กรุงเทพฯ วันนี้ ไม่ว่าจะขับรถ นั่งรถแล้วมองไปมุมไหน คงเกิดคำถามขึ้นในใจว่านี่หรือคือเมืองท่องเที่ยวติดอันดับโลก เพราะบางแห่งยังเต็มไปด้วยสายไฟ สายโทรศัพท์ระเกะระกะ แต่ทรรศนะอุจาดที่หลายคนหงุดหงิด และถอนหายใจเฮือกใหญ่ คือภาพต้นไม้ถูกตัดกุดแบบขอไปที การก่อสร้างที่ไร้ระเบียบ รวมไปถึงแผงกั้นตั้งขวางสถานที่สำคัญโดยไม่คำนึงถึงความสวยงาม
กรุงเทพฯ เมืองสายไฟ-สายสื่อสาร
"กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัด วัง งามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย" เป็นคำขวัญประจำจังหวัดกรุงเทพมหานครที่ดูเชิญชวน แต่ช่างดูขัดแย้งกับสภาพจริงในทุกวันนี้เสียเหลือเกิน โดยเฉพาะคำว่า "กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง" เพราะสภาพอากาศ ทรรศนะทางสายตา รวมไปถึงความน่าอับอายอีกหลายอย่าง
แม้ทุกวันนี้ทางเดินทางเท้าจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมไปถึงแผงลอยบนทางเท้าที่ถูกจัดระเบีบบไปแล้วหลายจุด แต่ปัญหาสายไฟ สายโทรศัพท์ยังคงห้อยระเกะระกะรกรุงรังเต็มไปหมด ยังคงทำลายทัศนียภาพของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวติดอันดับโลกเป็นอย่างมาก
เมื่อเร็วๆ นี้เห็นทางการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ออกมาเด้งรับมติคณะรัฐมนตรี เพื่อเดินหน้าแผนงานเปลี่ยนระบบ "สายไฟฟ้าอากาศ" เป็น "สายไฟฟ้าใต้ดิน" มูลค่า 1.43 แสนล้านบาท เพื่อลดปัญหาไฟฟ้าตก-ดับ อุบัติเหตุ และภัยธรรมชาติ รวมไปถึงปัญหาสายไฟ-สายสื่อสารรกรุงรังจากการลักลอบพาดบนเสาไฟฟ้า
ที่สุดแล้ว คงต้องติดตามกันต่อไปว่าแผนงานดังกล่าวจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ในการรองรับการเป็น "มหานครแห่งอาเซียน" ได้หรือไม่
ต้นไม้อัปลักษณ์ ณ เมืองหลวง
ปัญหาต่อมา คือความมักง่าย และไม่เข้าใจเรื่องการตัดแต่งต้นไม้ของเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live เคยลงพื้นที่สำรวจบริเวณเกาะกลาง ถ.วิทยุ ซึ่งตอนนั้นพบเพียงต้นเดียวแต่เป็นต้นไม้ใหญ่ที่ถูกกุดกิ่งก้านให้เหลือแต่ตอคล้ายต้นไม้พิการ ปัจจุบันเริ่มมีกิ่งเล็กๆ แตกหน่อออกมาใหม่แล้ว
อย่างไรก็ดี การตัดต้นไม้ในครั้งนั้น "อรยา สูตะบุตร" ผู้ประสานงานกลุ่ม “Big Trees Project” กลุ่มอาสาสมัครที่รณรงค์เกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ ให้สัมภาษณ์ว่า คนทำงานระดับบนๆ มีนโยบายและความตั้งใจดี แต่คงไม่สามารถคุมงานได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์จึงเกิดความผิดพลาดออกมาอย่างที่เห็น
