กิ่งก้านใหญ่ๆ ที่เคยให้ร่มเงาและดูดควันพิษกลางเมือง กลายร่างเป็น “ต้นไม้พิการ” ในพริบตา ที่ต้นเขียวๆ ในเกาะกลาง ถ.วิทยุ ถูกกุดกิ่งก้านสาขาแบบผิดๆ อย่างที่เห็น เป็นเพราะความมักง่ายและไม่เข้าใจเรื่องการตัดแต่งต้นไม้รับหน้าฝนที่ดีเพียงพอ ครั้งนี้ต้นไม้ใหญ่ถูกทำร้ายไปเพียงต้นเดียว ครั้งหน้าอาจหายไปตลอดแนวถนน ถ้าประชาชนไม่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา!!
พลังโวยออนไลน์ สะเทือนผู้ใหญ่ให้สั่งระงับ!
(โพสต์ที่ส่งแรงสะเทือนไปถึงผู้เกี่ยวข้อง)
“เรื่องน้ำท่วมยังไม่ทันจบ ก็มาตัดต้นไม้ที่เคยให้ความร่มเงากลางถนนวิทยุต่อ กทม.จ๋า......คิดอะไรกันอยู่?”
ด้วยคำบรรยายภาพจากโพสต์นี้ในแฟนเพจ "BIG Trees" นี่เอง ที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปสั่นสะเทือนผู้ดูแลพื้นที่เขตปทุมวัน เขตเดียวกับที่กำลังมีเจ้าหน้าที่บั่นต้นไม้ใหญ่บริเวณเกาะกลาง ถ.วิทยุ อย่างเมามันโดยไม่สนผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเหตุให้มีคำสั่งระงับการตัดแต่งที่ทำร้ายต้นไม้ในทันที พูดได้เต็มปากว่าที่รอดมาได้ และไม่เสียหายไปมากกว่านี้ เป็นเพราะพลังของโซเชียลมีเดียอย่างแท้จริง!
อรยา สูตะบุตร ผู้ประสานงานกลุ่ม “Big Trees Project” กลุ่มอาสาสมัครที่รณรงค์เกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ ผู้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องดูแลต้นไม้ใหญ่ หนึ่งในกลไกสนับสนุนให้คนในพื้นที่รวมตัวกันปกป้องพื้นที่สีเขียวที่ถูกทำลาย เผยรายละเอียดเอาไว้กับทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live
“จริงๆ แล้ว ถ้าไม่มีการโวยวาย อาจจะตัดไปอีก แต่บังเอิญมีคนถ่ายรูปและ Tagged ตัวเขาเองในเฟซบุ๊ก แล้วน้องอีกคนที่อยู่ในกลุ่ม Big Trees ด้วยกันเห็น เขาก็เลยเอาไปแชร์ในแฟนเพจ "BIG Trees" คนที่กดไลค์อยู่ก็เอาไปแชร์ต่ออีกเยอะมาก คอมเมนต์กันอีก 500 กว่าคอมเมนต์ และเราเองก็เป็นเฟรนด์ (ในเฟซบุ๊ก) กับ ผอ.กองศูนย์สาธารณะของ กทม.ด้วย เขาก็เห็นอีก และฝ่ายที่ดูแลต้นไม้เขตปทุมวันซึ่งติดต่องานกันประจำก็เห็นโพสต์นี้เหมือนกัน ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นก็เลยสั่งระงับการตัดแต่งต้นไม้แบบนั้นเลยทันที ซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นผลมาจากการคอมเมนต์และแชร์ในเฟซบุ๊กจริงๆ ค่ะ เราเองยังไม่ทันจะทำอะไรเลยด้วยซ้ำ ทางเขตก็รีบแจ้งมาว่า ผอ.สั่งให้ระงับเรียบร้อยแล้ว
