xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รธน.เสี่ยงคว่ำ-แป๊ะเข้าทางตัน ส่อแห้วประชามติ 7 สิงหาฯ “รัฐประหารซ้อน” ล้างไพ่-นับหนึ่งใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลายฝ่ายเริ่มประสานเสียงไปในทิศทางเดียวกันว่า “คว่ำแน่” ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยเฉพาะฝั่งพรรคเพื่อไทยที่ประเมินแล้ว ตามกติกาที่ร่างออกมา โอกาสกลับเข้าสู่อำนาจรัฐแทบปิดตาย

ไม่มีความหมายอะไร หากต้องเจออะไรทีแรงกว่านี้ เมื่อตัดสินใจคว่ำ เพราะไม่ว่าอย่างไรจะ “ร่างมีชัย” หรือจะเป็น “ยาแรง” กว่านี้ หากกระบวนการร่างกติกาสูงสุดยังอยู่ในมือ “ขุนทหาร” พรรคเพื่อไทยไม่มีทางได้ประโยชน์อยู่วันยันค่ำ ในเมื่อธงแป๊ะเป๊ะเวอร์ว่า ต้องการ “รัฐบาลผสม” ต่อเนื่องด้วย “นายกฯคนนอก” และออปชั่น ส.ว.ลากตั้ง 250 ชีวิต ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5ปี

ดังนั้น จะเสือหรือจระเข้ “นายใหญ่” ไม่เซย์เยสหลับหูหลับตารับๆ ไปก่อน พร้อมกับความมั่นใจว่า จะเลือกกี่ครั้งชนะอยู่ดี ในเมื่อกติกาของแป๊ะนี้ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อพรรคเพื่อไทย แต่ออกแบบมาเพื่อทำลายเครื่องจักรสีแดง

แต่ที่ยังสองแง่สองง่ามลังเลอยู่ ก็ต้องค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ที่วันนี้ “หล่อใหญ่” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แต่แทงกั๊ก ประกาศได้แค่ไม่เห็นด้วย แต่ไม่กล้าแสดงจุดยืนว่า คว่ำหรือไม่คว่ำเหมือนพรรคเพื่อไทย ซึ่งดูเหมือนอยากจะเห็น “ประตูหนีไฟ” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสียก่อนว่า จะเป็นอย่างไรหาก “ร่างมีชัย” ไม่ผ่านประชามติ

คนละฟิลกับพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคประชาธิปัตย์ยังอยากจะชั่งน้ำหนักดูก่อนว่า ทางออกนั้นเลวร้ายหรือเบาบางลงมาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับซือแป๋มีชัย

ว่ากันตามเนื้อผ้า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เสียประโยชน์ไปซะทีเดียวเมื่อเทียบกับพรรคเพื่อไทยที่โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะเป็นพรรคอันดับสองที่มีโอกาสเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ถ้าสามารถดีลกับแป๊ะที่มีขุมกำลังเป็นพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กลงตัว

เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องเป็นรัฐบาลภายใต้การคอนโทรลของแป๊ะ ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ คราวนี้พรรคเก่าแก่อาจต้องกลืนเลือด หลีกทางให้ “คนนอก” ที่แป๊ะส่งมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ขณะที่ตัวเองเป็นเพียงหุ่นประกอบเท่านั้น ขณะเดียวกัน อำนาจของรัฐบาลก็จะไม่สามารถใช้ได้ตามอำเภอใจ เพราะมีแป๊ะเป็นเงาตะคุ่มอยู่ข้างหลัง พ่วงด้วยการค้ำยันของ ส.ว.ลากตั้ง 250 คน

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ “ค่ายสีฟ้า” ยังตุปัดตุเป๋ลังเลว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ดี แล้วเป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะเห็นทางออกโดยเร็ว ตามที่มีการให้สมาชิกพรรคออกมาเรียกร้องให้ คสช.แบไต๋โดยเร็วทุกวัน

ขณะที่ฟาก คสช. วันนี้ยังอุบแน่น ไม่แยแสกับเสียงรบเร้าเหล่านั้น มีแต่ “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ที่ออกมาแพลมๆ แต่ไม่จะแจ้ง เดี๋ยวบอกแพ้ไม่ขาด จะเอา “ร่างมีชัย” ไปคลุกเคล้ากับร่างรัฐธรรมนูญของ “ดร.ปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 ไปปัดฝุ่น เอาข้อดีไว้ ประเด็นที่คนค้านมากๆออก แล้วประกาศใช้โดยไม่ผ่านประชามติ