"ส่วนตัวแล้วคิดว่าเขาคงไม่ได้มีเจตนาทำลวกๆ ออกมาโดยไม่สนใจประชาชน แต่บางทีหน่วยงานเขาไปจ้างเจ้าหน้าที่รายวัน ทำให้คุมคุณภาพได้ไม่ทั่วถึง และตามหลักการแล้ว ถ้าจะตัดแต่งต้นไม้ ไม่ควรทำช่วงนี้ค่ะ ควรตัดช่วงไม่มีฝน ตัดช่วงหน้าแล้ง มาตัดตอนนี้ก็ช้าไปแล้ว เพราะตัดช่วงฝนจะอันตรายมาก คนตัดต้องขึ้นไปบนต้นไม้ ใช้เลื่อยยนต์และเลื่อยปกติแบกขึ้นไปยืนบนกิ่งไม้ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากๆ"
สำหรับสาเหตุที่กทม.หรือการไฟฟ้ามักจะใช้วิธีตัดแบบให้ก้านกุดๆ เหลือแค่ตอนั้น เพราะเชื่อว่ามันทำให้เขาไม่ต้องเสียเวลามานั่งตัดบ่อยๆ ทั้งที่จริงๆ แล้ว มันให้ผลในทางตรงกัน
"เวลาตัดกุดแบบนั้น กิ่งที่แตกออกมาจะเป็นกิ่งเล็กๆ ฝอยๆ ทำให้มีกิ่งที่ไม่แข็งแรงเกิดขึ้นมาตลอดเวลา ทำให้ต้องคอยตัดกิ่งเปราะๆ พวกนี้ตลอดเวลา แต่ถ้าเราตัดเฉพาะกิ่งที่ไม่แข็งแรงออกตั้งแต่แรก และเก็บกิ่งที่แข็งแรงเอาไว้ให้ร่มเงา มันก็จะมีกิ่งที่ต้องกำจัดทิ้งน้อยและไม่ต้องไปดูแลบ่อยๆ ถ้าทำอย่างถูกวิธี ปีหนึ่งทำแค่ 2 หนก็พอแล้วค่ะ
ส่วนต้นไม้ที่ถูกกุดจะไม่ตายค่ะ แต่มันจะแตกกิ่งออกมาไม่สวยเลย กิ่งที่จะแตกออกมาจะมีลักษณะเล็กๆ กว่าจะเลี้ยงให้มันใหญ่และกลับมาสวยได้เหมือนเดิมอีก จะต้องใช้เวลานานมาก (เน้นเสียง) กว่าจะได้กิ่งที่สามารถจะเป็นกิ่งที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาออกไปรอบด้านแบบเดิมได้ ถ้าดูจากขนาดตอเดิม ลำต้นเดิม มันขนาดใหญ่มากนะคะ โชคดีที่ครั้งนี้มีคนเห็นและส่งพลังบนโลกออนไลน์ช่วยกันและระงับไว้ได้ทันค่ะ ไม่งั้นอาจจะถูกตัดอีกเยอะกว่านี้" ผู้ประสานงานกลุ่ม Big Trees Project ให้ความรู้เป็นอุทาหรณ์จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น
ทั้งนี้ ทางกลุ่ม Big Trees สำนักงานเขตกทม. และเขตปทุมวัน ได้มีการทำงานร่วมกันโดยมีคอร์สเปิดสอนที่สถาปัตยกรรม จุฬาฯ ชื่อ "โครงการอบรมดูแลต้นไม้ใหญ่ในภูมิทัศน์เมือง" เปิดให้ใครก็ได้มาอบรม รวมทั้งหน่วยงานราชการด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ของเขตเข้าร่วมอบรมบ้าง แต่ก็ยังมีไม่มากเท่าที่ควร
ปัจจุบัน ภาพต้นไม้อัปลักษณ์ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะต้นไม้บริเวณสายไฟฟ้า ซึ่งลักษณะการตัดนอกจากจะน่าเกลียดแล้วยังน่าเป็นห่วงในสายตาคนทำงานด้านต้นไม้
"เรายังเห็นต้นไม้ตามแนวสายไฟที่ยังโดนตัดกุดอยู่ ยิ่งถ้าเป็นการไฟฟ้ามาตัด ปัญหาจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นไปอีก เพราะการไฟฟ้าไม่ได้คิดถึงเรื่องว่าต้นไม้มันจะแตกออกมาใหม่ยังไง คิดแค่ว่าฟันยังไงไม่ให้โดนสายไฟ ทั้งที่จริงๆ แล้วการตัดแบบนั้นมันจะแตกกิ่งเล็กกิ่งน้อยออกมา ทำให้ต้องตัดบ่อยขึ้นกว่าเดิม
