xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ก้าวสู่ปีที่ 3 คสช.ครองเมือง “สอบตก-สอบผ่าน” ไม่ต้องสนใจ ทุกอย่างวัดกันที่ “ประชามติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -2 ปีเต็มแล้วสินะ...ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก้าวเข้ามายึดอำนาจการปกครอง และบริหารประเทศมาจนถึงวันนี้

ก็ต้องถามว่า 2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนคนไทยมอง คสช. ภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และอย่างไร

เพราะต้องยอมรับว่าช่วงแรกที่ คสช.เข้ามา เสียงแซ่ซ้องสรรเสริญมีมากกว่าเสียงก่อนด่า พูดง่ายๆได้รับความชื่นชมในฐานะ “ฮีโร่” ผู้ก้าวเข้ามาหย่าศึกทางการเมือง ที่กำลังจะยกระดับไปเป็น “สงครามกลางเมือง” ขึ้นทุกขณะ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอะไรๆก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด แม้จะมี “อำนาจล้นฟ้า” จากทั้งประกาศคณะรัฐประหาร และมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ก็ตาม

2 ปีผ่านสอบตกแทบทุกด้าน

ว่ากันตามเนื้อผ้าคงต้องบอกว่า 2 ปีที่ คสช.เข้ามาคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ยังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมแทบจะทุกด้าน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปากท้องประชาชน ผนวกกับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ไม่มีทีท่าจะโงหัวขึ้นกัน รวมทั้งวิกฤตภัยแล้งที่ทำให้การบริหารจัดการน้ำ ส่งผลให้การบรรเทาความเดือดร้อนหรือช่วยเหลือเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ทำไม่ได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น แม้ “รัฐบาลขุนทหาร” จะพยายามจัด “แคมเปญประชารัฐ” ที่เป็นสาแหรกเดียวกับ “ประชานิยม” ทุ่มเม็ดเงินภาครัฐลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจหลายครั้ง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ที่อาจจะพอคุยได้ว่ามีผลงานบ้างก็คงเป็นด้านความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ ที่อาจจะมีกลุ่มก้อนขั้วตรงข้ามที่ขยับเคลื่อนไหวบ้าง แต่ก็ถูก “ยาแรง” กดทับไว้จนไม่สามารถสร้างความปั่นป่วนได้เหมือนสมัยรัฐบาลเลือกตั้ง

แต่ก็คงจะรวบรัดสรุปว่า มีความปรองดองเกิดขึ้นแล้วไม่ได้ เนื่องจากความเห็นต่างในสังคมยังมีอยู่ในวงกว้าง อาจจะแค่เปลี่ยน “คู่ขัดแย้ง” จากฝ่ายการเมืองด้วยกัน มาเป็นฝ่ายการเมือง “ขั้วสีแดง” กับ “ชุดลายพรางสีเขียว” ซึ่งก็คือ คสช.นั่นเอง ส่วนอีกฝ่ายการเมืองอีกฝั่งก็เลือกที่จะ “จำศีล” หลบอยู่ใต้เงาของ “รัฐบาลทหาร” รอจังหวะเท่านั้นเอง

ยิ่งหากพูดเลยไปถึง “วาระการปฏิรูป” ที่รัฐบาล คสช.เองชูเป็น “ธงนำ” ในการอยู่ในอำนาจยาวกว่า “รัฐบาลรัฐประหาร” ในอดีต โดยให้เหตุผลหรือข้ออ้างว่า จำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ เพื่อวางแนวทางต่างๆให้เป็นไปตาม “โรดแมป คสช.” และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามสโลแกน “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นั้นก็ต้องบอกว่า “สอบตก” อย่างสิ้นเชิง

2 ปีผ่านยังไม่มีประเด็นปฏิรูปเรื่องใดที่สำเร็จเป็นรูปธรรม ทั้งการปฏิรูปตำรวจ หรือการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ไม่มีการขยับหยิบจับอย่างจริงจัง อาจจะมีเพียงแค่ “การจัดระเบียบต่างๆ” หลักๆเป็นในด้านสังคม พื้นที่ทางเท้า ปิดผับบาร์ ผู้มีอิทธิพลหางแถว ซึ่งยิบย่อยเกินกว่าที่จะนำมาเป็นผลงานด้านการปฏิรูปได้