โดยนโยบายและความตั้งใจของคนทำงานระดับบนแล้ว เขาก็อยากจะดูแลให้ดี แต่คงไม่สามารถคุมงานได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ เลยอาจจะมีพลาดออกมาให้เห็นแบบนี้ค่ะ ส่วนตัวแล้วคิดว่าเขาคงไม่ได้มีเจตนาทำลวกๆ ออกมาโดยไม่สนใจประชาชน แต่บางทีหน่วยงานเขาไปจ้างเจ้าหน้าที่รายวัน ทำให้คุมคุณภาพได้ไม่ทั่วถึง และตามหลักการแล้ว ถ้าจะตัดแต่งต้นไม้ ไม่ควรทำช่วงนี้ค่ะ ควรตัดช่วงไม่มีฝน ตัดช่วงหน้าแล้ง มาตัดตอนนี้ก็ช้าไปแล้ว เพราะตัดช่วงฝนจะอันตรายมาก คนตัดต้องขึ้นไปบนต้นไม้ ใช้เลื่อยยนต์และเลื่อยปกติแบกขึ้นไปยืนบนกิ่งไม้ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากๆ
(ในวันเดียวกัน ไม่ใช่แค่ที่เดียวที่ต้นไม้ใหญ่ถูกบั่น)
ที่ผ่านมา มีช่วงที่ต้นไม้หักไปเพราะมีพายุ ทางท่านผู้ว่าฯ ก็มีคำสั่งมาว่าให้ทอนพุ่มออก ไม่ให้มันมีความเสี่ยงต่อการตกลงมา แต่คำสั่งนี้ไม่ได้หมายความว่าทางผู้ใหญ่เขาไม่ได้อยากให้ภาพมันออกมาไม่ดี ไม่ได้อยากให้ตัดกุดๆ อย่างที่เห็น เพราะเขาก็มัวแต่กังวลเรื่องต้นไม้ล้ม เดี๋ยวจะโดนด่า ก็ถือเป็นการตัดแต่งเพื่อวัตถุประสงค์ดี ให้รับกับหน้าฝน ป้องกันอุบัติเหตุ เพียงแต่มันมีวิธีตัดแต่งที่เหมาะกว่านั้นค่ะ ตัดยังไงให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและลดความเสี่ยงของมันได้
ต้องบอกก่อนว่า ปกติแล้วเจ้าหน้าที่ทางเขตปทุมวันเขาจะระมัดระวังเรื่องการตัดแต่งต้นไม้ที่ ถ.วิทยุ มากอยู่แล้วค่ะ เพราะรู้ว่าที่นี่มีความเป็นมายาวนาน มีนักการทูตรวมตัวกันไปขอร้องผู้ว่าฯ สมัยนั้นว่าขอให้ดูแลต้นไม้อย่างดีในละแวกนี้ ไม่ต้องการให้ตัดกุดๆ โดยเฉพาะเส้นกลาง ซึ่งเป็นเกาะกลางถนนที่ไม่มีสายไฟ ไม่มีเหตุผลเลยที่จะต้องตัดกุดๆ แบบนั้น
จริงๆ แล้วทาง Big Trees, สำนักงานเขต กทม. และเขตปทุมวัน เราก็ทำงานด้วยกันอยู่นะคะ เนื่องจากทางเรามีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดูแลตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ เรามีคอร์สเปิดสอนที่สถาปัตยกรรม จุฬาฯ ชื่อ “โครงการอบรมดูแลต้นไม้ใหญ่ในภูมิทัศน์เมือง” เปิดให้ใครก็ได้มาอบรม รวมทั้งหน่วยงานราชการด้วย ว่าถ้าจะเอาบางกิ่งของต้นไม้ชนิดนี้ อายุขนาดนี้ออก จะต้องทำยังไงให้ถูกหลัก ที่ผ่านมาก็มีคนของเขตที่เข้ามาอบรมกับเรานะคะ ยังคุยกันอยู่เลยว่าถ้าจะมีการตัดแต่งครั้งต่อๆ ไป อยากจะให้เราเข้าร่วมหรือส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยดู”
(ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจพบว่า ต้นไม้ต้นใหญ่ที่สุดในเกาะกลาง ถ.วิทยุ ถูกกุด)
