รองนายกฯ รับมีบางประเด็นในร่าง รธน.ต้องปรับแก้ ส่วนคำที่อาจมีปัญหายากต่อความเข้าใจ ต้องถาม กรธ.ว่ามีวัตถุประสงค์อะไร แย้มเพิ่มคำถามในประชามติได้ เตือนพวกบิดเบือนระวังผิดกฎหมาย ส่วน รด.แค่สร้างความเข้าใจร่าง รธน. ไม่ได้ไปชี้นำ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการรวบรวมความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขณะนี้มีบางหน่วยงานเริ่มส่งเข้ามาบ้างแล้ว โดยมีเวลาจนถึงวันที่ 10 ก.พ. หลังจากนั้นตนจะรวบรวมและเสนอให้นายกรัฐมนตรีเลย ไม่ต้องผ่าน ครม.อีก โดยข้อเสนอของ ครม. เป็นการแสดงความคิดเห็นเป็นรายมาตรา ส่วนเรื่องให้มีหมวดปฏิรูปทราบว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาขานรับแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีบางประเด็นที่ต้องปรับแก้ แต่บางอย่างอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่วิจารณ์กัน เป็นเทคนิคหรือคำที่อาจจะมีปัญหา ยากต่อการที่รัฐบาลที่เข้ามาจะเข้าใจและบริหารได้ซึ่งจะทักท้วงไปด้วย โดยจะถามกรธ.ว่าเป็นความตั้งใจให้ยากหรือไม่ ถ้าเป็นความตั้งใจให้บริหารยากขึ้นเพื่อให้อยู่ในความสุจริตก็อาจจะใช้ได้ แต่ถ้าแม้สุจริตแล้วยังบริหารยากจนทำให้ไม่กล้าทำ อาจเกิดเกียร์ว่างได้ ส่วนเรื่องกลไกตรวจสอบนั้นที่ผ่านมาจะปล่อยให้ทำผิดก่อนแล้วค่อยจับผิด ทำให้ยากต่อการเยียวยาและแก้ไข ดังนั้น อะไรที่ห้ามไว้ก่อน เตือนไว้ก่อนได้จะดูดีกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า คำถามในการทำประชามตินอกจากเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว สามารถมีคำถามอื่นพ่วงเข้าไปได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ในขณะนี้ยังเปิดโอกาสให้มีคำถามพ่วงได้ โดยจะเป็นการเสนอคำถามจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งต้องปล่อยไปตามนั้นจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนั่นคือ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
สำหรับการทำประชามติครั้งนี้สามารถนำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ พ.ศ. 2552 มาปรับแก้แล้วใช้ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เอาไว้ใช้ในเรื่องของโครงการต่างๆ ไม่ใช่ของรัฐธรรมนูญ เป็นการรับฟังความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา ไม่จำเป็นต้องยึดเสียงข้างมาก แต่กรณีของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องของการผ่านหรือไม่ผ่าน โดยปรัชญาจึงเอามาใช้ด้วยกันยาก ดังนั้นหากจะกำหนดต้องออกกฎหมายใหม่
ส่วนที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เป็นห่วงเรื่องที่มีการบิดเบือนรัฐธรรมนูญในโซเชียลมีเดียนั้น รองนายกฯ กล่าวว่า ตนต้องถามนายมีชัยว่าจะให้รัฐบาลทำอะไรบ้าง แต่เรื่องการโพสต์อะไรที่ไม่ถูกต้องหรือบิดเบือนนั้นมีกฎหมายอยู่แล้ว ประเทศไทยจะอยู่โดยไม่มีกฎหมายเหล่านี้คงไม่ได้ อย่าว่าแต่บิดเบือนเรื่องนี้เลย บิดเบือนข่าวในโซเชียลมีเดีย บิดเบือนข่าวดาราอะไรก็ตามยังฟ้องร้องกันจำนวนมากซึ่งยังสามารถใช้กฎหมายปกติได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ห้ามรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเดียวกันมีการให้นักศึกษาวิชาทหารไปทำความเข้าใจกับประชาชนหน้าหน่วยเลือกตั้ง จะทำให้การทำประชามติไม่สะท้อนความเป็นจริง รองนายกฯ กล่าวว่า แน่ใจหรือว่าเขาจะทำอย่างนั้น เพราะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ไปไกลอย่างที่พูดกัน เรื่องนี้ต้องถามฝ่ายทหาร อย่างไรก็ตาม เรื่องทำความเข้าใจเป็นหน้าที่ของคนทั้งประเทศอยู่แล้ว เป็นไปได้อย่างไรที่จะโหวตร่างรัฐธรรมนูญกันแต่ไม่มีกระบวนการใดออกมาสร้างความเข้าใจ