ยิ่งหากไปฟังเสียง “ฝ่ายการเมือง” ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือบรรดาผู้นำทางความคิดในสังคม ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า 2 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของรัฐบาล คสช.ยังไม่เห็นผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งในเรื่องการสร้างความปรองดอง เศรษฐกิจ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือกระทั่งการปฏิรูป
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)
“คตร. - ศอตช.” ลุยปราบโกงกู้หน้า

ที่เป็นหน้าเป็นตาพอคุยได้หน่อยก็อาจจะเป็นด้านการบังคับใช้กฎหมายที่ “นายกฯตู่” เองประกาศให้ความเป็นธรรมกับทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่เลือกเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยมีขุนพลข้างกายอย่าง “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้คอยกำกับดูแล คอยสแกนเรื่องต่างๆไม่ให้หนักเกินไป หรือหย่อนยานเกินไป ประคองความรู้สึกทุกกลุ่มทุกฝ่ายไม่ให้การต่อต้านขยายวงออกไป

ดูอย่างการเปิดกระทรวงต้อนรับ “จตุพร พรหมพันธุ์ - ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ ทำให้ลดอุณหภูมิความร้อนแรงของประเด็นดังกล่าวไปได้พอสมควร หลังจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลือกใช้วิธี “กำปั้นทุบดิน” บอกว่าไม่มีการทุจริต และทำท่าทีรังเกียจผู้ที่ต้องการเข้าตรวจสอบ จนถูกมองว่า “มีพิรุธ” มากกว่าการันตีความโปร่งใสให้กับโครงการดังกล่าว

หรือแม้กระทั่งการจัดการกับ “พระเทพญาณมหามุนี” หรือ “พระธัมมชโย” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก็เป็นอีกหนึ่งปฏิบัติการที่สร้างชื่อให้กับ พล.อ.ไพบูลย์อยู่ไม่น้อย

ประเด็นเรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ว่าในยุคของ คสช.จะยังมีกระแสข่าวว่า ยังไม่หมดไป และมีการทุจริตโกงกินในหลายโครงการอย่างน่าเกลียด แต่ก็ต้องให้เครดิต คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่ “บิ๊กตู่” ดูแลเอง และ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มี “บิ๊กต๊อก” เป็นประธาน รวมทั้งบทบาทในการ “แบ็กอัป” ให้กับหน่วยงานตรวจสอบ ทั้ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กรมาสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องการและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นต้น ในการทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ไม่ได้เป็นแค่ “เครื่องมือ” ของฝ่ายการเมือง จนสามารถสกัด “ขบวนการโกงกิน” ในหลายโครงการ ตลอดจนตรวจสอบอย่างเข้มข้นจนข้าราชการต่างผวาไปตามๆกัน โดยเฉพาะ “บัญชีดำ” ที่ชงให้ “บิ๊กตู่” ในฐานะหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สอยร่วงไปหลายร้อยคน

แต่ก็ยังมีอีกหลายโครงการ หลายกรณีที่รอบทพิสูจน์ในการเอาจริงจังปราบปรามการทุจริตของรัฐบาล คสช.อยู่ โดยเฉพาะหลายโครงการที่โยงใยมาถึง “บิ๊ก คสช.” บางคน

หากประมวลผลงานสรุปสุดท้าย ก็ต้องบอกว่า ความประทับใจ “รัฐบาลทหาร” เริ่มลดน้อยถอยลงตามลำดับ ซึ่งก็เป็นธรรมดาตามประสาผู้ที่อยู่ในอำนาจ ยิ่งนานวันก็ยิ่งทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้คนกินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ก็โบ้ยมาที่ “รัฐบาลทหาร” ไปก่อน

