xs
xsm
sm
md
lg

ปลูกป่าเพื่อโค่นใหม่... เขาโล้น-ตอเกลื่อนทั่วไทย มีสิทธิแค่ไหน-ใครบงการ!!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางวิวาทะ “ท้าปลูกป่าน่าน 5 แสนไร่” จากผู้ว่าฯ เพื่อตอกกลับนักเลงคีย์บอร์ด ส่งให้ประเด็นอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว กลายเป็นเรื่องร้อนขึ้นมาอีกครั้ง เหล่าคนดังร่วมประกาศลงขันสมทบทุน “ปลูกป่า” ทะลุหลักล้าน!! ในขณะที่บางเสียงคัดค้าน แนะลงทุนลงแรงไปก็เท่านั้น ถ้าปลายทางคือการเผาทิ้ง-ทำลาย เมื่อ “คนหิว ป่าก็หาย” ไม่ใช่แค่ จ.น่าน ที่กำลังถูกจับตา
หันกลับมามองภาพใหญ่ ก็พบว่าร่มเงาอายุกว่าร้อยปีถูกกุดดะทั่วไทย เหลือเพียงตอเกลื่อนให้รู้สึกสะเทือนใจ พร้อมคำถามที่ฝากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ช่วยหาคำตอบว่า เมื่อไหร่กระบวนการ “หากินกับป่า” จะจบสิ้นลงเสียที!!




“น่าน” ไง! คนไทย “กินป่าเป็นอาหาร”
"ผมและผู้บัญชาการดิ๊ก (มณฑล38) จะเป็นศัตรูกับทุกคนที่มาด่าว่าจังหวัดน่าน เอาน่านมาเป็นเครื่องมือทำเงินในการโพสต์โดยไม่มีข้อเสนอแนะว่า ต้องหรือควรทำอย่างไร หนึ่ง สอง สาม นักเลงคีย์บอร์ดทั้งหลาย ผมมีพื้นที่ให้พวกคุณปลูกป่ากว่า 500,000 ไร่ คุณมาช่วยผมปลูกหน่อยครับ"
 
นี่คือโพสต์ของ สุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ที่ถูกเผยแพร่ออกไป เพราะต้องการตอกกลับแฟนเพจ “ทวงคืนผืนแผ่นดินไทย” หลังโพสต์ภาพภูเขาหัวโล้น จ.น่าน แนบคำสบประสาทเอาไว้ว่า “สองข้างทางของจังหวัดน่าน เป็นเช่นนี้ ผู้ว่าฯ จังหวัดน่าน และหน่วยงานรัฐ พวกท่านเพิกเฉยได้อย่างไร กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนนะครับ ไม่ละอายใจบ้างหรือ”


และยิ่งทำให้ประเด็นร้อน ระอุคุกรุ่นท่ามกลางแดดเปรี้ยงๆ เข้าไปใหญ่ เมื่อวิวาทะท้าทาย “ปลูกป่า 5 แสนไร่” ของผู้ว่าฯ ถูกแชร์ต่อไปอีกเรื่อยๆ ส่งให้มีคลื่นร้อนๆ ถาโถมสะท้อนกลับมา ไม่เว้นแม้แต่แร็ปเปอร์ชื่อดังอย่าง “โจอี้ บอย” หรือ “อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต” ที่ออกมาประกาศเจตนารมณ์ผ่านเฟซบุ๊ก "Apisit Joeyboy Opasaimlikit" ขอนำเงินที่เหลือจากยอดสมทบทุนน้ำท่วม มารวมกับเงินส่วนตัวอีก 2 แสนกว่าบาท เพื่อนำไปสมทบทุน “6 แสนบาท” ซื้อต้นกล้ามาปลูกป่า ตามคำท้าทายที่ผู้ว่าฯ ได้กล่าวไว้ 
 


แม้แต่ “สุหฤท สยามวาลา” อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ ยังขอประกาศร่วมบริจาคอีก “5 แสน” เพื่อสนับสนุนให้เปลี่ยนพื้นที่ข้าวโพดเป็นพื้นที่สีเขียว

“ผมยินดีบริจาค 5 แสนบาทที่เป็นเงินเลี้ยงลูกผม จากสิ่งที่ผมไม่ได้ทำลายและไม่เคยได้ประโยชน์ ให้กับการไม่ดูแลป่าของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบครับ แต่ผมจะปลูกเฉพาะพื้นที่ที่เคยปลูกไร่ข้าวโพดเท่านั้น ท่านผู้ว่าฯ น่านฝากหาให้ผมด้วยครับ


แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าทั้งเงินทุนและแรงคนที่ลงไป ไม่นำไปสู่ปลายทางอันเขียวขจี “Pat Hemasuk” สมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่งมองเห็นช่องโหว่ในอีกมิติ จึงออกมาโพสต์เตือนให้ใจเย็นและคิดให้ดีก่อนเริ่มโครงการปลูกป่าตามคำท้า แนะว่าถ้าปลูกตอนนี้มีแต่จะเสียทั้งเงินและแรงไปฟรีๆ เท่านั้นเอง

...เงินมีแล้ว คนไปช่วยปลูกมีแล้ว ต้นกล้าก็มีแล้ว แล้วน้ำฝนที่จะเลี้ยงต้นกล้าไม่ให้ตายล่ะ เคยมีคนคิดถึงไหม ปลูกต้นกล้าแล้วก็ชูสองนิ้วถ่ายรูปอัปสเตตัส แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน... รอให้ฝนมาแล้วค่อยเริ่มทำโครงการน่าจะดีกว่าไหม จะได้ไม่เสียทั้งเงินเสียทั้งแรงไปเปล่าๆ โดยไม่มีต้นไม้เพิ่มขึ้นมาตามวัตถุประสงค์เลยสักต้น..."



และท้ายที่สุดแล้ว การปลูกป่าก็อาจเป็นเพียงโครงการโลกสวยที่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ถ้าวิเคราะห์จากข้อมูลที่ผู้ว่าฯ จ.น่าน ออกมาชี้แจงเพื่อลดดรามาครั้งล่าสุด จะเห็นว่าภูเขาหัวโล้นที่เห็นๆ กันอยู่ขณะนี้ เป็นปัญหาเรื้อรังมากว่า 10-15 ปี เนื่องจากการปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านผู้อยู่อาศัยบนผืนดินดังกล่าว

เหตุเพราะพื้นที่ป่าทั้งหมด 6.4 ล้านไร่ใน จ.น่าน ซึ่งถือเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ถูกควบคุมโดย พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ปี พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ส่งให้ชาวบ้านไม่สามารถปลูกพืชชนิดอื่นแล้วขายได้ เพราะผิดกฎหมาย จึงต้องปลูกข้าวโพดเลี้ยงชีพ เพราะต้นทุนถูกและง่ายต่อการปลูก จึงส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “คนหิว ป่าหาย” อย่างที่เป็นอยู่

"ถ้าชาวบ้านไม่เอา ปลูกป่าก็ไร้ผล เพราะสุดท้าย ประชาชนก็จะเอายามาหยอดต้นไม้ให้ตาย เพื่อกลับไปทำไร่ใหม่... พื้นที่ของเรา ผังเมืองทั้งจังหวัด เป็นสีเขียวอ่อนกับเขียวแก่ ไม่มีพื้นที่สีม่วงให้ทำอุตสาหกรรม ถ้าไม่ให้เราปลูกข้าวโพด จะให้เราปลูกอะไร เราจะลงทุนปลูกหรือปรับเปลี่ยนอาชีพให้ถูกต้องตามกฎหมายป่าไม้ได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้คือคำถามที่เราต้องช่วยกันหาคำตอบ"

“เรากินป่าเป็นอาหาร โดยไม่รู้ตัว” คือคำตอบที่สารคดีรายการสามัญชนคนไทย "ป่าเมืองน่านที่หายไป : คนไทยกินป่าเป็นอาหาร" ช่วยหาข้อสรุปเอาไว้ให้ ชี้ให้เห็นว่าการกินอาหารในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ไก่, หมู, ปลา ฯลฯ คือแรงผลักที่ส่งให้ จ.น่าน กลายเป็นภูเขาหัวโล้นไปโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากข้าวโพดคือวัตถุดิบหลักในระบบอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่ง จ.น่านก็คือพื้นที่ที่ปลูกพืชชนิดนี้มากเป็นอันดับ 5 ของประเทศนั่นเอง




กุดดะทั่วไทย! ไม้ใหญ่กำลังอยู่ในอันตราย!!
ลองวิเคราะห์ดูแล้ว ปรากฏการณ์ “กินป่าเป็นอาหาร” ที่เกิดขึ้นกับ จ.น่าน จนทำให้เกิดภูเขาหัวโล้น อาจเกิดจากความจำเป็นในการเลี้ยงชีพของชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ซึ่งต่างจากในอีกหลายๆ พื้นที่ทั่วไทยที่การโค่นทำลายพื้นที่สีเขียว ไม่ได้เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือสถานการณ์บีบบังคับ แต่เกิดจากเจตนา “หากินกับป่า” ซึ่งถือเป็นประเด็นร้อนที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้พื้นที่โล้นๆ บนเขา จ.น่าน ที่กำลังถูกฉายสปอตไลต์อยู่ในขณะนี้เช่นกัน