จากการลงพื้นที่สำรวจของทางทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live พบว่าบริเวณเกาะกลาง ถ.วิทยุ มีเพียงต้นเดียวที่ถูกกุดกิ่งก้านให้เหลือแต่ตอคล้ายต้นไม้พิการ แต่เริ่มมีกิ่งเล็กๆ แตกหน่อออกมาใหม่แล้วเพื่อความอยู่รอด หลายฝ่ายอาจมองว่าเสียหายเพียงต้นไม้ต้นเดียวเหตุใดจึงต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่
แต่ถ้าลองเทียบขนาดของต้นจามจุรีที่ถูกกุดต้นนั้นแล้ว จะพบว่ามีขนาดใหญ่กว่าต้นอื่นๆ ในเกาะกลางที่ไม่ถูกกุด ขนาดลำต้นใหญ่เท่ากับหนึ่งคนโอบได้ แต่ต้นอื่นๆ รอบบริเวณเป็นเพียงต้นเล็กๆ ที่อาจทำหน้าที่ให้ร่มเงาและดูดซับควันพิษได้น้อยกว่าต้นนี้ต้นเดียวอีกหลายเท่า ถ้าเพียงแต่ต้นของมันยังมีใบสีเขียวๆ แผ่ขยายสาขาเหมือนอย่างเดิม
“ข้อจำกัดของมันอยู่คือมีความเปราะอยู่ และถ้าทิ้งไว้นานๆ ก็ต้องดูแลการแต่งกิ่งให้สมดุล กิ่งไหนแห้งหรือเป็นโรค พร้อมจะหล่นลงมาก็ต้องดูแล การตัดแต่งต้นไม้แบบที่ทาง กทม.หรือการไฟฟ้าทำ ตัดแบบให้ก้านกุดๆ เหลือแค่ตอ เพราะเขาเชื่อว่ามันทำให้เขาไม่ต้องเสียเวลามานั่งตัดบ่อยๆ ตัดให้กุดไปเลยทีเดียว ซึ่งจริงๆ แล้ว มันให้ผลในทางตรงกันข้ามนะคะ เพราะเวลาตัดกุดแบบนั้น กิ่งที่แตกออกมาจะเป็นกิ่งเล็กๆ ฝอยๆ ทำให้มีกิ่งที่ไม่แข็งแรงเกิดขึ้นมาตลอดเวลา ทำให้ต้องคอยตัดกิ่งเปราะๆ พวกนี้ตลอดเวลา แต่ถ้าเราตัดเฉพาะกิ่งที่ไม่แข็งแรงออกตั้งแต่แรก และเก็บกิ่งที่แข็งแรงเอาไว้ให้ร่มเงา มันก็จะมีกิ่งที่ต้องกำจัดทิ้งน้อยและไม่ต้องไปดูแลบ่อยๆ ถ้าทำอย่างถูกวิธี ปีหนึ่งทำแค่ 2 หนก็พอแล้วค่ะ
ส่วนต้นไม้ที่ถูกกุดจะไม่ตายค่ะ แต่มันจะแตกกิ่งออกมาไม่สวยเลย กิ่งที่จะแตกออกมาจะมีลักษณะเล็กๆ กว่าจะเลี้ยงให้มันเป็นใหญ่และกลับมาสวยได้เหมือนเดิมอีก จะต้องใช้เวลานานมาก (เน้นเสียง) กว่าจะได้กิ่งที่สามารถจะเป็นกิ่งที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาออกไปรอบด้านแบบเดิมได้ ถ้าดูจากขนาดตอเดิม ลำต้นเดิม มันขนาดใหญ่มากนะคะ โชคดีที่ครั้งนี้มีคนเห็นและส่งพลังบนโลกออนไลน์ช่วยกันและระงับไว้ได้ทันค่ะ ไม่งั้นอาจจะถูกตัดอีกเยอะกว่านี้”
ทัศนะอุจาด! ยิ่งกุดยิ่งอันตราย
(บั่นหัวต้นไม้ สร้างทัศนะอุจาดให้เมือง)
ศ.กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ ผู้ก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภูมิสถาปัตยกรรม) คือบุคคลหนึ่งที่เคยวิจารณ์เอาไว้หลายครั้งหลายคราว่า ต้นไม้ใหญ่ในเมืองหลวงของเราส่วนใหญ่ถูกทำร้ายจากการดูแลผิดวิธี จนทำให้เกิด “ต้นไม้อัปลักษณ์” และ “ทัศนะอุจาด” ไปทั่วเมือง!
