xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายต้นไม้ในเมือง” เพราะเราทุกคนคือเจ้าของต้นไม้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
แม้ฤดูฝนจะแวะเวียนมาคลายอุณหภูมิแสนอบอ้าวไปได้บ้าง แต่สำหรับประเทศไทยกับอากาศร้อนดูแล้วจะเป็นของคู่กัน ซึ่งนอกจากแอร์เย็นฉ่ำที่ช่วยขจัดความร้อนแล้ว ยังมีต้นไม้น้อยใหญ่ที่มอบความร่มเย็นแก่เมืองโดยวิธีธรรมชาติ ทว่าต้นไม้ในเมืองกลับถูกตัดซะเหี้ยนหรือบางต้นกลับหายตัวไปอย่างล่องหน

“อุ๊-ช่อผกา วิริยานนท์” หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญจาก “เครือข่ายต้นไม้ในเมือง” ผู้ทนเห็นการตัดต้นไม้แบบ “สังหารโหด” ต่อไปไม่ไหวขอลุกขึ้นร่วมกับประชาชนคนรักต้นไม้ และกลุ่มสมาชิกกว่า 64 หน่วยงาน ออกมาเปลี่ยนแปลงระบบการดูแลต้นไม้แบบเดิมๆ แน่นอนว่าเธอไม่ใช่นักอนุรักษ์ แต่กำลังทำให้เราเห็นว่าต้นไม้ในเมืองเป็นเรื่องของคนทุกคน

14 ปี ชีวิตจิตอาสา

“จริงๆ แล้ว สำหรับตัวเองคือปีที่ 14 กับงานอาสา ครั้งแรกจะรู้สึกว่าเราเป็นนางฟ้า เราทำประโยชน์ให้คนอื่น แต่พอเราทำไปจริงๆ เรานั่นแหละคือคนที่ได้ประโยชน์เอง”
วินาทีนี้เองที่เธอทำให้เราเข้าใจและเห็นด้วยอย่างไม่มีเงื่อนไข มองภายนอกสำหรับงานอาสาคนมักเข้าใจว่าเราได้ลงแรงลงใจทำสิ่งดีๆ ให้ผู้อื่น ทว่าความจริงแล้วคนที่ถูกเติมเต็มอาจเป็นทั้งสองฝ่าย

“การทำงานอาสาสำหรับเราคือ Stress Killer ใครๆ ก็รู้ว่าเราทำงานเยอะมาก ต้องมีความเครียด แต่คนจะไม่รู้สึกว่าช่อผกาเป็นผู้หญิงเครียด” คำว่า Stress Killer หรือตัวกำจัดความเครียดของใครหลายคน อาจมีรูปแบบและวิธีการไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับเธอที่ค้นพบรูปแบบการจัดการความเครียดในฉบับเธอเอง ซึ่งได้กลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนและได้สร้างพลังบวกให้กับการดำเนินชีวิต

 
“เราแบ่งพลังงาน ยิ่งเราเครียดเรื่องอะไรมากเท่าไหร่ เราจะดึงตัวเองออกจากความเครียดด้วยการไปทำงานอาสาให้คนอื่น เอาความสนใจที่เราจะไปหมกมุ่นอยู่กับปัญหา เอาพลังงานที่จะดิ่งลงไปจมอยู่กับปัญหา รีบดึงตัวเองถ่ายพลัง ใช้วิธีถ่ายพลังของตัวเองไปในเรื่อง Positive แล้วเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

มันทำให้เราเห็นแก่ตัวน้อยลง คร่ำครวญกับตัวเองน้อยลง เพราะว่าจิตมันไปโฟกัสอยู่กับประโยชน์ของคนอื่น แล้วพอเราเห็นงานเหล่านั้นงอกเงยขึ้นมา เราก็รู้สึกแฮปปี้มันเลยกลายเป็น Stress Killer นี่เป็นกลยุทธ์ส่วนตัวของเราเลย”

“งานอาสาด้านศาสนา” คงเป็นหนึ่งในวลีที่จะอธิบายถึงตัวตนของเธอได้ประมาณหนึ่ง เธอใช้ชีวิตด้วยการทำงานอาสาให้พระพุทธศาสนาจนแยกออกจากกันไม่ได้เสียแล้ว ที่น่าแปลกใจคือ ณ เวลานี้เธอกลายเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนงานอาสาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเธอทำงานอาสาด้านศาสนามาโดยตลอด

“สำหรับเราคือช่วงเวลาที่ได้เพื่อนใหม่ที่มีอุดมการณ์เหมือนกัน เราเห็นว่ามันมีมนุษย์แบบนี้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ ส่วนตัวเป็นคนทำเรื่องจิตอาสาเยอะมากในช่วง 14 ปีที่แล้ว แต่ไม่เคยทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เน้นทำเรื่องงานศาสนามากกว่า

ในวงจรที่เราทำงานศาสนา เราก็จะรู้จักคนที่ทำงานเพื่อคนอื่น คนที่เป็นมนุษย์ฟีลกูดในมิติอื่นๆ เต็มไปหมดเลย เราได้เจอเพื่อนๆ ที่มีความคิดเหมือนกันว่าจะแบ่งเวลาและพลังงานในชีวิตของเราบางส่วน เพื่อทำประโยชน์ให้กับคนอื่น”