อีกวันออกมาบอก จะเอารัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ รัฐธรรมนูญปี 2550 มาผสมกับ “ร่างมีชัย - ร่างบวรศักดิ์” แล้วปรับปรุงให้ถูกใจคนส่วนใหญ่ โดยให้เหตุผลว่า การร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้งล้วนเอาของเก่ามาลอก และปรับปรุงใหม่ทั้งสิ้น

สำหรับไต๋ที่ “วิษณุ” กลับลำไปกลับลำมา จะว่าไปก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ อย่าลืมว่า แม้เจ้าของฉายาเนติบริกรจะไม่ใช่นักการเมืองจ๋า แต่ความ “เขี้ยว” ไม่แพ้นักเลือกตั้งอาชีพเลย เหลี่ยมคูไม่ได้มีเฉพาะแค่แง่มุมกฎหมาย แต่เรื่องจิตวิทยาก็ไม่เบา

แม้แต่เรื่องนี้ บางทีอาจเป็นการ “โยนหินถามทาง” หรือการ “เช็กกระแส” จากฝ่ายการเมืองว่า จะมีปฏิกิริยาอย่างไร ซึ่งถ้าสังเกตเห็นมีหลายครั้งที่ “วิษณุ” ชอบใช้วิธีนี้ ขณะที่ความจริงเป็นสิ่งที่ยากมากหากจะงัดออกมาจากปากเซียนกฎหมายผู้นี้

“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. หรือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังดูซับซ้อนน้อยกว่า “วิษณุ” ที่มีความเชี่ยวกรากกับเกมการเมืองด้วยซ้ำไป

ดังนั้น วันนี้ยังเร็วไปถ้าจะพูดว่าแผนของแป๊ะคืออะไร และหากดูการตัดสินใจหลายๆ ครั้งของท็อปบูตจะพบว่า หลายเรื่องมองกันช็อตต่อช็อต ดูสถานการณ์ขนาดนั้นแล้วชั่งว่า จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นตอนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ดร.ปื๊ด” หรือ การถอดถอน “ปูนิ่ม” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

หรือแม้กระทั่งที่ผ่านไปหยกๆ อย่างเรื่องคำถามพ่วงประชามติที่ส่งซิกให้ สนช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ชงคำถามให้รัฐสภาร่วมพิจารณารายชื่อนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี

เรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็เหมือนกัน แป๊ะย่อมมีแผนมากกว่า 1 แผนแน่นอน และสิ่งที่ทุกคนเฝ้ามองว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำจะเจอมัดมือชกแบบไหนนั้น บางครั้งที่สุดประเทศอาจเดินไปไม่ถึงจุดนั้นก็ได้ อย่างวันนี้ก็เริ่มมีการพูดกันแล้วว่า ตกลงการลงประชามติ 7 สิงหาคมจะเกิดขึ้นหรือไม่ แป๊ะจะล้มประชามติก่อนหรือไม่ เพราะกระแสคัดค้านในสังคมเริ่มเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่ฝ่ายการเมือง นักศึกษา เอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม เริ่มเคลื่อนไหวคัดค้านหนักขึ้น แม้จะมีหลักสูตรอบรมนักการเมืองของทหาร หรือจะมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่สุดโหด โทษสูงสุดถึง 10 ปีก็ตาม แต่ที่สุดถ้ากระแสจุดติดขึ้นมาก็ยากจะดันทุรังให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปได้ด้วยกฎเหล็กเหล่านี้

แล้วถ้าจับผลัดจับผลูการเมืองช่วง 3 - 4 เดือนก่อนวันลงประชามติ เกิดมี “ปัจจัยแทรกซ้อน” ขึ้นมาจนสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลพอดิบพอดี บางทีอาจมีรายการ “ล้มประชามติ” ก่อนก็เป็นได้ แป๊ะไม่เสี่ยงเดินลุยไฟทั้งที่เห็นอยู่ตรงหน้าว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติแน่ๆ

เพราะการปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญเดินไปถึงจุดคว่ำ จะมีผลกระทบตามมากมาย ไม่ได้ง่ายเหมือนที่ใครคิดว่า จะหยิบฉบับไหนมาปัดฝุ่นแล้วมัดมืดชกเอา แต่สถานการณ์จะเปลี่ยนไป กลายเป็นแป๊ะที่เพลี่ยงพล้ำ และกลายเป็นฝ่ายถูกรุกไล่เสียเอง

เสียงประชาชนที่โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญก็จะถูกตีกินว่า เป็นคะแนนไม่ไว้วางใจ คสช. และถูกฝ่ายตรงข้ามเอามาเป็นความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวสู้กับทหาร ถึงตรงนั้นแป๊ะอาจตกที่นั่งลำบากก็เป็นได้

ซึ่งเชื่อว่า แป๊ะไม่อยากเดินไปสู่จุดนั้นแน่ และมีสิทธิ์จะตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลมในตอนที่ยังควบคุมได้อยู่!