และนี่คือความรู้บางส่วนที่ท่านเคยเขียนเอาไว้ในบทความเรื่อง “ได้เวลาตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ในเมืองแล้ว” เกี่ยวกับเรื่องการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองที่เหมาะสมและควรจะเป็น
“การตัดแต่งที่ผิดวิธีและ/หรือผิดเวลา เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นไม้ใหญ่เสื่อมโทรมเมื่อมีอายุมากขึ้น ต้นไม้มีวิวัฒนาการมานานหลายร้อยล้านปีในการสร้างระบบปกป้องการโจมตีของโรคและแมลง โดยการสร้างโซนปกป้อง (protection zone) โดยเฉพาะที่บริเวณคอกิ่งที่ต่อจากลำต้น เมื่อเกิดบาดแผล โรคและเชื้อราจะเข้าโจมตีทันที โดยเฉพาะเมืองร้อน และเมื่อถูกกระตุ้นจากเชื้อ ต้นไม้จะปล่อยสารเคมีบางอย่างมาต้านทานเชื้อผุไว้
ถ้าต้นไม้แข็งแรง มันจะสร้างเนื้อเปลือกมาปิดแผลได้เร็ว การผุก็จะหยุดลง แต่ถ้ามันอ่อนแอหรือถูกตัดเอาเนื้อไม้ส่วนที่เป็นเขตปกป้องออกไปโดยการตัดชิดลำต้นเกินไป การผุจะลามลึกกลายเป็นโพรงต่อไปเรื่อยๆ ต้นไม้ที่แข็งแรงบางต้นที่ถูกตัดเขตปกป้องทิ้ง อาจสู้รบกับเชื้อผุ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ มีผลงานให้เห็นในรูปของ "แผลฟุ" (Canker rot) ที่ขรุขระคล้ายหูดแต่แข็ง การรบอาจดำเนินไปเป็นทศวรรษ ก่อนที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะชนะ
จากการวิจัยเชิงปฏิบัติการนานกว่า 30 ปี ของ ดร.อเล็กซ์ ชิโก แห่งกรมป่าไม้ สหรัฐฯ พบว่า ต้นไม้มีกลไกธรรมชาติคอยปกป้องและต่อต้านการผุอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่ "คอกิ่ง" โดยจะมีสารประกอบประเภท "ฟินอล" (phenol based substance) มาสะสมเข้มข้นอยู่ที่คอกิ่งเมื่อถูกเชื้อเห็ดราโจมตี ดังนั้น การตัดกิ่งไม้ชิดลำต้นจนทำให้โซนปกป้องนี้ถูกทำลายไป เชื้อผุจะลามเข้าสู่ลำต้นได้สะดวกและรวดเร็ว ถ้าเป็นต้นไม้เยาว์วัย เนื้อเปลือกจะงอกมาปิดล้อมได้ทัน
ต้นไม้ที่โตแล้วและต้นไม้แก่ จะมีโอกาสปิดแผลตัวเองได้น้อยลง การตัดกิ่งที่ถูกวิธีจึงเป็นหัวใจของการดูแลต้นไม้ใหญ่ และเป็นการป้องกันอันตรายในภายหน้า ต้นไม้ใหญ่ที่ได้รับการตัดแต่งอย่างถูกวิธี สามารถเจริญเติบโตไปได้ดีไปอีกหลายปีจึงจะต้องการตัดแต่งรอบใหม่ ซึ่งการตัดแต่งรอบหลังๆ จะเป็นการตัดแต่งเชิงป้องกันและง่ายกว่า นอกจากนี้ ต้นไม้ใหญ่ที่ตัดแต่งอย่างถูกต้องจะโค่นล้มจากพายุน้อยกว่า เนื่องจากแข็งแรงและโปร่งลมกว่าต้นไม้ที่ไม่ได้รับการตัดแต่งและยังดูสวยงามน่าชื่นใจมากกว่าอีกด้วย”
(ที่ยังเหลือรอดปลอดภัย ให้ร่มเงาบริเวณ ถ.วิทยุ)
