xs
xsm
sm
md
lg

ผุด“ศูนย์ประชามติ” ตำน้ำพริกละลายน้ำ (อีกแล้ว)

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

มาแบบไม่มีขลุ่ยมีปี่ สำหรับศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยสนับสนุนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ไม่มีทีท่าว่าคิดจะตั้งอะไรเลย เพราะย้ำมาเสมอว่ามีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดูแลอยู่แล้ว

โดยศูนย์ดังกล่าวรัฐบาลใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก ในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ส่วนระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ มีหัวหน้าส่วนราชการเป็นกรรมการ มีหน้าที่ตั้งแต่การจัดทำแผนเผชิญเหตุ ติดตามสถานการณ์ ตั้งจุดตรวจจุดสกัด ด้านการข่าว เสาะหาข่าวที่บิดเบือนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ การกระทำผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ หรือเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย และด้านการแก้ไขปัญหาการชุมนุมสาธารณะ

การทำงานของศูนย์ชื่อยาวเหยียดมี 3 ระยะ คือ ก่อนวันออกเสียงประชามติ 1 ก.ค.- 6 ส.ค.59 วันออกเสียงประชามติ 7 ส.ค.59 และหลังวันออกเสียงประชามติ 8 -10 ส.ค.59 หรือจนกว่าจะเรียบร้อย

ที่น่าสนใจคือ เรื่องการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเพิ่งถูกเปิดเผยหลังเริ่มดำเนินการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ซึ่งค่อนข้างผิดวิสัยพอสมควร เพราะโดยปกติการดำเนินการในลักษณะนี้น่าจะมีการแจ้งให้สื่อทราบล่วงหน้า

หลายฝ่ายจึงตั้งข้อสังเกตมากพอสมควรถึงที่มาที่ไปของศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยการทำประชามติว่า เหตุใดรัฐบาลจึงตัดสินใจตั้ง เป็นเพราะการข่าวได้รับรายงานความไม่สงบเรียบร้อยที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ จึงต้องตั้งศูนย์ขึ้นมาเพื่อประกบติด

โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในท้องที่ที่จะถี่ขึ้นในช่วงโค้งสุดท้าย เพื่อปลุกกระแสคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ จึงต้องตั้งทั้งระดับจังหวัด และระดับอำเภอมาสะกดไว้

นอกจากนี้ ก่อนจะมีศูนย์นี้ขึ้น มีข่าวออกมาว่า“ครู ค”กำลังถูกนักการเมืองในพื้นที่ แกนนำมวลชน จ้องจับผิด จากการทำหน้าที่ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ ว่า มีช่องให้ฟ้องร้องหรือไม่ว่าบิดเบือน จน“ครู ค”ทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่ได้ช่ำชองเหมือนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือพวก“ครู ก - ครู ข” จึงต้องสร้างยันต์กันผีขึ้นมา เพื่อคุ้มครองและสร้างความอุ่นใจ

แต่มันก็ดูโอเวอร์เกินไปหากจะตั้งมามากมายเพื่อการณ์นี้ หลักใหญ่ใจความจึงถูกมองว่า เป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อแก้เกี้ยว“ศูนย์ปราบโกงประชามติ”ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปไล่บี้ไม่ให้เปิด จนทีมงานเสื้อแดงแจ้นไปร้องแรกแหกกระเชอต่อองค์กรระหว่างประเทศ อย่างองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ว่า รัฐปิดกั้นการตรวจสอบของภาคประชาชน 

ต้องยอมรับว่า นปช.ตีกินได้เยอะจากปมถูกเบรกตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ อย่างน้อยก็ดิสเครดิตรัฐที่เหมือนกลัวการตรวจสอบ แล้วไปขยายปมต่อในอนาคตว่า การทำประชามติครั้งนี้ ไร้ความชอบธรรม เพราะปิดกั้นเสรีภาพ ปิดหูปิดตาประชาชน

ยิ่งช่วงที่ผ่านมาอังกฤษเพิ่งจะทำประชามติเรื่องการออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งบรรยากาศเป็นไปโดยอิสรเสรี มีการรณรงค์หาเสียงกันเต็มที่ แต่หันมาดูการทำประชามติในไทย กลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มันอาจเป็นการเปิดช่องให้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีต้นทุนความน่าเชื่อถือต่ำลงไปอีก

การผุดศูนย์นี้ขึ้นมาจึงอาจจะช่วยลดข้อครหาลงไปได้ แต่คงไม่มากนัก เพราะแม้ชื่อ และภารกิจจะดูดี แต่ในความเป็นจริงศูนย์ดังกล่าวเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย จัดทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเป็นหัวหน้า จะกล้าตรวจสอบรัฐด้วยกันเองหรือไม่