ถือเป็น 2 ปีที่เหนื่อยมากสำหรับรัฐบาล คสช. ก็ถามว่าปีที่ 3 จะเป็นยังไงต่อ หากมองในแง่ความนิยมก็ต้องยอมรับตัวเองให้ได้ว่าอยู่ในช่วง “ขาลง” หนทางในการกู้ความศรัทธากระชากเรตติ้งนั่นก็มีอยู่ เพียงแค่ย้อนกลับไปอ่านข้างต้นถึงข้อผิดพลาด รวมทั้งเปิดหู-เปิดใจรับฟังข้อตำหนิติติงจากทุกฝ่าย

ท่าทีประเภท “ยืนกระต่ายขาเดียว” แล้วบอกว่าตัวเองแน่ตัวเองดี หวาดระแวงผู้ที่เห็นจ่างเป็นฝ่ายตรงข้ามไปหมดต้องลด-ละ-เลิกให้ได้

“ประชามติ” ชี้ชะตาอยู่หรือไป??

ปีที่ 3 ของ คสช.มีศึกใหญ่อยู่ที่คูหาประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 หลังจากที่ “ตีมึน” ปัดตกร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว 1 ฉบับเมื่อปีที่แล้ว ครั้นจะมา “ล้มมวย” ฉีกทิ้งไปอีกฉบับก็ดูจะ “ตื้นเขิน” เกินไปหน่อย จึงยังเชื่อว่า ณ นาทีนี้ “บิ๊ก คสช.” เองอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงผ่านการทำประชามติ

แต่ก็ยังมีกระแสข่าวในเชิงหวาดระแวงออกมาเนืองๆว่า “ขุนทหาร” อาจเลือกใช้แผนล้มกระดาน-ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม หลังสถานการณ์ก่อนวันประชามติชักออกอากาศปั่นป่วน จนทำให้ฝ่ายอำนาจชักเสียวว่าจะถูกคว่ำ

แต่เท่าที่สำรวจท่าทีขององคาพยพ คสช. ทั้งตัว “บิ๊กตู่” เอง หรือฝ่ายกฎหมายอย่าง “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่คอยต่อยอดเรื่องทางออกตามฝ่ายอำนาจ ที่ชักออกอาการเซ็งๆ หลังถูกถามเรื่องทางออกหากประชามติไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร สุดท้ายตัดบท ต่อไปจะไม่ตอบแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้ตอบอะไรเลย

เอาเป็นว่า จนถึงนาทีนี้แผนหนึ่งคือ มุ่งหน้าไปสู่วันประชามติร่างรัฐธรรมนูญยังอยู่ เพียงแต่อาจจะปรับแผนเล็กน้อย โดยเฉพาะตอนแรกที่กะจะใช้ไม้แข็งไล่หวดฝ่ายต้านเพื่อกดสถานการณ์ให้สงบจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558กับประกาศ คสช.แต่ต้องผ่อนคลายเปิดเวทีที่สโมสรกองทัพบกวิภาวดีฯให้เพื่อเป็น “รูระบาย” เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังสถานการณ์ภายในประเทศชักรุมๆ หลายฝ่ายเริ่มรู้สึกเหมือนถูกลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกจนขยับตัวกันไม่ได้ ผนวกกับแรงกดดันจากนานาชาติที่นัดกันเข้ามา

การผ่อนคลายให้ทุกฝ่ายได้หายใจ อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลยังตั้งใจจะไปถึงวันที่ 7สิงหาคมอยู่ ยังไม่คับขันถึงขั้นต้องเลือกใช้แผนสองคือ ล้มมันซะก่อนจะสาย

อย่างที่รู้กัน รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอาไว้มาก เพราะ คสช.คิดว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญสามารถผ่านไปได้ อะไรที่หนักๆ ตลอด 2 ปีจะดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสถานการณ์จากทั้งในและต่างประเทศ เนื่องด้วยสถานะ “รัฐบาลทหาร” ที่ชาติประชาธิปไตยทั้งหลายมีข้อจำกัดในการคบหาหรือร่วมมือทำอะไรต่างๆ