สอดคล้องกับข้อมูลจากผู้ประสานงานกลุ่ม “Big Trees Project” ที่บอกเอาไว้ว่าการดูแลต้นไม้ใหญ่อย่างเข้าใจมีความจำเป็นมาก “การตัดแต่งต้นไม้ก็คล้ายๆ กับการตัดผมของเรานั่นแหละค่ะ เวลาเราตัดผมเป็นทรงที่เราชอบหรือเหมาะกับเรา มันก็ดี แต่ถ้าตัดแบบบั่นๆ ไม่สนใจทรง ผมมันก็ขึ้นใหม่ได้ แต่มันเสียทรงหมดแล้ว ถ้าตัดให้ถูกวิธีก็ต้องเลือกเล็มเฉพาะส่วนที่ยาวไป มันก็มีทรงเดิมของมันอยู่ ต้องใช้ศิลปะและความเข้าใจในฟอร์มและธรรมชาติของต้นไม้แต่ละชนิดด้วยค่ะว่าควรจะตัดแต่งให้เป็นแบบไหน”
จากการประมวลผลที่ผ่านมา ถือว่าเจ้าหน้าที่ทาง กทม.มีพัฒนาการเรื่องความเข้าใจในต้นไม้ใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น แต่หากจะมองโดยภาพรวมแล้ว ยังถือว่าน่าห่วงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะปัญหาระหว่างต้นไม้กับสายไฟ
“มันก็มีคนอีกฝั่งมองว่า ต้นไม้ใหญ่ในเมืองมันเป็นอันตรายนะ ลมพัดก็ล้ม หรือไม่กิ่งก็หล่นลงมา ไม่ต้องมีหรอก ต้นไม้ใหญ่ในเมือง ไม่ก็เอาไปไว้หลังคาตึกดีกว่า กลัวต้นไม้จะล้มใส่รถเขา ซึ่งจริงๆ แล้ว ต้นไม้ใหญ่อยู่ด้วยกันในเมืองได้นะคะ ถ้าเรามีพื้นที่ให้รากมันลงไปยึดเพียงพอ และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตัดแต่งเฉพาะกิ่งที่สุ่มเสี่ยงต่อการหักโค่นลงมา
นอกจากนั้นก็จะมีการดูแลเรื่องโพรงของต้นไม้ เรื่องโรคต่างๆ รวมถึงระบบราก ระบบฐานของต้นไม้ด้วย แต่ทุกวันนี้ ในกรุงเทพฯ ยังดูแลและเอาใจใส่เรื่องพวกนี้น้อยเกินไป บางทีก็เว้นที่เนื้อดินให้ต้นไม้ได้อยู่ก็น้อยเกินไป ทำให้ต้นไม้ในกรุงเทพฯ ชอบล้มชอบหักให้คนกลัว ทั้งๆ ที่มันมีวิธีการดูแลป้องกันไม่ให้เป็นแบบนั้นได้
(สายไฟใกล้ๆ หนึ่งในสาเหตุที่ทาง "การไฟฟ้า" ใช้เป็นเหตุผลในการตัดกิ่งจนกุด)
เรื่องที่น่าห่วงคือการตัดแต่งต้นไม้ในแนวสายไฟค่ะ เพราะคนตัดจะตัดแบบกุดจริงๆ หรือตามภาษาชาวบ้านเขาเรียกกันว่าตัดแบบ “บั่นหัว” ให้ต้นไม้หัวขาดไปเลย มันทำให้นอกจากกิ่งที่ออกมาใหม่ไม่แข็งแรงแล้ว อาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านต้นไม้เขาบอกเป็นเสียงเดียวกันเลยค่ะว่า ตามสัญชาติญาณต้นไม้แล้ว โดนตัดแบบบั่นหัวแบบนี้ มันจะคิดว่ามันกำลังจะตาย ต้นไม้มันคือมีชีวิตที่ต้องใช้พลังงานมาสังเคราะห์เพื่อส่งไปหล่อเลี้ยงตัวต้นและส่งไปยังราก
แต่พอบั่นหัวแบบนี้ มันก็เลยจะหยุดการส่งอาหารไปเลี้ยงที่ราก แต่จะส่งไปเลี้ยงข้างบนแทน เพื่อให้พยายามแตกกิ่งใหม่ได้ นักวิชาการเลยเชื่อว่ามันทำให้การสร้างความแข็งแรงของรากจะบกพร่องไปทันทีเมื่อไหร่ก็ตามที่ต้นไม้ถูกบั่นหัวแบบนี้ ทำให้ต้นไม้ไม่แข็งแรงและล้มง่ายเข้าไปอีก และยิ่งถูกบั่นหัวบ่อยๆ ตัดแบบโหดๆ แบบนี้ ต้นไม้ก็จะยิ่งไม่แข็งแรง