แม้แต่สิ่งที่ใครๆ คิดว่า จะไม่เกิดอย่าง “รัฐประหารซ้อน” ก็ไม่ใช่ประตูที่ปิดตาย ถ้าวันหนึ่งต้องตกอยู่ในสถานการณ์จนตรอกสุดๆ อาจมันเป็นวิธี “ล้างไพ่ - นับหนึ่งใหม่” ของแป๊ะก็เป็นได้เช่นกัน เพราะคนที่ถูกวางตัวให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยุคหลังๆ ถูกคัดสรรมากับมือ โดยเฉพาะความไว้วางใจ ถ้าต้องลงมือปฏิบัติการพิเศษเพื่อต่ออายุขัย

ซึ่งอาจเป็นคำตอบว่า ทำไม ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน จึงเป็น “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เลือดแท้บูรพาพยัคฆ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นนายทหารประเภทนักรบที่ดุดันเฉียบขาด ไม่แพ้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.คนปัจจุบัน

เพียงแต่รอบนี้ ถ้าเกิดตัดสินใจทำเพื่อ “ผ่าทางตัน” ทำให้สถานการณ์ตัวเองดีขึ้นเพื่อทำภารกิจให้เสร็จ แต่ทหารได้รับแรงต่อต้านมากทั้งจากภายในและภายนอก ตัวละครใหม่ที่จะถูกวางตัวให้มาทำหน้าที่อาจต้องเป็น “พลเรือน” สายตรง “แป๊ะ” แทน เพื่อลดแรงเสียดทาน

ขณะที่เหล่าท็อปบูตตัวหลักๆ จะหลบฉากไปเป็น “แบ็กอัพ” อยู่ข้างหลังเพื่อค้ำยันรัฐบาลดังกล่าว!

ตามคิวที่เริ่มมีการจับจ้องไปที่ “ส.ตึกบัญฯ” รองหัวหน้าเสนาบดีฝ่ายพลเรือน ที่ระยะหลังมีนักธุรกิจต้นๆ ของประเทศเข้า - ออกที่ห้องทำงานบ่อย มีการร่วมงานกันบ่อยครั้ง จนถูกจับสังเกตว่า เป็นการฟอร์มทีมรอหรือไม่

หลายคนอาจตั้งคำถามเรื่องความไว้วางใจที่แป๊ะมีต่อ “ส.ตึกบัญฯ” ว่ามากพอที่จะให้รับภารกิจนั้นเชียวหรือ แต่กระนั้นก็อย่าลืมว่า ทุกครั้งที่ “บิ๊กป้อม” ไปต่างประเทศมักจะหนีบไปด้วยเสมอแทบทุกรอบ

ที่สำคัญครั้งหนึ่ง “บิ๊กตู่” เองก็เคยตัดสินใจหักด้ามพร้าด้วยเข่า ด้วยการปรับ ครม. ยกทีมเศรษฐกิจของ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกทั้งทีมและเอาทีมของ “ส.ตึกบัญฯ” มาแทนทั้งทีม

นโยบายเศรษฐกิจแทบจะยกเหมาให้ดูแลเสร็จสรรพ ขณะที่เจ้าตัวก็เคยมีข่าวมาตลอดกับเก้าอี้ตัวนี้ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์เมืองในประเทศที่ผ่านมา เนื่องจากชื่อชั้นในแง่ของเอกชนได้รับการยอมรับ และบุญเก่าผลงานเด่นสมัยรุ่งเรืองกับพรรคไทยรักไทย ดังนั้น อะไรมันก็ไม่แน่ในยุคท็อปบูต ถ้าวันหนึ่งทหารถึง “ทางตัน”

อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นในยุคของ คสช. ในเมื่อภารกิจสำคัญ ยังไม่เสร็จ การลงจากหลังเสือง่ายๆ ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้น จำคำที่ “ดร.ปื๊ด” เคยระบายความจริงเอาไว้ว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

แต่จะอยู่ยาวแบบไหน เขามีวิธีของเขา เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ไม่มีตายตัว อะไรที่คิดว่า เป็นไปไม่ได้ เป็นไปมาแล้วกี่ครั้งในยุคนี้

อย่างคูหาประชามติ 7 สิงหาคมที่ว่าแน่ๆ อาจหายไปจากโรดแมปเฉยๆก็เป็นได้!



กำลังโหลดความคิดเห็น