ทุกวันนี้กลุ่มเรากับการไฟฟ้าก็ไม่ได้มีอะไรคืบหน้าค่ะ เพราะเชิญมาอบรมก็ไม่มา ส่วนกับทางกทม. เรามีความคืบหน้าไปเยอะ อย่างที่ผ่านมาก็มีโครงการนำร่องในเขตปทุมวัน 2 ครั้งกับที่คลองสานอีก 2 ครั้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้นไม่อยู่บนทางเท้าแล้วก็มีสายไฟด้วย ส่วนเขตต่อมาคือเขตพระนคร มีต้นตะเคียนในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ขาดการดูแล และน่าเป็นห่วง" หนึ่งในกลุ่มคนทำงานด้านต้นไม้เผย
แหล่งเสื่อม! ถนนรอบเกาะรัตนโกสินทร์
"เส้นรอบเกาะรัตนโกสินทร์เกือบทั้งหมด สถานที่สำคัญๆ หลายๆ แห่งอยู่ดีๆ ก็เอารั้วเหล็กหรือแผงเหล็กไปตั้งแล้วเขียนบอกห้ามขึ้น ทำไมไม่เอารั้วแบบถาวรแล้วทำให้มันดีๆ ไปตั้งครับ เอาที่มันดูดีอ่ะครับ ไม่ใช่ไปเอารั้วเหล็กสภาพทุเรศๆ มาตั้ง มันดูแล้วไม่ใช่อ่ะครับ มองแล้วมันดูน่าเกลียด"
เป็นทรรศนะอุจาดในสายตาของพนักงานออฟฟิศวัย 30 ต้นๆ ที่บอกเล่าผ่านทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ด้วยน้ำเสียงเหนื่อยใจกับสภาพเน่าเสียอย่างรุนแรง โดยเฉพาะทรรศนะทางสายตาตลอดเส้นทางรอบเกาะรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงถนนราชดำเนินที่ปัจจุบันเข้าข่ายแหล่งเสื่อมโทรมไปแล้ว
"โอ้โห! เส้นนี้เขียนอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด ทั้งป้ายบอกทาง และป้ายอื่นๆ ไม่เห็นจับอะไรกันเลย แล้วที่หงุดหงิดคือไม่เห็นจะแก้ไขอะไรให้ดูดี หรือดูน่าเที่ยว เห็นดำเนินการอยู่ช่วงหนึ่งแล้วก็หายไป ทุกวันนี้ยังเห็นเต็มตลอดทาง สรุปแล้วนี่คือถนนอะไรกันเนี่ย" เขาเว้นช่วงก่อนจะเผยให้ฟังต่อมา
"เอาจริงๆ มันไม่ใช่เมืองน่าท่องเที่ยวเลย พอผ่านมาแล้วมองเห็นปัญหาเดิมๆ มันรู้สึกเหมือนมองไปยังแหล่งเสื่อมโทรม พูดง่ายๆ คือ จากถนนข้าวสารเดินออกมามีแหล่งเสื่อมโทรม คือมันไม่สวยเลยอ่ะครับ หลายคนอาจชิน หรือมีความรู้สึกเฉยๆ แต่สำหรับผมมันดูแย่มาก"
ถึงวันนี้ หากพูดกันตามจริง คงต้องยอมรับว่า กรุงเทพฯ มี "วัด วัง งามเรืองรอง" ตามคำขวัญ ไม่แปลกที่จะเป็นเมืองหลวงติดหนึ่งใน 10 เมืองที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกประจำปี 2558 แถมยังเคยได้รางวัล The Best of City ระดับนานาชาติมาครอบครองด้วย
...แต่ถ้ายังปล่อยให้เกิดทรรศนะอุจาดที่เสื่อมลงเรื่อยๆ แบบนี้ สักวันคำว่า "เมืองน่าเที่ยว" อาจกลายเป็น "เมืองน่าอับอาย" ขายขี้หน้าชาวโลกก็เป็นได้
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754