มีการประเมินกันว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ บรรยากาศภายในประเทศสเตปต่อไปคือ การมองไปที่การเลือกตั้ง โดยจะมีการตีปี๊บว่า ช่วงเวลาหลังจากนี้คือ การเตรียมตัวสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแม้ในความเป็นจริงจะยังอีกไกล เพราะต้องเลยกลางปี 2560 ทว่าเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านมันจะทำให้ทุกอย่างดู “ใกล้” ทันที

ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร คสช.และรัฐบาล สามารถโยนไปให้ประชาชนตัดสินใจสนามเลือกตั้ง แม้กระทั่งแรงกดดันจากต่างชาติที่สามารถกำหนดโรดแมปได้อย่างชัดเจนขึ้นกว่าเก่า เพื่อไปชี้แจงทำความเข้าใจว่าประเทศกำลังเดินสู่การเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว

เชื่อกันว่า ความสนใจของประชาชนจะหันไปทางนั้นหมด ผลงานของรัฐบาลจะกลายเป็นเรื่องรองทันที!

ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเอง ซึ่งเป็นฝ่ายเสียประโยชน์จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เต็มๆ แน่นอนว่า อย่างไรต้องหาทางคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ได้ แม้ก่อนหน้านี้ใครจะมองว่า การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญอาจเป็นการหนีเสือปะจระเข้ ที่ คสช. อาจมัดมือชก ด้วยการปรับปรุงรัฐธรรมนูญใหม่ที่โหดกว่าเดิม เพื่อประกาศใช้เลยโดยไม่ต้องทำประชามติให้ลุ้นกันอีก

แต่มันอาจไม่ง่ายอย่างนั้นเสมอไป เพราะถ้าจับพลัดจับผลูร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติขึ้นมา การที่คสช.จะไปร่างใหม่ โดยให้มีเนื้อหาเดิมๆ อีกครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ กระแสคัดค้านจะมีมากกว่าเดิม เสี่ยงจะเกิดความวุ่นวาย เพราะผลของประชามติอาจถูกตีกินจากฝ่ายตรงข้ามได้ว่า ประชาชนไม่เอาเนื้อหาแบบนี้ แต่ คสช.ยังจะดื้อแพ่งยัดเยียดให้

แล้วการแพ้ประชามติ มีโอกาสถูกนำไปตีกินจากฝ่ายตรงข้ามเพื่อกดดันรัฐบาลว่า นี่คือ เสียงของคนส่วนใหญ่ในประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทาง คสช.และอาจเป็นการสร้างความชอบธรรมในการที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างกับรัฐบาล

ถ้าแพ้ประชามติ ก็เท่ากับประชาชนไม่ไว้วางใจ คสช.นั่นเอง
ทักษิณ ชินวัตร หัวเรือใหญ่พรรคเพื่อไทย – กลุ่ม นปช. ที่มีเดิมพันครั้งใหญ่ในการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 เช่นกัน
จับตา “ฝ่ายทักษิณ” เดินเกมแรง

ช่วงนี้จึงต้องสังเกตว่าเสียงของ “ฝั่งตรงข้าม” ดังขึ้นกว่าเก่า ประจวบเหมาะกับวาระครบรอบ 2 ปี คสช. นอกจากออกมาย้ำในเรื่องผลงานของ คสช.แล้ว ก็ไม่ลืมที่จะกระทุ้งเรื่องสิทธิเสรีภาพในประเทศไทยด้วย ตรงนี้ตั้งใจเรียกแขกดึง “ต่างชาติ” ให้มาจับจ้องชัดเจน ทำให้ คสช.เองก็ทำอะไรได้ไม่ถนัดถนี่เหมือนเช่นเคย เพราะรู้ดีว่าสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การจุดกระแสในบ้านเมือง เพื่อกวักมือเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติให้เข้ามากดดันหรือมีมาตรการอะไรสักอย่างกับประเทศไทย