สิ่งที่เป็นคำถามคือเธอมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร คงต้องให้เธออธิบายถึงที่มาที่ไปต่อจากนี้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดสำหรับเหล่าคนอาสาคือหัวใจของการให้ และการได้เจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์นั้นคือมิตรภาพที่ได้จากคนแปลกหน้าอย่างน่าประทับใจที่สุดแล้ว

“ต้นไม้ในเมืองเป็นของทุกคน”

ปลายเดือนเมษายนภูมิอากาศเป็นที่ทราบกันดี คงไม่ต้องอธิบายถึงความร้อนระอุที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ความร้อนแผ่ไปถึงโลกออนไลน์กับการกระหน่ำกดไลค์กดแชร์โพสต์ของเธอที่ว่าด้วยเรื่องของต้นไม้ในเมือง นั่นจึงเป็นจุดต้นเริ่มที่ทำให้เกิดการตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมืองอย่างที่ไม่ได้คาดฝันมาก่อน

“เรื่องมีอยู่ว่าช่วงปลายเดือนเมษายน อากาศร้อนมาก คนก็โพสท์ด่ากันทั้งเมืองว่าอากาศร้อน ต่างๆ นานา เราก็โพสท์รูปการตัดแต่งต้นไม้ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ใหญ่มากและร่มเงาครอบลงมาที่ถนน แต่เขาตัดแต่งจนทะลุพุ่มไม้ให้เป็นอุโมงค์และต้นไม้ต้นนั้นก็ใหญ่ยักษ์ยืนอยู่ข้างถนนได้

อีกตัวอย่างหนึ่งคือต้นไม้มันสูงครอบสายไฟฟ้า เขาตัดกิ่งทะลวงเป็นท่อให้สายไฟฟ้ามันทะลุผ่านต้นไม้ไป ต้นไม้ไม่โดนตัดแขนตัดขาเหมือนต้นไม้ประเทศไทย คนแชร์กันเยอะมาก เราโพสท์เรื่อยๆ สุดท้ายแล้วกระแสมันติด เลยมาคุยกันว่าเอาไหม ถ้าจะลุกขึ้นมาใช้กระแสตรงนี้ให้เกิดการแก้ไข เขาจะเอาด้วยไหม มันเลยกลายเป็นโพสท์ที่มาของการตั้งเครือข่าย”

หลังจากซาวด์เช็คความคิดเห็นจากโลกโซเชียลแล้ว ซึ่งแน่นอนว่ากระแสตอบรับเป็นไปอย่างที่คาดหมาย ทว่าเธอผู้เดียวอาจไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการรวมตัวและเข้าร่วมของกลุ่มสมาชิกที่ต้องการเห็นพื้นที่ในเมืองเป็นสีเขียว
การตัดแต่งต้นไม้ในต่างประเทศ
การตัดแต่งต้นไม้ในต่างประเทศ
การตัดแต่งต้นไม้ในต่างประเทศ
 
“ได้มีการปรึกษากับกลุ่ม Big Trees มิสชันของเราคือจับมือกับทุกคนให้เป็นผนึกใหญ่ๆ และเอาพลังของทุกคนไปกดดันให้เปลี่ยนระบบ เขาเลยไปชวนบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ที่อยู่ในแวดวงต้นไม้ในเมืองทั้งประเทศไทยมาอยู่ในเครือข่ายของเรา

ตอนนี้เรามีทั้งสมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทย กลุ่มโรงเรียนต้นไม้ที่รวมกูรูขั้นเทพที่สอนรุกขกรของประเทศไทยในนั้นทั้งหมด มีคณะสถาปัตย์ฯ ม.แม่โจ้ มีมหา'ลัยธรรมศาสตร์ ส่วนฝั่งเอ็นจีโอก็มีกลุ่มอนุรักษ์ดังๆ และมูลนิธิในนี้เยอะมาก ยังมีภาคประชาชนอย่างกลุ่มจัตุจักรโมเดล หรือกลุ่มบางขุนนนท์ กลุ่มจักรยานต่างๆ”

“กลายเป็นว่าทุกคนเข้าใจตรงกันว่า ต้นไม้ในเมืองเป็นเรื่องของคนทุกคนจริงๆ ไม่ใช่เรื่องของนักอนุรักษ์” นี่คือสิ่งที่เธอพยายามทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าต้นไม้คือสินทรัพย์อย่างหนึ่งที่ประชาชนทุกคนคือเจ้าของ อย่างน้อยที่สุดทุกคนจะเห็นว่าเธอเองไม่ใช่นักอนุรักษ์แต่ก็ลุกขึ้นมาต่อสู้กับเรื่องนี้ได้เช่นกัน

