกให้ทั้งสองสภาไม่ตกอยู่ภายใต้คำครหาเดียวกับบรรดานักการเมืองที่ถูกตำหนิมาแล้วว่าเป็นพวกนิยม “ชงเอง กินเอง” หรือ “ผลัดกันเกาหลังให้กันและกัน” น.ส.รสนาระบุ

อ่านข้อความโดยละเอียดในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล
กำลังโหลดความคิดเห็น