ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -อีกหนึ่งฝันร้ายของคนเมือง กรณีปรับปรุงภูมิทัศน์ไปรอบวังสวนจิตรลดา ปฐมบททัศนะอุจาดหายนะไม้ยืนต้นอายุหลายสิบปี ผลกระทบจากความสะเพร่าของ กทม. และข้อครหาผลาญงบประมาณโดยใช่เหตุที่กำลังเป็นดรามาคุกรุ่น แน่นอนเรื่องนี้ ‘ชายหมู’ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเลี่ยงไม่ได้
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (วังสวนจิตรลดา) ดำเนินการก่อสร้างทางเท้าเพิ่มเติมจากพื้นลาดยางเดิม ขยายทางกว้างอีกประมาณ 1 เมตรกว่า เพื่อจัดสรรปันส่วนเป็นทางจักรยานและทางวิ่งออกกำลังกาย เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถาปนิกและต้นไม้ จับตามองอย่างใกล้ชิดและคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อไม้ยืนต้นรอบวังสวนจิตรลดา อาทิ มะขาม มะฮอกกานี ฯลฯ พร้อมเตือนว่าจะเกิดผลกระทบให้ต้นไม้โค่นล้มได้ในอนาคต กระทบทั้งการเจริญเติบโตรวมทั้งความแข็งแรง เพราะรากของมันถูกตัดแต่งและถูกกดทับด้วยคอนกรีต
ทว่า โครงการฯ ยังดำเนินการด้วยความดันทุรัง และขาดองค์ความรู้ในการจัดการ จนแล้วจนรอด ก็ปรากฏภาพต้นไม้ใหญ่รอบวังสวนจิตรลดา โค่นล้มกีดขวางแชร์เกลื่อนโซเชียลมีเดีย แต่ยังโชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดบาดเจ็บ ขณะที่ กทม. เร่งขนย้ายซากต้นไม้ออก นำเหล็กมาค้ำยันต้นไม้ที่เอียงเสี่ยงล้มเพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ที่สัญจรรอบบริเวณ
ในประเด็นนี้ ทาง กทม. ตั้งโต๊ะแถลงข่าวทันควัน ชี้แจงว่าต้นไม้ที่โค่นล้มเป็นสภาพอากาศ ฝนตกหนักอีกทั้งลมพัดแรง ไม่เกี่ยวข้องกับการเร่งก่อสร้างทางทางเท้าและทางจักรยานที่ กทม. กำลังเดินเครื่องแต่อย่างใด
แต่หากพิจารณาตามหลักวิชาการ การก่อสร้างดังกล่าวก่อผลกระทบต่อไม้ยืนต้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ดังที่อธิบายไว้ข้างต้น งานนี้ กทม. จึงโดนวิจารณ์ยับ ปรับปรุงภูมิทัศน์ประสาอะไร นั่นมันสร้างทัศนะอุจาดชัดๆ แถมยังผลาญงบไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ไม่เกิดประโยชน์ใดต่อส่วนรวมเลย
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ตรวจสอบรอบวังสวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พบว่า คนงานและเจ้าหน้าที่ กทม. กำลังปฏิบัติหน้าที่กันอย่างขะมักเขม้นเพื่อดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เสร็จสิ้น โดยบริเวณฝั่งตรงข้ามสวนสัตว์ดุสิต จะเป็นจุดที่มีการนำเหล็กค้ำขนาดสูงใหญ่มาค้ำยันต้นไม้เรียงรายตลอดแนว สลับกับไม้ค้ำบ้างประปราย ส่วนด้านอื่นของวังสวนจิตรลดาพบเห็นการค้ำยันเพียง เล็กน้อย โดยเฉพาะการนำท่อนเหล็กมาค้ำยัน จนกลายเป็นปัญหาก่อทัศนะอุจาด
ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย รวมทั้งถูกจับตาในเรื่องการใช้งบประมาณไม่เกิดประโยชน์
โดยรอบบริเวณมีการก่อสร้างทางปูนทาสีทับรากไม้บางส่วน คู่ขนานกับทางลาดยางที่มีอยู่เดิม ลักษณะเส้นทางคดเคี้ยว ขลุกขลักไม่สมมาตร บางจุดลาดเอียงลำบากต่อการเดินและปั่นจักรยาน แม้พยายามหลบเลี่ยงไม้ใหญ่แต่การก่อสร้างย่อมส่งผลกระทบต่อไม้ยืนต้นที่โดนตัดแต่งรากโบกปูนทับ
ในประเด็นนี้ ทางเครือข่ายอนุรักษ์ภาคประชาชน อาทิ เครือข่ายต้นไม้ในเมือง, กลุ่ม Big Treeฯลฯ อดเป็นห่วงไม่ได้ มีการเคลื่อนไหวยื่นหนังสือถึง กทม. และสำนักพระราชวัง เพื่อขอเข้าร่วมให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ขณะที่คณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดเตรียมแผนปฏิบัติงาน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต้นไม้ในเมือง ก็ได้แต่หวังว่าจะจะได้เห็นผลงานโดยเร็ว
ดูเหมือนเรื่องร้ายๆ ของ 'ชายหมู' ที่กำลังรอการระบายเกิดอุดตันขึ้นมาเสียดื้อๆ ไหนจะยังปัญหาใหม่ไหลบากเข้ามาหมักหมมอีก ในส่วนของกรณีปรับปรุงภูมิทัศน์ไปรอบวังสวนจิตรลดา กับข้อครหาผลาญงบสร้างโครงเหล็กค้ำยันต้นไม้สร้างทัศนนะอุจาดนั้น ขอภาวนาให้เป็นโครงการห่วยๆ โครงการสุดท้าย ก่อนท่านผู้ว่าฯ อำลาเก้าอี้ก็แล้วกัน!