เริ่มจากการย้อนรอย... ไม้อายุกว่า 100 ปี จำนวน 40 กว่าต้น บนถนนหมายเลข 214 สายสุรินทร์-จอมพระ ที่ถูกโค่นถอนก่อนขนย้ายหายไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อสนองคำสั่งจากผู้ใหญ่ให้ “ขยายถนนจาก 2 เลน เป็น 4 เลน” หลัง ธนินท์ทัศน์ ภูแก้ว ผู้สื่อข่าวประจำเว็บไซต์ข่าวสารทั่วไทย 77 จังหวัด (www.77jowo.com) ลงพื้นที่ทวงถามสนองความคลางแคลงใจของชาวบ้าน กลับไม่พบว่าไม้ฉำฉาขนาด 3-4 คนโอบ จำนวนกว่า 40 ต้น ถูกนำไปเก็บไว้ที่ใด...

[ถนนหมายเลข 214 สายสุรินทร์-จอมพระ ไม้อายุกว่า 100 ปี จำนวน 40 กว่าต้น ถูกโค่นทิ้ง/ ขอบคุณภาพ: www.77jowo.com]
หลงเหลือไว้แค่เพียงคำตอบที่ว่า การตัดโค่นไม้ใหญ่ครั้งนี้ ได้ทำหนังสือถึงศูนย์ประสานงานป่าไม้สุรินทร์ ขออนุญาตจากเขตทางหลวง รวมถึงประสานงานไปยังกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.นครราชสีมา และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เขต จ.นครราชสีมา ให้ลงมาตรวจสอบคัดเลือกไม้และตีตราก่อนตัดเรียบร้อยแล้ว

ที่น่าสงสัยก็คือ ไม้หลายตันเหล่านี้ที่ควรจะขนย้ายไปยัง “หมวดการทางสุรินทร์ กม.ที่15 ถนนสายสุรินทร์-ปราสาท” หายไปไหน? เมื่อประเด็นร้อนเหล่านี้ถูกขยายความออกไป ผู้เกี่ยวข้องก็ได้แต่ชี้แจงเอาไว้ว่า ล่าสุดได้แจ้งให้ผู้รับเหมาระงับการขนย้ายทุกอย่างเอาไว้ก่อน และให้นำไม้ทั้งหมดมาคืนแล้ว เนื่องจากไม้ใหญ่ทุกต้นที่ตัดออกไปคือ “สมบัติของชาติ” ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ทั้งหมด

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ ก็เพิ่งมีข่าวการโค่นไม้ใหญ่จนเหลือแต่ตอ เกิดขึ้นที่ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ทางการอ้างต้องการ “ปรับภูมิทัศน์รอบบึงพลาญชัย” ปักป้ายประกาศว่าจะ “ขุดย้ายต้นไม้” แต่ผลที่ได้คือการ “กุดไม้ใหญ่” รอบบึงกว่าครึ่งให้เหลือแต่ตอ

“โปรดทราบ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จะทำการขุดย้ายต้นไม้ที่กีดขวางทางเดินเท้า เพื่อปรับภูมิทัศน์ เป็นไปตามโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวรอบบึงพลาญชัย โดยใช้กลไกขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐ” ป้ายประกาศจากเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดระบุเอาไว้เช่นนั้น

แต่เมื่อผลการปรับภูมิทัศน์ออกมาผิดกับที่ประกาศไว้จากหน้ามือเป็นหลังมือ ชาวร้อยเอ็ดหัวใจสีเขียวจึงไม่อาจทนคำสั่งกุดดะเหล่านี้ต่อไปไหว ตัดสินใจโพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Wiput Sukprasert” ขอแรงค้านจากพี่น้องชาวไทย จนกลายเป็นประเด็นร้อน และเป็นเหตุให้ผู้เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงอย่างเร่งด่วน

[กุดไม้ใหญ่กว่าครึ่ง อ้าง “ปรับภูมิทัศน์รอบบึงพลาญชัย”]

ท้ายที่สุด ด้วยพลังจากโลกโซเชียลฯ จึงส่งให้ทางเทศบาลตัดสินใจชะลอการตัดต้นไม้ออกไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาโค่นกันต่อให้เหลือแต่ตออีกเมื่อไหร่ และยังไม่มีใครรู้ชะตากรรมเลยว่า ต้นไม้ใหญ่ในอีกหลายๆ จังหวัดทั่วไทยจะมีลมหายใจยืนยาวต่อไปได้อีกนานแค่ไหน ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่มี “กฎหมายคุ้มครองไม้ใหญ่” ออกมาประกาศใช้ให้เหมือนบ้านเมืองที่พัฒนาแล้วเสียที