“อย่างน้อยที่สุดเขาต้องเห็นว่าช่อผกาซึ่งไม่ใช่นักอนุรักษ์ลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ เราเห็นได้ว่าประโยชน์ของต้นไม้ในเมืองมีมากกว่าที่คิดนะ หนึ่งมิติทางสิ่งแวดล้อม เรารู้แค่ว่าต้นไม้ดูดคาร์บอนฯ ให้ออกซิเจน แต่ลึกกว่านั้นคือลดอุณหภูมิของเมือง ต้นไม้สามารถทำให้อุณหภูมิที่ระอุเพราะการดูดซับความร้อนของซีเมนต์ ซึ่งทำให้การคลายความร้อนออกจากเมืองมันช้า

สองคือต้นไม้ไม่ใช่สิ่งกีดขวาง ชาวโลกมองว่าต้นไม้คือสินทรัพย์ ถ้าเราตีค่าเป็นสินทรัพย์มันจะงอกเงยนะ แต่สินทรัพย์ที่จะงอกเงยต้องมีระบบการดูแลที่ดี”
การตัดต้นไม้ในประเทศไทย
กลุ่มคนรักต้นไม้
“รุกขกร” แพทย์ส่วนตัวของต้นไม้ใหญ่

“ในประเทศไทยไม่มีคนๆ นี้เลยในระบบราชการที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เท่ากับว่าเราดูแลต้นไม้ในเมืองโดยปราศจากองค์ความรู้ ทั้งๆ ที่ทุกประเทศเขาดูแลต้นไม้ได้ดีเพราะเขาใช้ศาสตร์นี้” คนๆ นี้คืออาชีพ “รุกขกร” หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือ “หมอต้นไม้” น้อยคนนักที่จะรู้จักอาชีพนี้ว่าจริงๆ แล้วมีความสำคัญเพียงใด เธอจึงขยายความถึงอาชีพที่ว่าให้เราเข้าใจมากขึ้น

“ได้คุยกับอาจารย์หลายคน รวมทั้งครูที่สอนตัดต้นไม้ เพิ่งรู้ว่าประเทศไทยมีอาชีพมนุษย์ตัดต้นไม้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ คือหมอต้นไม้นั่นเอง อาชีพนั้นชื่อว่า “รุกขกร” เป็นคนที่ศึกษาศาสตร์ที่เรียกว่า “รุกขกรรม” คือศาสตร์ในการดูแลต้นไม้ การตัดแต่ง รักษา โรคของต้นไม้ การเลือกพันธุ์ต้นไม้ที่เหมาะสม ธรรมชาติการเจริญเติบโต

พูดง่ายๆ คือต้นไม้ในเมืองคือต้นไม้ที่มนุษย์เอามาปลูก ปล่อยตามมีตามเกิดไม่ได้ เพราะสิ่งที่อยู่ข้างเคียงต้นไม้ในเมืองคือตึกและซีเมนต์ไม่ใช่ระบบนิเวศแบบในป่า จึงต้องมีการจัดการโดยมนุษย์ หมอต้นไม้จึงเป็นความจำเป็นในการดูแลต้นไม้ในเมือง เพื่อให้ต้นไม้ในเมืองอยู่คู่กับเมืองและมนุษย์ ด้วยวิถีชีวิตชีวิตในเมืองแบบไม่สร้างปัญหาให้กันและกัน”


 
เธออธิบายจนเราเข้าใจแจ่มแจ้งถึงอาชีพที่ว่า ทำให้ทราบว่าหมอต้นไม้มีความจำเป็นกับชีวิตต้นไม้ถึงเพียงใด แน่นอนว่าทุกชีวิตที่เกิดมาย่อมต้องการการถูกดูแลและเยียวยารักษา มันจึงสะท้อนให้เห็นว่าการดูแลที่ดีควรเริ่มตั้งแต่ต้นอย่างถูกที่ถูกทาง ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

“ถึงเวลาแล้วที่จะบอกสิ่งนี้ให้สังคมรู้ว่ามันแก้ได้สิ ประเทศไหนในโลกนี้เขาก็อยู่กับต้นไม้ได้ ทำไมประเทศไทยต้องตัดต้นไม้ให้เหี้ยนด้วย ยังไงก็ตามมันมีวิธีคิด ถ้าเราจะรักษาต้นไม้ไว้จริงๆ แต่ต้องหมายความว่าต้นนั้นก็ต้องน่าลงทุนที่จะรักษา

เราเลือกพันธุ์ที่ใช่ เตรียมดินที่เหมาะสมตั้งแต่ตอนปลูก ปลูกเขาตั้งแต่เล็กๆ ไม่ให้รากขาด เขาก็จะยืนตั้งตระหง่านสู้กับลมพายุได้ แต่ถ้าคุณไม่ทำเหตุอย่างถูกต้องในอดีต แล้วมาเกิดผลเสียหายในปัจจุบัน แล้วคุณจะสรุปว่าผลทั้งหมดนั้นเกิดจากต้นไม้เป็นวิธีคิดที่ไร้สติปัญญาสิ้นเชิงค่ะ”

 
เรื่องโดย : พิมพรรณ มีชัยศรี
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้วยการเป็นสายตรวจต้นไม้ได้ที่ "เครือข่ายต้นไม้ในเมือง"

 
กำลังโหลดความคิดเห็น