หรือต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปได้ แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ยังมีช่องให้เจาะอยู่ อีกราวเกือบปีเศษก่อนถึงเดือนกรกฎาคม 2560ที่เซตไว้ว่าจะมีดารเลือกตั้ง โดยอาศัยช่วงจังหวะหรือโอกาสสำคัญในการจุดกระแส เพราะตราบที่ยังเป็น “รัฐบาลทหาร” ฝ่ายประชาธิปไตยก็มีความชอบธรรมในการขับเคลื่อนเพื่อต่อต้านในสายตาชาวต่างชาติเสมอ

แต่ถ้าฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถทะลวงจน คสช.ล้มครืนได้ และปล่อยให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจนมีรัฐบาล นาทีนั้นจะเป็น “พรรคเพื่อไทย” ที่ลำบาก เพราะการจะเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล ซึ่งไม่ว่าสุดท้ายจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร จะเป็นนายกฯคนนอก หรือรัฐบาลผสม แต่หากมาจากการเลือกตั้ง อย่างน้อยๆ นานาชาติก็กดดันไม่ได้ ในฐานะที่เป็น “รัฐบาลจากการเลือกตั้ง”

แต่การจะเคลื่อนมวลชนมาตะเพิดย่อมไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เหมือนกับตอนยังเป็น “รัฐบาลทหาร” อยู่ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยและองคาพยพ “ระบอบทักษิณ” ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสู้เพื่อทำลาย “รัฐธรรมนูญ” และทำทุกทางไม่ให้มีการเลือกตั้งที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถึงเวลานั้นคงจำเป็นต้องเดินเกมเสี่ยงหวังกินสองเด้ง เด้งแรกล้มรัฐธรรมนูญของ คสช. เด้งสองเขี่ย คสช.ให้พ้นบัลลังคก์

ในขณะที่คสช.เอง ก็ต้องการเดินไปสู่จุดหมายปลายทางคือ รัฐธรรมนูญผ่าน การเลือกตั้งเกิด และตัวเองอยู่ในอำนาจซ่อนรูปอีก 5 ปี เพื่อบอนไซศัตรูของตัวเอง เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเหมือนกัน

ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายของตัวเอง

ดังนั้น ผลของการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมจึงมีผลต่อสถานการณ์ภายในประเทศในอนาคตอย่างมาก เพราะนอกจากคำว่า “แพ้ - ชนะ” แล้ว แต่มันหมายถึง โรดแม็ปกำจัดศัตรูยังเขยิบคืบหน้าออกไป

อย่างไรก็ดี สำหรับ คสช.ยังคงใช้แนวทางเดิมที่เคยใช้เสมอมา นั่นคือ มองสถานการณ์เป็นช็อตต่อช็อต อย่างวันนี้ยังดูไปแค่วันที่ 7 สิงหาคมอย่างเดียวก่อน เพราะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เห็นว่า สถานการณ์หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร

ในวันนี้วันที่เชื่อว่า ยังมีโอกาสชนะมากกว่าแพ้ในการทำประชามติ อย่างไรเสียก็ต้องทำทุกอย่างให้ “ผ่าน” ไปให้ได้ ยกเว้นมีปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงไปก็ต้องเปลี่ยนแผน

อย่าลืมว่า โดยธรรมชาติทหารที่ต้องวางยุทธการให้รัดกุม ประเมินสถานการณ์ให้รอบด้าน มักจะมี “แพลนเอ - บี - ซี” อยู่เสมอ โดยเฉพาะนิสัยขี้ระแวงที่มองอะไรเป็นลบมากไว้ก่อน เพียงแต่ ณ ขณะนี้ “แพลนเอ” ยังพอเดินต่อไปได้ ไม่ถึงขนาดจวนตัวจนต้องล้มกระดานรวดเร็วเกินไป

แล้วก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่า “แพลนเอ” จะไปถึงไหน ในเมื่อวันนี้ยังไม่รู้ว่า “นายใหญ่” ของอีกฝั่งจะเดินเกมอย่างไร เพราะกว่าจะถึงวันทำประชามติยังเหลือเวลาอีกร่วม 2 เดือนกว่า

แต่ที่ชัวร์ๆ อีกฝั่งสู้แน่ แค่จะมาไม้ไหนเท่านั้นเอง.



กำลังโหลดความคิดเห็น