ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยุค “คุณชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ อุตส่าห์ทำเท่ห์ปรับปรุงและสร้างทางจักรยานทั่วกรุง ถึงกับลงทุนตัดสางต้นไม้รอบวังให้คนสาปแช่ง โดยถลุงงบไปแล้วเกือบ 30 ล้านบาท แต่มาวันนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กลับฟันโช๊ะไม่ไว้หน้า ทางจักรยานของกทม.ไม่คุ้มค่าด้วยประการทั้งปวงขอให้ทบทวนเสียใหม่ ก่อนจะเสียหายกันไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สตง.ได้ทำหนังสือถึงประธานสภากรุงเทพมหานคร (ร้อยตำรวจตรี เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ) ขอให้ทบทวนและปรับปรุงแก้ไขโครงการก่อสร้างพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางจักรยานของ กทม. เนื่องจากพบปัญหาหลายประการและพบความไม่คุ้มค่าของเงินในการปรับปรุง
สตง. ระบุว่า ที่ผ่านมา กทม. ดำเนินการสร้างทางจักรยานทั้งหมด 54 เส้นในถนนสายหลัก รวมระยะทาง 364.54 กิโลเมตร (ไม่รวมถนนสายรองที่ดำเนินการโดยสำนักงานเขต) และในช่วงปี 2557-2558 ปรับปรุง 6 เส้นทาง (เสร็จแล้ว 5 เส้นทางเหลือ 1 เส้นทาง) ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 54.99 ล้านบาท
ในการตรวจสอบครั้งนี้ สตง. ดำเนินการตรวจสอบสังเกตการณ์เส้นทางจักรยานปรับปรุงแล้วเสร็จ 2 เส้นทาง 17 ถนน ได้แก่ เส้นทางจักรยานบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ 12 ถนน และเส้นทางจักรยานรอบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่) 5 ถนน พบว่า ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง เกิดความไม่คุ้มค่าของเงินงบประมาณที่ดำเนินการปรับปรุงรวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 28.13 ล้านบาท
ในขณะที่บางเส้นทางไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แต่อย่างใด ทั้งนี้เส้นทางจักรยานในแต่ละถนนส่วนใหญ่มีผู้เข้ามาปั่นจักรยานหรือมีผู้ใช้ประโยชน์น้อยมาก ประมาณ 5-10 ราย/วัน (ยกเว้นที่หน่วยงานมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการปั่นจักรยานโดยการปิดถนน) และอาจมีเพียงช่วงเช้าหรือช่วงเย็น
การกั้นแบ่งทางจักรยานประมาณ 1.2 เมตร ทำให้ผิวทางสำหรับการจราจรที่มีเลนเดียวมีขนาดแคบลง มีรถวิ่งสวนทางกัน ส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อปัญหาการจราจรที่มีปริมาณหนาแน่น ทำให้เกิดการติดขัดมากยิ่งขึ้น ประกอบกับมีรถโดยสารสาธารณะ (รถเมล์) จำนวนมากวิ่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีประชาชนบางรายให้ข้อมูลว่า การกั้นแบ่งเส้นทางจักรยานเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการจราจร และมีผู้เสียชีวิตด้วย
“..... ทางจักรยานค่อนข้างแคบ ไม่เรียบ มีฝาท่อระบายน้ำ มีขอบทางเท้า บางแห่งมีจุดน้ำ ขัง ประกอบกับขนาดช่องทางจักรยานแคบ ไม่สามารถปั่นสวนทางหรือแซงได้ ..... ผู้ประกอบการในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นว่า ทางจักรยานมีผลเสียทางด้านเศรษฐกิจของผู้ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวค่อนข้างมาก ทำให้การค้าขายยุ่งยาก .... การทำทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์เพื่อการท่องเที่ยวนั้นไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติและต่างถิ่น จึงไม่มีรถจักรยานนำมาปั่นได้ แม้ก่อนหน้านี้มีโครงการจัดหาจักรยานเพื่อไว้บริการประชาชน แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จและมีการยกเลิกโครงการไปแล้ว....”
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการปรับปรุงเส้นทางจักรยานบริเวณวงเวียนใหญ่ ไม่เป็นไปตามรูปแบบรายการที่กำหนด และมีข้อสังเกตการออกแบบติดตั้งลูกแก้วสะท้อนแสงบริเวณเส้นทางจักรยานบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์อาจเกินความจำเป็น ในขณะที่การติดตั้งหลักพลาสติกล้มลุกสะท้อนแสงอยู่ในจุดเดียวกันอยู่แล้ว ทำให้เป็นการไม่ประหยัดเงินงบประมาณรวมมูลค่าประมาณ 3.41 ล้านบาท
สตง. เห็นว่า โครงการก่อสร้างปรับปรุงเส้นทางจักรยาน กทม. เจอสภาพปัญหาข้างต้น จะส่งผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนไม่สอดคล้องตามวิถีชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย ส่งผลให้การดำเนินงานของ กทม. ไม่สารถบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ อีกทั้งเป็นการใช้จ่ายเงินโดยไม่ประหยัด ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผล และไม่เกิดความคุ้มค่า จึงแจ้งผลตรวจสอบและเสนอแนะให้ผู้ว่าฯ กทม.พิจารณาทบทวน ปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของสตง.โดยเคร่งครัด และแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้ สตง. ทราบด้วย
“ชายหมู” ทราบแล้วเปลี่ยน