(มีเพียงต้นไม้ใหญ่ใน "สวนลุมพินี" สวนสาธารณะกลางเมืองเท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตให้แผ่กิ่งก้านอย่างเสรีกลางกรุง)
ถ้าให้ลองวิเคราะห์ ส่วนตัวคิดว่าการตัดแต่งต้นไม้ของทาง กทม.ไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่แล้วค่ะที่ผ่านมา ถือว่ามีพัฒนาการอยู่นะคะ แต่คงไม่ได้เนี้ยบทุกเขต จะเป็นเฉพาะกับเขตที่ถูกจับตามากๆ เขตนอกๆ เมืองอาจจะยังมีปัญหาอยู่เยอะ แต่ข้อดีก็คือถือว่าระดับผู้บริหาร ผอ.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ ถือว่ายังพยายามจะศึกษาทำความเข้าใจ แต่ที่น่าห่วงมากคือพวกโครงการอสังหาฯ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ห้างฯ หรือคอนโดฯ ที่มองต้นไม้เป็นสิ่งกีดขวาง บังสายตา เขาจะพยายามติดต่อกับหน่วยงานว่าขอตัดได้ไหม
และที่ไม่มีพัฒนาการเลยคือการไฟฟ้า ซึ่งควรออกเป็นนโยบายมาจากเบื้องบนเลยว่าควรให้เขาศึกษาส่วนนี้ และมีคนมาคุมงานว่ากำลังจะตัดพลาด หรือมีคนบรีฟงานก่อนที่เขาจะไปลงมือตัดตามเขตต่างๆ บุคลากรที่สามารถให้ความรู้ในด้านนี้ถือว่ายังขาดอยู่มากในประเทศไทย และทาง Big Trees ของเราก็พยายามสร้างคนและขยายออกไปให้ได้มากๆ
ที่ผ่านมา ทาง กทม.เองก็ถูกประชาชนด่ามาเยอะแล้วค่ะเรื่องตัดต้นไม้แบบบั่นหัว เลยทำให้ค่อนข้างระวังเรื่องเหล่านี้มากขึ้น แต่ฝ่ายที่ดูจะเฉยๆ และไม่เคยส่งคนมาเข้ารับการอบรมเลยคือการไฟฟ้านครหลวงค่ะ ทำให้เขาตัดต้นไม้แบบบั่นคอ ตัดแบบโหดๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วก็ให้เหตุผลว่าถ้าไม่ตัด คุณอยากจะให้ไฟช็อตเหรอ อยากให้ไฟดับเหรอ จะเอาต้นไม้ไม่สวยหรือจะเอาไฟดับ เขาก็จะมาถึงและฟันให้กุดไปเลย แทนที่จะตัดตามหลัก ค่อยๆ เลือกกิ่งที่เปราะและค่อยๆ ใช้เลื่อย เลื่อยกิ่งๆ นั้นทิ้งลงมา แต่การไฟฟ้าจะตัดโหดเหมือนตัดต้นไม้ไปทำฟืนเลย เพราะฉะนั้น ก็คงต้องอาศัยแรงจากภาคประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาแบบนี้แหละ ต้นไม้ใหญ่ในเมืองถึงจะอยู่รอด”
(ขอบคุณข้อมูล: "การตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ถนนและทางหลวง" ของ ศ. กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ)
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพบางส่วน: แฟนเพจ "BIG Trees"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754