ถ้าเป็นประเทศในยุโรป รวมมาจนถึง สิงคโปร์, อินโดฯ, มาเลเซีย ซึ่งจะได้รับอิทธิจากอังกฤษมา เขาจะมีกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ใหญ่เลยค่ะ ยิ่งใน เยอรมนี ไม่ได้จำกัดประเภทพันธุ์ต้นไม้เหมือนเราด้วยค่ะว่า พันธุ์นี้เท่านั้นที่อยู่ในบัญชีรายชื่อต้นไม้ที่ได้รับการคุ้มครอง ขอแค่เป็นต้นไม้ใหญ่ และมีคนเข้าไปทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ แม้แต่การตัดกิ่ง ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาคุ้มครองเลยทันที

อรยา สูตะบุตร ผู้ประสานงานกลุ่ม “Big Tree Project” กลุ่มอาสาสมัครที่รณรงค์เกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ เคยให้สัมภาษณ์กับทางทีมข่าวผู้จัดการ Live เอาไว้เกี่ยวกับประเด็นการโค่นไม้ใหญ่ในบ้านเราอย่างไม่ไยดี มาจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น คิดดูว่าความคิดเห็นของเธอในประเด็นร้อนวันวาน ในประเด็นข่าวครั้งนั้นที่นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ สั่งโค่น “ต้นมะหาด” อายุร่วมร้อยปีเพื่อเอาไปสร้างงานศิลป์ ยังคงนำมาสะท้อนปัญหาที่เรื้อรังมาจนถึงวันนี้ได้เป็นอย่างดี

[ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเด็นร้อน เมื่อนายกฯ กระบี่ สั่งโค่น “ต้นมะหาด” ร้อยปี เพื่อไปสร้างงานศิลป์]

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ไม่ใช่แค่นักอนุรักษ์เท่านั้นที่เดือด! แม้แต่สถาปนิก-นักออกแบบชื่อดัง เจ้าของโครงการ The Jam Factory นักคิดหัวสมัยใหม่ที่มักออกมาเคลื่อนไหวเรื่องพื้นที่สีเขียวและปัญหาด้านภูมิทัศน์ในไทยเป็นระยะๆ อย่าง ดวงฤทธิ์ บุนนาค ยังอดที่จะโพสต์แสดงทัศนะเรื่องการโค่นไม้ใหญ่อายุกว่า 100 ปี บนถนนหมายเลข 214 สายสุรินทร์-จอมพระ เอาไว้ไม่ได้ และย่อหน้าต่อจากนี้คือจุดยืนที่ชัดเจนที่นักออกแบบชื่อดังรายนี้ ได้ฝากเอาไว้ผ่านเฟซบุ๊ก "Duangrit Bunnag"

“ช่วงนี้มีแต่ข่าวข้าราชการทำตามอำเภอใจนะครับ ตัดต้นไม้ใหญ่ก็ว่าโง่แล้ว ยังเอาต้นไม้ที่ตัดไปเก็บไว้อีก เลวเนอะ เอ..เขาบอกว่าแบบนี้ดีไม่มีโกง มีแต่กินตามน้ำกันจนน้ำท่วมปาก ผมนี่จะสำลักแทน ถ้านายกฯ เป็นคนดีจริง ขอคำเดียวเลยครับ ตัดต้นไม้ใหญ่ต้องขออนุญาตตรงมาที่สำนักนายกรัฐมนตรีอย่างเดียว ให้นายกฯ พิจารณา สิงคโปร์ก็ทำแบบนี้นะครับ ถ้ากล้าทำแบบนี้ ผมจะนับว่าดีจริงครับ ทำไม่ได้นี่ ถ้าไม่เลวกับเขาด้วย ก็โง่เต็มทีนะ ผมว่า”

น่าอนาถใจ... ไม่รู้ว่าประชาชนชาวไทยต้องติดตามซีรีส์ปรากฏการณ์ “คนไทยหากินกับป่า” และ “คนไทยกินป่าเป็นอาหาร” กันไปอีกนานแสนนานเท่าไหร่... ที่พอจะช่วยต่อ “ลมหายใจสีเขียว” ให้ยืดยาวต่อไปได้ทุกวันนี้ ก็คงจะมีเพียงการช่วยกันเป็นหูเป็นตา ใช้โซเชียลฯ คอยส่งแรงต้าน ไม่ให้ “กระบวนการสีเทา” ตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งแอบอยู่ตามซอกหลืบต่างๆ ในบ้านเมืองของเรา ดำเนินต่อไปอย่างลื่นไหลไร้สำนึกเกินไปนัก...



ข่าวโดย ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น