นอกจากนี้ ยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาสังเกตการณ์ร่วม ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐอย่างเดียวที่ทำเองหมด มันก็ดูจะขัดๆไม่ตรงหลักการเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

อย่าลืมว่า การจัดทำประชามติครั้งนี้ แม้กรธ.จะเป็นคนยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ร่างขึ้นมาตามภารกิจที่ คสช.กำหนดเอาไว้ ผลของการทำประชามติมีผลต่อการทำงานของรัฐบาลและคสช. ซึ่งถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย แน่นอนว่า ถ้าจะจับผิดพิรุธ ย่อมต้องจับผิดไปที่รัฐซึ่งเป็นกลไกของรัฐบาล แต่เมื่อนำรัฐมาเป็นคนตรวจสอบเสียเอง มันจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมาดิสเครดิตตัวเอง

ถ้าจะจับผิดพวกบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ คงเป็นแค่การจับผิดฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น ศูนย์นี้รัฐบาลและคสช. มีแต่ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

ส่วนในแง่ความคุ้มค่า ณ ตรงนี้ยังมองไม่ออกว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะปัจจุบันรัฐบาลและคสช.เอง ก็มีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่ดูแลรักษาความสงบอยู่ในทุกพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหตุใดจึงต้องตั้งขึ้นมาซ้ำซ้อนกัน

แน่นอนในศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยประชามติ ใช้ข้าราชการพลเรือน ส่วน กกล.รส. และ กอ.รมน. เป็นข้าราชการทหารเป็นหลัก บุคลากรต่างกัน แต่ภารกิจที่มีนั้นเหมือนกันคือ รักษาความสงบเรียบร้อย ใช้กลไกทหารน่าจะได้ผลมากกว่า เจ้าหน้าที่มหาดไทยเหนือกว่าอย่างเดียวคือ ภาพลักษณ์ที่ดูซอฟต์ลง 

อีกจุดที่น่าสงสัยคือ ปัจจุบันเรื่องการร้องเรียนการบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ก็มี กกต. ตำรวจ คอยดูแลอยู่แล้ว ทั้งรับเรื่องร้องเรียน ทั้งตรวจสอบ รัฐจะเพิ่มเข้ามาอีกให้ซ้ำซ้อนกันอีกชั้นเพื่ออะไร

ที่สำคัญ งบประมาณในการดำเนินการครั้งนี้ จะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ใช้งบประมาณส่วนไหน เพราะมีการจัดตั้งทุกจังหวัด และทุกอำเภอ โดยปัจจุบันประเทศไทยมี 76 จังหวัด และ 878 อำเภอ ในที่นี้ยังไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ลักษณะนี้ อย่างไรต้องมีค่าจ่ายแน่ เนื่องจากแต่ละแห่งต้องใช้บุคลากรหลายคน ต้องมีค่าใช้จ่าย ค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับเจ้าหน้าที่ ตกวันหนึ่งแต่ละแห่งหลายบาท

ขณะที่อายุของศูนย์นี้เริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ค. ถึงวันที่ 10 ส.ค. หรือเดือนกว่าๆ ซึ่งมีโอกาสจะยาวกว่านี้ได้ ตามวงเล็บที่ระบุไว้ตอนท้ายว่า “จนกว่าจะเรียบร้อย” ดังนั้น เกือบ 1 พันศูนย์ รัฐจะต้องทุ่มงบไปเท่าไหร่

เครื่องหมายคำถามคือ มันคุ้มค่าจริงๆ หรือไม่ แล้วมันก็ย้อนแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลพยายามรัดเข็มขัดให้การทำประชามติครั้งนี้ใช้งบประมาณให้น้อยที่สุด เพราะตอนนี้ที่กกต.ต้องใช้ ก็เกือบจะ 3 พันล้านบาทอยู่แล้ว ถ้าเติมส่วนนี้เข้าไปมันจะบายปลายมโหฬาร

การลงทุนเพียงเพื่อแก้เกี้ยว หรือเพื่อจะพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการทำประชามติ มันต้องแลกกับงบประมาณมากมายก่ายกองขนาดนี้กันเลยหรือไม่ แล้วถ้าพยายามจะทำให้โปร่งใสที่สุดจริง ณ เวลานี้บรรยากาศการทำประชามติมันล่วงเลยมาแล้วจะ 2 เดือน เหลืออีกแค่เดือนเดียวก็จะกากบาทกันอยู่แล้ว มาช้าเกินไปหรือไม่

 จึงน่าจะเป็นอีกครั้ง ที่การใช้งบประมาณของรัฐบาลจะหนีไม่พ้นคำค่อนแคะว่า ขยันตำน้ำพริกละลายแม่น้ำจริงๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น